xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องจากพระไตรปิฎก : ตำนานนโม (๔๗) ปัจฉิมบท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การพรรณนา “นโม” แต่ต้นมา ได้จำแนกอรรถธรรมที่แฝงใน “นโม” ตามนัยแห่งพระเถราจารย์ พอควรแก่การศึกษา และสามารถน้อมนำไปเป็นแนวปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน ให้บรรลุผลตามพระพุทโธวาทได้ ในปัจฉิมบทนี้ ขอนำพระธรรมเทศนา “นโมกถา” ที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) ได้แสดงไว้ มาเป็นบทสรุป ตำนาน “นโม” ดังนี้
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีอรรถาธิบาย ถึงบท “นโม” ว่า ประกอบด้วยบทพระพุทธคุณสำคัญอยู่ถึง ๓ บท
บทที่ ๑ ก็คือ “ภควโต” แด่พระผู้มีพระภาค แปลมาจากคำว่า “ภควา” เป็นคำเรียกพระพุทธเจ้า ในอรรถคือความหมายยกย่องว่าเป็นผู้จำแนกแจกธรรมบ้าง ว่าเป็นผู้มีโชคบ้าง ว่าเป็นผู้หักกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นบ้าง แต่ว่าในภาษาไทยเรานั้น คำนี้นิยมแปลในความหมายว่า พระผู้จำแนกแจกธรรม หรือพระผู้จำแนกแจกธรรมสั่งสอนประชุมชน
คำว่า “อรหโต” มาจากคำว่า “อรหํ” หรือ “อรหันต์” ที่มีความหมายว่าเป็นผู้ไกลกิเลส เป็นผู้กำจัดข้าศึกคือกิเลส เป็นผู้หักซี่แห่งสังสารจักร เป็นผู้ควรไหว้ควรบูชา เป็นผู้ไม่มีที่ลี้ลับในอันที่จะกระทำความชั่วต่างๆ แต่ว่าในทางไทยเรานั้น นิยมคำแปลว่าเป็นผู้ไกลกิเลส
คำว่า “สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส” มาจากคำว่า “สัมมาสัมพุทโธ” หรือ “สัมมาสัมพุทธะ” แปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ “สัมมา” แปลว่าโดยชอบ “สมฺ” แปลว่าเอง “พุทฺธ” แปลว่าตรัสรู้ ซึ่งมีอธิบายโดยย่อว่า ตรัสรู้นั้นก็คือตรัสรู้ อริยสัจทั้ง ๔ อันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คำว่า “เอง” นั้นก็คือ พระญาณที่ตรัสรู้ในอริยสัจ ๔ เหล่านี้ผุดขึ้นเอง คือผุดขึ้นในสัจธรรมเหล่านี้ ที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อน คำว่า “โดยชอบ” นั้นก็คือโดยสัมมัตตะ คือความเป็นชอบ นับตั้งแต่ โดยมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง ที่พระองค์ได้ทรงค้นพบตั้งแต่เป็นพระโพธิสัตว์ก่อนที่จะได้ตรัสรู้ และก็ได้ทรงปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้มาโดยสมบูรณ์ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น ความตรัสรู้เองนี้จึงมาจากสัมมัตตะ คือความเป็นชอบ อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ นี้ที่ทรงปฏิบัติมา และก็เป็นความตรัสรู้ที่ถูกต้อง ไม่ผิด จึงเรียกว่า “สัมมา” คือชอบ และก็มีความหมายว่า เมื่อได้ตรัสรู้แล้วก็ได้ทรงแสดงธรรมที่ได้ตรัสรู้นี้สั่งสอนตั้งเป็นพุทธศาสนา ตั้งพุทธบริษัททั้ง ๔ ขึ้นอีกด้วย เพราะฉะนั้นจึงได้พระนาม ว่า “สัมมาสัมพุทธะ”
และในข้อนี้ก็ได้มีอธิบายประกอบอีกว่า ท่านผู้ตรัสรู้เองนั้น ถ้าตรัสรู้เองได้แล้วไม่ได้สั่งสอนใคร อันหมายความว่าไม่ได้ตั้งพุทธศาสนา ไม่ได้ตั้งพุทธบริษัทขึ้น ก็เรียกว่า พระปัจเจกพุทธะ แปลว่า พระพุทธะผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์ ต่อเมื่อได้สั่งสอนผู้อื่น ตั้งพุทธศาสนาตั้งพุทธบริษัทขึ้น จึงเรียกว่าพระสัมมาสัมพุทธะ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ฉะนั้น คำว่า “สัมมาสัมพุทโธ” นี้จึงมีความหมายว่าพระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบดังกล่าวนี้ด้วย และก็มีความหมายว่าเป็นพระผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ แล้วได้ตั้งพุทธศาสนาและพุทธบริษัทขึ้นด้วย จึงมิใช่เป็นพระปัจเจกพุทธะดังกล่าว และบรรดาหมู่ชนผู้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วได้ตรัสรู้ตาม ได้แก่ หมู่แห่งพระสาวก ซึ่งได้ตรัสรู้ตามเป็นพระอรหันต์ทั้งหลายก็เรียกว่า พระอนุพุทธะ แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ตาม จึงได้มีพระพุทธะเป็น ๓ จำพวก คือ ๑.พระสัมมาสัมพุทธะ ๒.พระปัจเจกพุทธะ ๓.พระอนุพุทธะ ดังนี้
บทสวด “นโม” ย่อมบรรจุพระพุทธคุณสำคัญทั้ง ๓ บทไว้ดั่งนี้ และพระพุทธคุณทั้ง ๓ บท ก็ย่อมบรรจุอยู่ด้วย “พระปัญญาคุณ” คุณคือความรู้จริง “พระวิสุทธิคุณ” คุณคือความบริสุทธิ์จริง “พระกรุณาคุณ” คุณคือพระกรุณาจริง อันเป็นบทสรุปของพระพุทธคุณทั้งปวง...
บทสวดนโมนั้นจึงเป็นบทที่ประกอบด้วยพระกรุณาคุณสำคัญ ๓ บท สมบูรณ์ด้วยพระคุณทั้ง ๓ นำหน้าด้วยพระกรุณาคุณ และต่อไปด้วยพระวิสุทธิคุณ หนุนท้ายด้วยพระปัญญาคุณ.

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร) วัดราชผาติการาม ได้แสดงธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องประโยชน์ของนโม ดังนี้
ประโยชน์ของนโม ควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้นเป็น ๓ ประการคือ ให้ได้รับประโยชน์จากการตั้งนโม เป็น ๓ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ให้นึกจนเกิดกตัญญูกตเวทีในพระพุทธเจ้า กตัญญู รู้พระคุณ กตเวที ทำตอบแทน ทำตอบ แทนพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ต้องการอย่างเดียว คือให้ปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ไม่ต้องการอะไรหมด ดอกไม้ธูปเทียนที่เรานำมาจุด นำมาตาม นำมาเผากันนี้ พระพุทธเจ้าไม่โปรดเลย ท่านว่าไม่สามารถที่จะทานพระพุทธศาสนาไว้ได้ แม้ชั่วระยะไก่ปรบปีก แต่ตรัสว่า ผู้ใดมาปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ประพฤติตามธรรม ผู้นั้นแหละชื่อว่าบูชาเราผู้ตถาคต ด้วยการบูชาอย่างยิ่ง ดังนี้ ผู้ปฏิบัติตามพระพุทธศาสนาอย่างจริงใจ จึงได้ชื่อว่า กตัญญูกตเวที
ประการที่ ๒ ให้รู้สึกว่าได้คบค้าสมาคมกับพระพุทธเจ้าด้วยใจ ให้รู้สึกว่าพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตรของเราที่ใจ ให้มีพระพุทโธปรากฏที่ใจ ครั้งหนึ่งพระอานนท์ทูลว่า “กัลยาณมิตรนี้เป็นส่วนหนึ่ง คือ ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้ารับสั่งว่า “เธออย่าว่าอย่างนั้น กัลยาณมิตรนี้เป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” พุทธศาสนิกชนมาสมาคมคบหากับเรา ผู้มีเกิด แก่ ตาย เป็นธรรมดา ก็พ้นจากเกิด แก่ ตายได้ ผู้มีโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมสร่างจากโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เพราะฉะนั้นขอให้นึกให้รู้สึกว่า ได้คบพระพุทธเจ้าด้วยใจ ให้ใจเย็น ให้พระพุทโธปรากฏที่ใจ
ประการที่ ๓ ให้รู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติธรรมะ คือให้เป็นหลักปฏิบัติ ให้คบพระพุทธเจ้าจนรู้สึกว่าได้หลักปฏิบัติ ถือเป็นเยี่ยงอย่างในการปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติเล่นๆ ไม่ใช่ทำลองๆ รับศีล ๕ ก็ให้เป็นการปฏิบัติ รับศีล ๘ ก็ให้เป็นการปฏิบัติ ถือศีล ๑๐ ก็ให้เป็นการปฏิบัติ ถืออุโบสถ ก็ให้เป็นการปฏิบัติ ให้เป็นธรรมานุธรรมปฏิบัติ เป็นเครื่องมือสำหรับตน นี่เป็นประการที่ ๓

ท่านสาธุชนจึงควรทำความเข้าใจในเรื่องนโม ในเวลาที่ตั้งนโม จะได้น้อมใจให้ถูก จะได้ทำให้ถูก เมื่อทำถูกแล้ว พระพุทธะก็จะมาปรากฏที่ใจ ทำใจให้เยือกเย็น เราไม่ต้องเปล่งวาจา ขอความศักดิ์สิทธิ์ว่า “พุทฺธํ” แคล้วคลาด “ธมฺมํ” ปลอดภัย “สงฺฆํ” ปัดไป อะไรเหล่านี้เป็นต้น ไม่ต้องว่า แต่ท่านปกครองเราเอง ให้เย็นกายเย็นใจ ด้วยประการฉะนี้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 โดยพระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)
กำลังโหลดความคิดเห็น