xs
xsm
sm
md
lg

บทความจาก นสพ. ผู้จัดการ

x

สื่อใจสมานสร้างสรรค์:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

                     เพราะเหตุที่ผลของกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว
                    มีเงื่อนไข มีเหตุปัจจัย สามารถจะเบี่ยงเบนได้
           การประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติคุณงามความดีจึงมีประโยชน์
                    โอกาสที่จะทำความดีเพื่อความสิ้นทุกข์จึงมีได้


                     เรื่องที่ 99
วิธีการสร้างความดี และความมีเงื่อนไขของกรรม

ในยุคสารพัดม็อบ สังคมดาษดื่นด้วยการกุข่าว ความจริงแทบจะทั้งหมดถูกปิดบัง หนำซ้ำโอกาสที่เงื่อนงำซึ่งอำพรางความจริงอยู่จะถูกเปิดเผย แฉให้เห็นว่าแท้จริงแล้วอะไรเป็นอะไรก็ทำได้ยาก เพราะมีขั้นตอนในการเจาะรหัสถอดสมการซับซ้อนหลายชั้น ต้องฝ่าด่านอิทธิพลมืดหลายด่าน แต่ละด่านก็มีตัวล็อกคอยกลบเกลื่อน ถ้าไม่มีใจมุ่งมั่นจริง หรือขาดบารมีธรรมสนับสนุน ก็ยากจะนำความจริงมาเปิดเผยได้ ผู้คนบนเส้นสมมติรุ้งแวง ไม่ว่าจะอยู่ ณ สารทิศใดจึงมีใจอยู่ด้วยความหวาดระแวง เคลือบแคลง เต็มไปด้วยความสงสัยในส่วนลึก

แม้แต่เรื่องกลไกกรรมและธรรมะ ก็มีผู้สวมใส่ชุดฟอร์มอันเป็นสัญลักษณ์ของผู้สมควรมุ่งปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น กลับหันมาสวมใส่เครื่องประดับเกียรติด้วยการเพิ่มหมวกหลายใบ สวมหัวโขนเอาไว้หลายชั้น ใส่ความเข้าใจอันคลุมเครือผ่านสื่อไปถึง ลูกหลานและเยาวชน แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาหลายหนาว ก็ยังพลอยหลงประเด็นไปด้วย เพราะกระแสม็อบกับความสามารถในการสร้างภาพอันน่าเชื่อถือของคนชั้นนำระดับมือโปร

แต่ก็ยังมีหนังสือดีอยู่เล่มหนึ่ง ที่น่าจะพอช่วยคลายปมพิศวง นำผู้คนออกจากความหลงได้บ้าง เป็นงานเขียนของปูชนียบุคคลผู้เป็นเพชรแห่งการเผยแผ่ธรรมมากว่าครึ่งศตวรรษ และเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของผู้นำแถวหน้าในวงการธุรกิจธรรมะมากมายมาโดยตลอด หนังสือ วิธีสร้างความดีและความมีเงื่อนไขของกรรม โดย ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ เล่มนี้ พูดถึงหลักและกฎเกณฑ์ที่เป็นเหตุผลของเรื่องกรรมในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ผู้อ่านไม่ต้องถูกตัวแปรดึงไปสู่ความเข้าใจอย่างผิดๆ แบบตลอดกาล

ด้วยภาษาที่สื่อง่าย อธิบายชัดเจนอย่างรัดกุม พร้อมประเด็นตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้ น่าจะเพียงพอที่จะทำให้เกิดความเข้าใจหลักกรรมได้อย่างแยบคาย จนเกิดศรัทธาหนักแน่นในการสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง เป็นสัมมาทิฏฐิ

นอกจากนี้ ผู้เคยมีปัญหาคาใจเรื่องทำดีแล้วไม่ได้ดี ก็จะได้คำตอบว่ามีสาเหตุมาจากอะไร โดยมีคำอธิบายถึงความมีเงื่อนไขของกรรมด้วยแนวทางของหลักธรรมในพุทธศาสนาที่ยืนยันด้วยข้อความจากพระไตรปิฎก เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อนไปจากหลักที่พระพุทธองค์ตรัสสอน

ท่านอาจารย์วศิน อินทสระ ได้เคยกล่าวไว้ว่า ความดีเท่านั้นเป็นสาระอันแท้จริงในชีวิตมนุษย์ เว้นความดีเสียแล้ว มนุษย์เป็นสัตวโลกที่น่ากลัวที่สุด สังคมที่ไม่มีความดีเป็นแกนกลางสำหรับให้ทุกคนยึดนั้นเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยอันตรายอย่างยิ่ง ควรหลีกให้ห่างไกล เพราะสังคมเช่นนั้นย่อมแข่งขันกันไปสู่ความหายนะ เป็นสังคมที่ไม่มีธรรมเป็นทางดำเนิน

ผู้สนใจสามารถรับฟังเสียงอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ ทางสถานีวิทยุชุมชนคนนำปัญญา FM 97.75 MHz เวลา 05.00-06.00 น. ทุกวันพุธ หรือฟังย้อนหลังได้จาก www.managerradio.com

เนื้อหาประกอบด้วย ความนำเรื่องกรรมและการสร้างความดี โดยเสนอให้เข้าใจในหลักสำคัญของกรรมก่อน ตามด้วยผลของกรรมซึ่งมีอยู่ 2 ชั้น ให้ความกระจ่างว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ตอบคำถามแก้ปัญหาเรื่องการทำดีไม่ได้ดี ซึ่งมีตัวอย่างเช่น ทำความดีเพียงเล็กน้อย แต่ต้องการผลมาก ไม่รู้จัก คอยผลแห่งความดีที่ตนได้ทำ ทำความดีไม่พอดี มีความฝังใจหรืออุปาทานอยู่ในใจว่าทำคุณกับใครไม่ขึ้น และขาดกุศโลบายในการทำความดี

ประกอบทั้งเนื้อหาวิธีสร้างความดี โดยเริ่มบอกกล่าวให้เข้าใจกันก่อนว่า ความดีที่แท้จริงคืออะไร สอนให้ตรวจสอบความจริงในใจตนเอง เช่น การทำความดีนั้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น หรือตนเอง ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่บริสุทธิ์ใจ ทำดีแล้วต้องการให้มีผู้รู้เห็นมากหรือปรารถนาให้มีผู้รู้เห็นน้อย ความดีนั้นทำถูกหรือทำผิด การทำความดีนั้นยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ความดีที่ทำนั้นทำอย่างครึ่งๆ กลางๆ หรือทำอย่างสมบูรณ์ ความดีนั้นเป็นความดีที่ใหญ่หรือเล็ก ความดีนั้นทำยากหรือทำง่าย พร้อมให้หลักวิธีทำความดี 10 วิธี ไว้ด้วย คือ ช่วยเหลือผู้อื่นทำความดี รักและเคารพทุกคนอย่างเสมอหน้า สนับสนุนผู้อื่นให้เป็นผู้มีความดีพร้อม ชี้ทางให้ผู้อื่นทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่นในยามคับขัน กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ทำตนเป็นปู่โสมเฝ้าทรัพย์ และหมั่นบริจาค และย้ำว่าในการทำความดี ท่านสอนให้ธำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ไม่ลืมเคารพผู้มีอาวุโสกว่า และฝึกใจให้รักชีวิตของผู้อื่นดุจชีวิตของตน ข้อสำคัญต้องทำความดีให้เสมอต้น เสมอปลาย

เนื้อหาส่วนสำคัญ เป็นเรื่องความมีเงื่อนไขของกรรม โดยอธิบายให้เข้าใจกฎแห่งกรรมไม่ตายตัว ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง ระหว่างบุญกับกุศล และจงทำความรู้ชัดในผลของกรรมว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้

เมื่อผู้เขียนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผ่านไปแล้วหนึ่งรอบ ได้ คำตอบที่ปลอบใจให้ระงับจากความทุกข์ที่รู้สึกว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรมลงไปได้บ้าง ยอมรับและเข้าใจความเป็นจริงได้มากขึ้น จึงขอแบ่งปันคติธรรม ดังเช่น

*ในการทำความดี ผลชั้นในคือทำดีก็ดีเสร็จไปในตัว ส่วนผลชั้นนอกก็ต้องคอยเวลาหน่อย

*เรื่องบางอย่างเราตัดสินไม่ได้ว่าถูกหรือผิด ดีหรือชั่ว มันปนๆ กันอยู่ จึงต้องเอาความควร (oughtness) เข้ามา จงถือเอาประโยชน์เป็นจุดยืนที่สำคัญ คือเมื่อพิจารณาถึงประโยชน์แล้ว แม้ว่าตนเองจะเดือดร้อนบ้าง ผู้อื่นจะเดือดร้อนบ้าง ก็ถือว่าเป็นความดี ถ้ามันมีประโยชน์

*ตามธรรมดาคนที่มีความต้องการมาก สิ่งใดที่ได้มาแม้มาก ก็รู้สึกว่าน้อย ส่วนคนที่มีความต้องการน้อย แม้ได้ของน้อยก็รู้สึกว่าได้มาก เพราะฉะนั้นความมากความน้อยจึงขึ้นอยู่กับความต้องการและความจำเป็นของคน ซึ่งมีอยู่ไม่เท่ากัน

*การให้ผลของกรรมมีลักษณะซับซ้อนมาก และกรรมจะให้ผลเมื่อสุกงอมเต็มที่แล้วเท่านั้น ผู้ทำความดีจึงควรจะหัดเป็นคนใจเย็น รู้จักรอคอย

*ถ้าท้องฟ้าใส ไม่มีเมฆอุ้มฝน ฝนก็ตกกะปริบกะปรอย เราต้องทำความดีด้วยใจเย็น รู้จักรอคอย ไม่ผลีผลาม ไม่ด่วนได้ ได้เมื่อไหร่ก็ช่างมัน เรามีหน้าที่ต้องทำความดี ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ไม่ต้องสนใจว่าใครจะทำหรือไม่ทำ เราก็ทำของเราไป เมื่อคนอื่นเขาเลิกทำความดีกันแล้ว เราก็ไม่เลิก ถือว่าเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ดีที่จะต้องทำความดี

*ไม่ว่าจะทำดีหรือทำอะไรทั้งสิ้น จะต้องพอดีจึงจะดีแท้ ความพอดีนี่ดีเสมอ

*การทำความดีกับคน อย่าไปลดความสำคัญและความภูมิใจของเขา มิเช่นนั้นแทนที่เขาจะสำนึกบุญคุณ เขาจะรู้สึกเคียดแค้นชิงชัง ฉะนั้น การทำความดีกับคน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อคุณนั้นจะได้ไม่กลายเป็นโทษ

*กุศโลบายในการทำความดีคือ ทำดีให้ถูกกาล ให้ถูกบุคคล และทำให้เหมาะกับเหตุการณ์ เป็นการผูกมิตรไปด้วย

*การช่วยคนที่ควรช่วยนั้นเป็นกุศลมาก เพราะเป็นการบำบัดทุกข์ของเขาจริงๆ การบำบัดทุกข์มีความสำคัญมากกว่าการบำรุงสุข เพราะหากยังบำบัดทุกข์ไม่ได้ มัวพะวงแต่เรื่องบำรุงสุข ความสุขที่ได้ก็จะเป็นความสุขปลอม เป็นความสุขในกองทุกข์ เฉกเช่นดอกไม้หอมที่ปักอยู่บนกองอุจจาระ จะเป็นอย่างไร? แต่ก็ควรพิจารณาถึงคุณธรรมของคนที่เราจะช่วยเหลือด้วย

*ความกตัญญูกตเวทีนั้นเป็นภูมิธรรมของคนดี ซึ่งเราจะหาไม่พบ หาไม่ได้ในคนที่มีภูมิธรรมต่ำ และเราต้องตระหนักไว้เสมอว่า ความรักความกตัญญูเป็นสิ่งที่เรียกร้องบีบคั้นเอาไม่ได้ มันต้องเกิดขึ้นเอง เรามีหน้าที่หลั่งความรักความเอ็นดูให้ ทำหน้าที่ ของเราเท่าที่เราจะทำได้ ต่อไปเขาจะทำไม่ทำเป็นเรื่องของเขา

*หลักกรรมในพุทธศาสนาเป็นกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง ซึ่งเน้นที่ตัวบุคคลและสภาพสังคมที่มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน เป็น Causality ไม่ใช่ Cause and Effect ไม่ใช่เหตุและผล คือสิ่งที่เป็นเหตุแล้วเป็นผลได้ สิ่งที่เป็นผล แล้วกลับมาเป็นเหตุอีกทีหนึ่ง คล้ายๆ ต้นไม้กับผลไม้ ผลไม้ก็เป็นเหตุให้เกิดต้นไม้ต่อไป ต้นไม้ก็เป็นเหตุให้เกิดผลไม้ ผลไม้ก็เป็นเหตุให้เกิดต้นไม้ เวียนกันอยู่อย่างนั้น

*ถ้าผลของกรรมเป็นของตายตัวแก้ไขไม่ได้แล้ว การประพฤติพรหมจรรย์หรือประกอบคุณงามความดีก็ไม่มีประโยชน์ โอกาสที่จะทำความดีจนสิ้นทุกข์ก็จะมีไม่ได้ เพราะแต่ละคนเคยทำกรรมชั่วกันมามากแล้วทั้งนั้น แต่เพราะเหตุที่ผลของกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ตายตัว มีเงื่อนไข มีเหตุปัจจัย สามารถจะเบี่ยงเบนได้ การประพฤติพรหมจรรย์ ประพฤติคุณงามความดีจึงมีประโยชน์ โอกาสที่จะทำความดีเพื่อความสิ้นทุกข์จึงมีได้

ขอให้ผู้มีทุกข์จงพ้นทุกข์ มีโศกจงพ้นโศก มีโรคจงพ้นโรค มีภัยจงพ้นภัย ประสบแต่ความสุขสวัสดีตลอดกาลทุกเมื่อ

หาซื้อหนังสือเล่มนี้ได้ตามร้านหนังสือทั่วไป 160 หน้า ราคา 100 บาท

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพิมพ์ธรรมดา โทร.0-2888-7026 e-mail : pulukthi@truemail.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น