xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : หัวใจกรรมฐาน (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

๒.๔ ระดับของความสงบ
มี ๓ ระดับคือ
บริกรรมสมาธิ เป็นความสงบจิตในเบื้องต้น อันเนื่องมาจากการเพ่งบริกรรมนิมิตและอุคคหนิมิตอย่างสบายๆ
อุปจารสมาธิ เป็นความสงบจิตในระดับที่ใกล้จะได้ฌาน หากมองในแง่ตัวอารมณ์ก็ใช้ปฏิภาคนิมิตเป็นอารมณ์ ยกเว้นกรรมฐานบางอย่างที่ไม่มีปฏิภาคนิมิต ก็ยังคงต้องใช้อุคคหนิมิตเป็นอารมณ์ต่อไป เพียงแต่มีความสงบแนบแน่นลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าในขั้นที่จิตมีบริกรรมสมาธิ ในขั้นนี้จิตจะไม่แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นโดยไม่ต้องประคองรักษาไว้
อัปปนาสมาธิ เป็นความสงบจิตในระดับฌาน หมายถึงความสงบแนบแน่นของจิตอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน จนไม่โยกคลอนแส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่น และกิเลสไม่สามารถรบกวนจิตได้ วิธีการที่จะทำอัปปนาสมาธิให้เกิดขึ้นก็คือการเพ่งอุคคหนิมิต เมื่อทำอัปมัญญา ๔ และ อรูปกรรมฐาน ๔ หรือ เพ่งปฏิภาคนิมิต เมื่อทำกรรมฐานที่มีปฏิภาคนิมิตเกิดขึ้นได้ อันได้แก่กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตา สติและอานาปานสติ ไม่ใช่การเพ่งบริกรรมนิมิต ให้รักษาอุคคหนิมิตหรือปฏิภาคนิมิตนั้นไว้ให้บริบูรณ์ด้วยอุปจารสมาธิ จนกระทั่งฌานจิตเกิดขึ้น จึง เรียกว่าได้อัปปนาสมาธิ
ตัวอย่างเช่นในการเจริญอานาปานสติ เราใช้การรู้ลมหายใจ ลมหายใจจัดเป็นบริกรรมนิมิต เมื่อตามรู้ลมหายใจไปจนจิตเริ่มสงบ จะเห็นลมหายใจเป็นแสงสว่าง ก็ให้รู้แสงสว่างนั้นแทนลมหายใจที่เคยรู้อยู่เดิม แสงสว่างนั้นจัดเป็นอุคคหนิมิต ให้รู้แสงสว่างนั้นจนเกิดปฏิภาคนิมิตและฌานจิต ทั้งนี้การทำความสงบในระดับลึกนั้น บางท่านที่เคยทำได้มาแล้วในกาลก่อน จิตก็จะรวมสงบเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว แต่ท่านที่ไม่เคยทำมาในกาลก่อนก็ยากที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะเพียงทำความสงบในระดับ หนึ่งก็พอจะใช้เป็นฐานในการเจริญปัญญาต่อไปได้แล้ว
แท้จริงอารมณ์ของสมถกรรมฐานมีมากไม่มีประมาณเพราะใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ แต่ที่ท่านสรุปเป็นกรรมฐาน ๔๐ ก็เพียงแสดงเป็นตัวอย่างไว้เท่านั้น ตามประวัติของพระเถระและพระเถรี ก็มีอยู่หลายท่านที่ทำสมถกรรมฐานด้วยอารมณ์ที่นอกเหนือจากกรรมฐาน ๔๐ เช่น บางท่านพิจารณาดอกบัวแดง บางท่านขยี้ผ้าขาว บางท่านดูน้ำแข็งละลาย บางท่านดู ดวงประทีปที่ดับไปแล้วคิดพิจารณาชีวิต บางท่านดูดวงจันทร์ ใช้ดวงจันทร์แทน ดวงกสิณจนเกิดปฏิภาคนิมิต เป็นต้น
สรุปแล้วกรรมฐานทั้ง ๔๐ อย่างสามารถทำให้เกิดบริกรรมสมาธิ และอุปจารสมาธิได้ กรรมฐาน ๓๐ อย่างคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปมัญญา ๔ และอรูปกรรม-ฐาน ๔ สามารถทำให้เกิดอัปปนาสมาธิได้ แต่กรรมฐาน ๑๐ อย่างคืออนุสติ ๘ (ยกเว้นกายคตาสติและอานาปานสติ) อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ และจตุธาตุววัตถาน ๑ สามารถทำให้เกิดได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น ไม่ถึงอัปปนาสมาธิ
อนึ่งเรื่องการทำสมถกรรมฐานในระดับลึกนั้น ท่านผู้สนใจควรปลีกตัวออกไปเรียนจากครูบาอาจารย์ ซึ่งบางรูปจะชำนาญในเรื่องสมถกรรมฐาน แต่ในหนังสือเล่มนี้จะไม่แนะนำวิธีการปฏิบัติไว้ เพราะการทำสมถกรรมฐานในระดับลึกควรอยู่ภายใต้การดูแลของครูบาอาจารย์อย่างใกล้ชิดจึงจะปลอดภัย
สมถกรรมฐานมีประโยชน์มาก นอก จากการทำให้เกิดความสงบสุขทางจิตใจแล้ว สมถกรรมฐานยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก เช่น ในเบื้องต้นที่ยังเจริญวิปัสสนา ไม่เป็น ก็อาจจะเริ่มจากการเจริญสมถ-กรรมฐานไปก่อนก็ได้ เช่นมีสติตามระลึกรู้ลมหายใจเข้าออกไปอย่างสบายๆ หรือ รู้ท้องพองยุบอย่างสบายๆ หรือบริกรรมพุทโธอย่างสบายๆ เมื่อรู้อารมณ์นั้นไปสัก ช่วงหนึ่งก็ให้สังเกตดูความรู้สึกที่เปลี่ยน แปลงไปของตนเอง เช่นเมื่อกี้จิตฟุ้งซ่านตอนนี้จิตสงบ หรือเมื่อกี้จิตสงบตอนนี้จิตฟุ้งซ่าน เมื่อกี้จิตไม่มีปีติตอนนี้จิตมี ปีติ หรือเมื่อกี้จิตมีปีติตอนนี้จิตไม่มีปีติ เมื่อกี้จิตไม่มีความสุขตอนนี้จิตมีความสุข หรือเมื่อกี้จิต มีความสุขตอนนี้จิตไม่มีความสุข เป็นต้น นี้เป็นการเจริญสมถกรรมฐานเพื่อเป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนานั่นเอง
ประโยชน์อย่างอื่นยังมีอีก คือเมื่อเจริญวิปัสสนาไปนานๆ จิตจะสูญเสียพลังงานและเกิดความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าขึ้นได้ จนไม่สามารถตามรู้กายหรือตามรู้จิตใจอันเป็นการเจริญวิปัสสนาได้อีกต่อไป ก็ให้กลับมาเจริญสมถกรรมฐานเพื่อให้จิตใจได้พักผ่อน เมื่อจิตใจได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว รู้สึกสดชื่นแล้ว ก็กลับไปเจริญวิปัสสนาต่อไป การเจริญวิปัสสนารวดเดียวโดยไม่รู้จักการพักผ่อนจิต เป็นความยากลำบากของผู้ปฏิบัติ เหมือนคนมีสองขาแต่เดินเพียงขาเดียว อนึ่งจิตที่มีความสงบสุขเพียงพอย่อมจะ มีสติมีปัญญาแหลมคมกว่าจิตที่ขาดความ สงบสุข การรู้สภาวธรรมใดๆด้วยจิตที่มีความสงบตั้งมั่นเพียงพอ จะเป็นความรู้ ที่ซาบซึ้งถึงใจดีมากทีเดียว
สมถกรรมฐานเป็นดาบสองคม เมื่อจะเจริญสมถกรรมฐานอย่าทิ้งสติปัญญาเป็นอันขาด มิฉะนั้นอาจจะหลงเพลินไปกับความสงบสุขจนไม่ยอมเจริญวิปัสสนา หรืออาจจะเกิดอาการที่เรียกว่านิมิตแปลก ปลอมต่างๆ หากนิมิตใดเกิดขึ้นให้ย้อนดูจิตตนเอง หรือพิจารณานิมิตนั้นลงเป็น ไตรลักษณ์เสียให้หมดก็จะไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่นบางท่านทำสมถกรรมฐานด้วยการคิดพิจารณากายลงเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เมื่อจิตเกิดความสงบแล้วเกิดนิมิตเห็นกายเป็นของน่าเกลียดน่าขยะแขยง ถ้าจิตติดความรู้สึกเช่นนี้อยู่จะเกิดความเกลียดหรือกลัวตนเองอย่างรุนแรง ดังนั้นหากจะพิจารณากายเป็นปฏิกูลหรือเป็นอสุภะก็ตาม ในช่วงสุดท้าย จะต้องน้อมพิจารณาลงเป็นไตรลักษณ์ให้ได้ จิตจึงจะถึงความสงบสุขได้จริงๆ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลาฉบับที่ 105 สิงหาคม 2552 โดยพระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น