xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ : กองทัพกาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอกญฺ จ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงคาม ชุตฺตโม แปลว่า การชนะคนคนเดียว(คือตน)ได้ ประเสริฐกว่า ดังนี้ อธิบายว่า สงครามอะไรๆก็ตาม ย่อมเกิดขึ้นจากบุคคลคนเดียว คือตัวของเราเอง หากตัวของเราชนะตัวของเราได้แล้ว สงครามเหล่านั้นย่อมสงบไปเอง สงครามที่เกิดในตัวของเราแต่ละคนนี้มากเหลือเกิน หากจะพรรณนาก็ไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อสรุปแล้วก็มี ๕ กองพล คือ โลภ โกรธ หลง มานะ ทิฐิ แต่ทั้ง ๕ กองพลนี้สังกัดอยู่ใน กองทัพกาม เพราะกามภูมิเป็นเสมือนสมรภูมิของนักรบ ผู้จะได้ชัยชนะหรือแพ้ต่อสงครามภายในของตนเอง จะต้องลงสู่สมรภูมิทั้งนั้น เราจะเห็นได้ว่าผู้ชนะชั้นแรกของสงครามได้คือ ฌานสมาธิ ต้องละ นิวรณ์ ๕ ตัวต้นก็คือกามนี้
สงคราม ๕ กองพลดังกล่าวนั้น ผู้ที่ได้ชัยชนะแล้ว หรือกำลังต่อสู้กันอยู่ก็ดี หรือพ่ายแพ้ไปแล้วก็ดี เมื่อต้อง การทราบกลยุทธวิธีของมัน พึงสังเกตดังนี้

• กองพลที่ ๑ ความโลภ เมื่อเราหยิบยกสิ่งของอันใดให้เพื่อเป็นทานแก่คนอื่น ทั้งๆที่เห็นคุณประโยชน์อยู่ดีๆ แต่เมื่อจะให้กันจริงจัง มันชักให้พะวงหน้าพะวงหลัง เห็นเป็นของมากไปบ้าง เห็นผู้รับไม่ดีพอคุ้มค่าสิ่งของที่ตนจะให้ไปบ้าง เสียดายไว้ให้คนผู้ที่ตนเคารพรักและนับถือ อะไรต่ออะไรวุ่นไปหมด เมื่อไม่มีปัญญาสามารถที่จะตัดสินใจให้ได้ก็ต้องยอมแพ้ต่อความขี้โลภขี้เหนียว แต่ ผู้เอาชนะมันได้แล้ว การทำทานเห็นเป็นของสนุก และให้ ทานไม่รู้จักอิ่ม มีน้อยให้น้อย มีมากให้มาก และให้โดยความภูมิใจอย่างคนไม่รู้จักจน สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยทำสงครามกับข้าศึกเหล่านี้ ก็เห็นจะได้แก่พวกเชลยศึก เป็นอันหมดหวังเพราะถอดเขี้ยวงาหมดแล้ว

• กองพลที่ ๒ ความโกรธ คนเราลงได้โกรธแล้ว เข้าตำราว่า เห็นช้างตัวเท่าหมู ทุกสิ่งทุกอย่างเห็นสู้ตนไม่ได้ เราต้องเหนือคนอื่นทั้งหมด ผู้ถูกความโกรธเข้าครอบงำแล้ว มีแต่จะขยี้บุคคล หรือแม้แต่วัตถุสิ่งของนั้นให้แหลกเป็นจุลไปอย่างเดียว เมื่อทำอย่างนั้นไม่สำเร็จตามประสงค์แล้ว จะย้อนมาเล่นงานกับตัวเอง ความโกรธเป็นเหมือนกับไฟไหม้บ้าน ดับไม่ทันมิใช่จะเสียหายแต่เฉพาะหลังที่แรกติดเท่านั้น แต่จะต้องลุกลามไปทำความฉิบหายให้แก่เพื่อนบ้านด้วย

• กองพลที่ ๓ ความหลง ไม่รู้จักผิดไม่รู้จักถูก หลงกลับตาลปัตรกันไปหมด เห็นดีเป็นร้ายเห็นร้ายเป็นดีเห็นคุณเป็นโทษ เห็นโทษเป็นคุณ จะเอาอะไรเป็นสาระมิได้ มีแต่สาละวนครุ่นคิด ไม่รู้ว่าทิศเหนือทิศใต้ เหมือนคนหลงทางในป่าลึก มองดูอะไรเห็นของละม้ายคล้ายคลึงกันไปหมด ตกลงนั่งทอดถอนหายใจใหญ่ ซบเซาอยู่แต่คนเดียว

• กองพลที่ ๔ มานะ คือความถือตัว ว่าตนดีตนเก่งกว่าคนอื่น หรือเทียบเท่าคนที่เขาว่าเก่งๆที่สุด หรือเก่ง กล้าสู้เขาไม่ได้โดยเหตุผลที่ประจักษ์อยู่ แต่มานะว่าตนเก่งด้วยน้ำใจซึ่งคนอื่นสู้ตนไม่ได้ ตกลงว่าไม่ยอมแพ้คนอื่น แพ้ทางกำลังกาย จะต้องเอาชนะด้วยวาทะโต้เถียง แพ้ด้วยวาทะ ต้องเอาชนะด้วยใจ ตกลงไม่ยอมแพ้ใครๆ ทั้งนั้น ยากแท้ คนชนิดนี้ตกอยู่ในสังคมใดแล้วแย่ทุกแห่ง

• กองพลที่ ๕ ทิฐิ คือได้แก่ความเห็นดิ่งลงไปในทางที่ผิด คิดเอาแต่ความเห็นของตัว ไม่ฟังมติและเหตุผล ของคนอื่น ถือรั้นแม้แต่สิ่งนั้นๆ เมื่อทำลงไปแล้วจะนำมา ซึ่งโทษทุกข์ในปัจจุบันก็ไม่ยอมสละ เข้าทำนองที่ว่า สุนัขจิ้งจอกหางด้วนเพราะไปขโมยไก่เขา ถูกเขาตัดหางแล้วนำมาอวดเพื่อน ผลที่สุดเพื่อนเขารู้ทันถูกเขาเย้ยหยัน ต้องได้รับความอับอาย
ทั้ง ๕ กองพลนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงให้พวกเราต่อสู้เพื่อเอาชัยชนะมัน ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ กัน ดังนี้คือ

• เอาชนะความโลภ ด้วยการจำแนกแจกปัน จนให้ชินต่อความเป็นผู้มีใจกว้างขวาง อาจได้ประสบอารมณ์ที่พึงพอใจ จากบุคคลผู้ที่ได้รับแบ่งปันคนใดคนหนึ่ง ต่อนั้นไปก็จะเห็นคุณประโยชน์ในการทำทาน หรือจะเอาชนะความโลภขี้เหนียวของคนอื่น ก็ต้องด้วยการสละของ ส่วนตัวเสียก่อน แล้วเขาจึงจะค่อยคลายความโลภขี้เหนียวลงได้ ความโลภเปรียบเหมือนลมที่อัดเข้าไปในกระบอก หากไม่ระบายออกบ้าง มันอาจเกิดระเบิดขึ้นได้คือ ความกลุ้มใจ ถึงกับทำอัตวินิบาตฆ่าตัวตาย
• เอาชนะความโกรธ เบื้องต้นได้ด้วยการอดกลั้น ถ้าอดกลั้นไม่อยู่ต้องเพ่งถึงความดีของบุคคลที่เราโกรธนั้น จนให้เกิดความเมตตาสงสาร ผลที่สุดก็จะหายโกรธเอง ถ้าจะเอาชนะความโกรธของคนอื่น ก็ต้องด้วยความไม่โกรธตอบเขาเช่นเดียวกัน แล้วพยายามหาโอกาสทำดีต่อเขา ในเวลาที่เหมาะที่ควร เขาก็จะหายโกรธไปเอง
• เอาชนะความหลง ด้วยการตรึกตรองถึงเหตุผล แล้วเข้าศึกษากับผู้รู้ ตลอดถึงดูตำรา อันเป็นเครื่องนำทางให้เกิดปัญญาความฉลาด เอาชนะความหลงของผู้อื่นก็ทำนองเดียวกัน คือชี้เหตุผลข้อเท็จจริงให้เขาฟังจนเขาเห็นด้วย แล้วก็อย่าใช้ความหุนหันพลันแล่น จงใช้ความพยายามทำให้สมกับอัธยาศัยของเขา ผู้ที่เราจะทำ ให้เขาเข้าใจในเหตุผลนั้น
• เอาชนะมานะ ด้วยการยอมถ่อมตัว อย่าถือว่าตนเก่งเสมอไป ยอมรับเอาความคิดเห็นเหตุผลของคนอื่นมาไว้ค้นคิดพิจารณา เพราะคนเราแต่ละคนมิใช่ดีพร้อมด้วยกันทั้งหมด อาจจะดีไปคนละอย่าง และถูกไปคนละแง่ ทุกๆคนทำพูดคิดอะไรลงไป ก็เข้าใจด้วยมานะของตนเองว่า สิ่งนั้นดีแล้วถูกแล้วจึงทำ พูด คิด แต่สิ่งนั้นก็ยังไม่ดี ไม่ถูก อยู่นั่นเอง ฉะนั้น มานะที่ขาดความรอบ คอบจึงใช้ไม่ได้
• เอาชนะทิฐิ ด้วยการวิจารณ์ในเหตุผลนั้นๆเหมือนกัน ถ้ามิฉะนั้นแล้วความเห็นนั้นก็จะดิ่งลงไปรั้นอยู่อย่างนั้น หรือบางทีวิจารณ์ในเหตุผลนั้นๆ เห็นตามเป็นจริงว่าผิดถูกอย่างไรแล้ว ถ้าเป็นสิ่งที่ตนเคยทำมาแล้ว ถึงแม้ผิดไม่ดีก็ไม่ยอมละ เอามานะเข้าไปใช้อีกกองหนึ่งก็มี
แม่ทัพใหญ่ คือกามเราจะเอาชนะมันได้ ต้องใช้ภาวนา ปรารภความเสื่อมความดับของอัตภาพสังขารร่างกายอันนี้ ซึ่งเกิดมาจากกามกิเลส ตั้งอยู่แล้วในกามภูมิ ไหลเข้าไปแล้วในกระแสของกามคุณ ๕ มีกามคุณ ๕ เป็นแม่ทัพ สูงสุดบัญชาการให้เกิดโลภ โกรธ หลง มานะ และทิฐิ ทำทารุณกรรมย่ำยีมนุษย์สัตว์อยู่ในโลกนี้ไม่เลือกหน้า เมื่อภาวนาเห็นแจ้งด้วยอำนาจจิตสงบเข้าถึงฌานสมาธิแล้ว ความเบื่อหน่ายคลายจากกามฉันทะก็จะเข้าไปต่อ สู้กับแม่ทัพให้อัปราชัยไปในที่สุด
เมื่อสรุปแล้ว ได้ความว่าการชิงชัยระหว่างกันเรียกว่าสงคราม สงครามมีสองอย่างคือสงครามภายนอก รบกันเป็นครั้งเป็นคราว ถึงแม้ชนะแล้วก็อาจแพ้อีก สงครามภายในได้แก่กิเลสที่เกิดขึ้นในตัวของเรา ต้องรบกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีที่สุด เมื่อชนะแล้วเป็นอิสระ ไม่เป็นอาณานิคมของใคร จงพากันตรวจดูตัวของตัวเอง หากยังไม่ได้ชัยชนะ เมื่อว่าต้องการอิสระเป็นไทแก่ตัวแล้ว ขอได้ออกสู้สงครามตามตำรายุทธศาสตร์ที่พระบรมศาสดาได้แสดงไว้แล้ว ก็จะสำเร็จตามความปรารถนา

(จากส่วนหนึ่งของการแสดงธรรม ณ วัดเจริญสมณกิจ จ.ภูเก็ต วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๐๖)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 107 ตุลาคม 2552 โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น