xs
xsm
sm
md
lg

อบรมกรรมฐาน : อายตนะหก (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมมติญาณ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสั่งสอนบัญญัติศีลบัญญัติวินัยทั้งหมดเกี่ยวแก่สมมติสัจจะทั้งสิ้น ตั้งแต่ศีลห้า ก็เป็นอันรับรองว่ามีสัตว์มีบุคคลมีชีวิต จึงบัญญัติมิให้ฆ่าทำลายชีวิต บัญญัติศีลข้อที่สอง มิให้ลักทรัพย์ ก็เป็นอันรับรองว่ามีของเรามีของเขา เป็นการรับรองกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สินต่างๆ บัญญัติศีลข้อที่สาม ก็เป็นอันรับรองเชื้อสายวงศ์ตระกูล จึงบัญญัติมิให้ล่วงละเมิดกัน บัญญัติศีลข้อที่สี่ มิให้ พูดเท็จ ก็เป็นอันรับรองเรื่องทั้งหลายว่าอย่างนั้นถือว่าเป็นจริง เมื่อพูดอย่างนั้นก็ถือว่าพูดจริง เมื่อพูดไม่ตรงอย่างนั้นก็ถือว่าพูดเท็จ บัญญัติศีลข้อที่ห้า ก็เป็นอันรับรองว่ามีสัตว์มีบุคคลมีน้ำเมา ดื่มเข้าไปก็มึนเมาเสียสติ ก็บัญญัติห้ามการดื่มน้ำเมา แม้ศีลของภิกษุทุกข้อก็เหมือนกัน เกี่ยวแก่สมมติ สัจจะทั้งนั้น เป็นอันรับรองสมมติสัจจะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ภาษาที่ใช้ก็เป็นสมมติสัจจะหรือเป็นบัญญัติทั้งนั้น ก็ทรงใช้ถ้อยคำที่เขาสมมติเขาบัญญัติพูดไว้แล้วมา ทรงใช้ มิใช่ทรงแต่งตั้งภาษาขึ้นใหม่ เอาภาษาที่เขาพูดไว้แล้วนั่นแหละมาทรงใช้ จึงฟังกันรู้เรื่อง ถ้าตั้งขึ้นใหม่แล้วใครก็ฟังไม่รู้เรื่อง เหล่านี้เป็นสมมติสัจจะทั้งนั้น
เพราะฉะนั้นทางร่างกาย ทางความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันก็ต้องปฏิบัติให้ชอบต่อสมมติสัจจะ จึงกล่าวได้ว่าศีลและวินัยทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับสมมติสัจจะ แม้ธรรมที่ทรงแสดงเป็นอันมากเพื่อที่จะให้อยู่ด้วยกันเป็นสุขร่วมกัน ก็ให้เหมาะแก่สมมติสัจจะ เช่นหน้าที่ซึ่งมารดาบิดาพึงประพฤติต่อบุตรธิดา หน้าที่ที่บุตรธิดาพึงประพฤติต่อมารดาบิดาเป็นต้นในทิศหก ก็เป็นอันรับรองสมมติสัจจะว่านั่นต้องนับถือเป็นพ่อเป็นแม่ นั่นก็ต้องนับถือเป็นลูก นั่นก็ต้องนับถือว่าเป็นครูบาอาจารย์ นั่นก็ต้องนับถือว่าเป็นศิษย์ นั่นก็ต้องนับถือว่าเป็นสามี นั่นก็ต้องนับถือว่าเป็นภริยา ดังนี้เป็นต้น เพื่อให้สังคมมนุษย์อยู่ด้วยกันมีความสงบสุข เหล่านี้ก็เป็นสมมติสัจจะทั้งนั้น
การพูดก็พูดตามสมมติสัจจะหรือตามบัญญัติดังที่กล่าวแล้ว แต่ว่าก็ให้รู้จักให้เป็นสมมติญาณ ความหยั่งรู้ว่านั่นเป็นสมมติ และปฏิบัติให้ชอบต่อสมมติ แต่ทางจิตใจนั้นต้องปฏิบัติผ่อนคลายความยึดถือให้เข้าถึงปรมัตถสัจจะ ดังเช่นทุกคนมีสมมติสัจจะอยู่ด้วยกันหลายอย่าง เช่นเป็นหญิงเป็นชายชื่อนั่นชื่อนี่ มียศมีตำแหน่งอย่างนั้นอย่างนี้ และยังมีสมมติอื่นๆ อีกหลายอย่างหลายประการ เหล่านี้เป็นสมมติสัจจะ ก็ต้องให้มีสมมติญาณ คือความหยั่งรู้ในสมมตินี้ว่านี่เป็นสมมติ และเมื่อใครได้รับสมมติเป็นอย่างไร ก็ปฏิบัติให้เหมาะ เช่นเป็นหญิงหรือเป็นชายก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะของหญิงหรือชาย เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ฐานะเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ได้รับสมมติอย่างไรก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะนั้น เป็นบรรพชิตก็ปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะเป็นบรรพชิต เป็นภิกษุ สามเณร คฤหัสถ์ อุบาสก อุบาสิกา ก็ปฏิบัติให้เหมาะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ศึกษาให้รู้จักปรมัตถสัจจะด้วยว่า อันที่แท้จริงนั้นเป็นเพียงสมมติแต่ละอย่าง

รู้ปรมัตถสัจจะ
ปรมัตถ์คือสัจจะที่แท้จริงนั้น ก็คือขันธ์ทั้งหลายประกอบ กันอยู่ คือกองรูป กองเวทนา กองสัญญา กองสังขาร กองวิญญาณ รวมกองกันอยู่นี่ เพราะฉะนั้น อันที่จริงแล้วก็มีแต่ขันธ์ห้าร่วมกันอยู่ แยกออกไปอีกก็มีอายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกันอยู่ ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะ สิ่งที่กายถูกต้องมโนคือใจ ธรรมคือเรื่องราวประจวบกันอยู่ ก็มีอายตนะประจวบกันอยู่ดังนี้ และก็อาจจะแยกเป็นธาตุ เป็นอินทรีย์เป็นต้นต่อไปได้อีก เพราะฉะนั้นจึงสักแต่ว่าเป็นขันธ์ สักแต่ว่าเป็นอายตนะ สักแต่ว่าเป็นธาตุเป็นต้น ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเราอันแท้จริง
หัดศึกษาให้รู้จักปรมัตถสัจจะดังนี้ทางจิตใจ และในการหัดศึกษานี้ก็หัดศึกษาได้เสมอ จับเอาอายตนะที่ประจวบกันนี่แหละในปัจจุบันธรรม เพราะอายตนะของทุกๆคนประจวบกันอยู่ทุกขณะ แม้แต่เวลาหลับ ตื่นขึ้นมา จนถึงหลับไปใหม่ อายตนะเหล่านี้ก็ประจวบกัน ตากับรูปก็ประจวบกันก็เป็นการเห็น หูกับเสียงประจวบกันก็เป็นการได้ยิน จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายกับสิ่งที่กายถูกต้องประจวบกันก็เป็นการทราบ มโนคือใจ และธรรมคือเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นผุดขึ้นประจวบกันก็เป็นการรู้ ก็เป็นการเห็น การฟัง การทราบ การรู้รูปบ้าง เสียงบ้าง กลิ่นบ้าง รสบ้าง โผฏฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้องทางกายบ้าง เรื่องราวทางใจบ้าง เหล่านี้ แต่ว่าโดยปกตินั้นได้มีความผูกพันคือยึดถือเกินไปกว่าสิ่งที่ประจวบกันที่เป็นไปอยู่นี้ คือมิใช่สักแต่ว่าการเห็น มิใช่สักแต่ว่ารูปที่เห็น มิใช่สักแต่ว่าการได้ยิน มิใช่สักแต่ว่าเสียงที่หูได้ยิน มิใช่สักแต่ว่ากลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ได้ทราบ มิใช่สักแต่ว่าเรื่องที่ได้รู้ทางมโนคือใจ แต่กลายเป็นตัวเราตัวเขา เป็นของเราเป็นของเขา ซึ่งเป็นสมมติทั้งนั้น จึงได้เกิดความยินดียินร้ายอยู่ในสมมตินั้น เพราะสมมติจะโผล่ขึ้นมาทันที เมื่อเห็นรูปอะไรทางตา ก็มิใช่สักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าการเห็นรูป แต่ว่าเป็นสมมติ เป็นผู้หญิงเป็นผู้ชาย เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ เป็นคนที่เราชอบ เป็นคนที่เราชังขึ้นมาทันที เมื่อได้ยินก็มิใช่สักแต่ว่าได้ยิน มิใช่สักแต่ว่าเสียงที่ได้ยิน ก็เป็นนินทา เป็นสรรเสริญ เป็นเรื่องนั้น เป็นเรื่องนี้ เป็นคนนั้นเป็นคนนี้ขึ้นทันที สมมติโผล่ขึ้นมาเต็มหมด บัญญัติโผล่ ขึ้นมาเต็มหมด ดังนี้ จึงได้เกิดความยินดียินร้ายต่างๆ เกิดความทุกข์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก็ควรหัดกลับไปสู่สัจจะที่เป็นปรมัตถ์ คือให้เป็นสักแต่ว่าการเห็น สักแต่ว่าการได้ยิน สักแต่ว่าเป็นรูปที่เห็น สักแต่ว่าเป็นเสียงที่ได้ยิน เป็นต้น เสียบ้าง โดยไม่ยึดถือสมมติ ลบสมมติออกเสียบ้าง เมื่อลบสมมติออกมาได้มากแล้ว สังโยชน์คือความผูกก็จะลดลงได้มาก แต่ถ้าหากว่าเพิ่มเติมสมมติอยู่เสมอ สังโยชน์จะผูกมาก
คราวนี้พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทำใจให้เหมือนอย่างไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ดังที่ตรัสสอนถามถึงว่า ก็สิ่งที่ไม่ได้เห็น สิ่งที่ไม่ได้ยิน สิ่งที่ไม่เคยเห็น สิ่งที่ไม่เคยได้ยิน สิ่งที่ไม่ได้คิด นึกว่าจะเห็นจะได้ยิน จะเกิดความพอใจรักใคร่หรือไม่ ก็กราบทูลว่าไม่เกิดในสิ่งเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ก็ตรัสสอนให้ทำใจเหมือนอย่างสิ่งเหล่านั้นบ้าง แม้ในสิ่งที่ได้เห็นสิ่งที่ได้ยินทั้งปวง เป็นต้น

พิจารณาสักแต่ว่าเป็นธาตุ
อีกอย่างหนึ่ง อาจพิจารณาเปรียบเทียบเหมือนอย่างตัวเองที่ให้มาแล้วว่า เมื่อไฟไหม้ น้ำท่วม แม้ไฟจะไหม้ทรัพย์สมบัติของตน น้ำจะท่วมทรัพย์สมบัติของตน แต่ก็ไม่โกรธไฟไม่โกรธน้ำ เพราะอะไร ก็อาจจะตอบได้ว่า เพราะมิได้ถือ ว่าน้ำไฟนั้นเป็นนั่นเป็นนี่ เป็นเราเป็นของเรา จึงไม่เกิดความชอบความชังในน้ำในไฟ ก็หัดให้เห็นสิ่งทั้งหลายจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ เป็นเรื่องเป็นราว ทั้งหลายก็ตาม ก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ เหมือนอย่างธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อย่างนั้นบ้าง ไม่มีสมมติบัญญัติอย่างอื่น เข้ามาเกี่ยวข้อง หากทำได้ก็จะทำให้จิตใจคลายจากความผูกคือสังโยชน์นี้ และจะคลายจากทุกข์ร้อนลงได้มาก

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 108 พฤศจิกายน 2552 พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก)
กำลังโหลดความคิดเห็น