xs
xsm
sm
md
lg

มองปัญหาด้วยปัญญา:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

              วินัยโดยสามัญสำนึก เรียกว่า จริยา
         วินัยโดยสังคมกำหนด คือระเบียบ กติกา กฎหมาย

ปุจฉา
ศิลปะการอยู่ร่วมกัน
อย่างมีวินัยเพื่อความผาสุก

ผมเป็นคนคาบเกี่ยวระหว่างโลกยุคเก่ากับใหม่ครับ แรกๆ ตอนวัยรุ่นก็อยู่เป็นสุข ง่าย แต่ยิ่งแก่ตัว ก็ยิ่งรู้สึกว่าหาความสุขใจได้ยากเย็นเต็มที สังคมมันสับสน หรือเรามองโลกในแง่ร้ายเกินไป ขอหลวงปู่ช่วยคิด ปรับท่าทีให้ด้วยขอรับ

วิสัชนา

ก็ต้องเริ่มต้น จัดระเบียบของกาย จนเป็นระบบของความคิด ความหมายของ การจัดระเบียบของกาย คือ เริ่มต้นจากเรื่องพื้นๆ ใกล้ๆ ตัว อาจจะมาจากการที่เราเคยใช้ของแบบสุรุ่ยสุร่าย ทิ้งไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง ก็รู้จักเก็บของให้เป็นที่เป็นทาง จะต้องรักษาสิ่งเหล่านั้นให้อยู่ คือ มีอายุยืนยาวต่อการใช้สอย ปกติเคยอาบน้ำ ผลัดผ้า แล้วโยนกอง ก็หันไปเก็บพับ หรือไม่ก็มาผึ่ง ถ้าไม่งั้นก็ซักเลย แล้วตาก

ปกติลุกจากที่นอน เคยบิดขี้เกียจ 3 ที ก็เปลี่ยนใหม่ เป็นลุกขึ้นมาอย่างกระฉับกระเฉง ดื่มน้ำหนึ่งแก้วใหญ่ๆ เสร็จแล้วก็ทำตัวทำชีวิตจิตวิญญาณให้สดชื่นแจ่มใส และตื่นขึ้นมาด้วยความเบิกบาน พร้อมกับหันไปเก็บที่นอนให้เรียบร้อยเหล่านี้ เป็นการจัดระเบียบของกาย

เมื่อเรารู้จักที่จะสร้างระเบียบให้แก่กายอย่างนี้ ถือว่าเป็นการรักษากฎเกณฑ์ กติกา และวินัยของสังคมไปในตัว

วินัยมี 2 ประเภท คือ


1. วินัยโดยสามัญสำนึก เรียกว่า จริยา

จริยาของการเป็นคน เป็นมนุษย์ หรือการมีชีวิต

2. วินัยโดยสังคมกำหนด ระเบียบ หรือกติกาใดๆ หรือ กฎหมายใดๆ เป็นเรื่องของสังคมกำหนด วินัยข้อนี้อยู่ห่างไกลตัวมาก ถ้าเราไม่สามารถปฏิบัติวินัยโดยสามัญสำนึกได้ เราก็จะปฏิเสธวินัยที่เป็นกติกาของนอกกาย เป็นวินัยของโลกของสังคม เราจะยอมรับมันไม่ได้ และรู้สึกอึดอัดที่จะทำตาม

แต่ถ้าเมื่อใด เราปฏิบัติทำตนให้เป็นคนมีวินัยโดยหลักการ โดยสถานะที่จัดกาย วาจา ใจ ของตนให้เป็นระเบียบ จนมีความคิดเป็นระบบ ก็จะยอมรับ และเคารพต่อระเบียบวินัยของสังคม และก็คนอื่นๆ สำหรับในส่วนนี้ คงจะต้องมีความละเอียดรอบคอบ จัดระเบียบของตัวเองให้ดี ดังที่ท่านบอก

นอกจากนี้ ก็ให้รู้จักพัฒนาตน ให้มีศิลปะในการ ดำเนินชีิวิต ก่อนอื่นอยากจะให้ข้อสังเกตว่า ศาสนาพุทธในประเทศไทยเป็นยังไงก็ไม่รู้ เพราะเวลาศาสนาพุทธเข้า ญี่ปุ่นก็เปลี่ยนเป็นภาษาญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นเวลาสวดมนต์ก็รู้ว่าสวดเรื่องอะไร ว่าอย่างไร และก็ทำได้ ตามนั้น ศาสนาพุทธเข้าประเทศจีนก็เปลี่ยนบทสวดเป็นภาษาจีน เข้าประเทศฝรั่งก็เปลี่ยนบทสวดเป็นภาษาฝรั่ง เข้าประเทศลาวก็เปลี่ยนบทสวดเป็นภาษาลาว แต่เข้าประเทศไทยทำไมเปลี่ยนไม่ได้ กลัวไม่ศักดิ์สิทธิ์กันหรือ

ตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่เรา ว่านะโมมาตั้งแต่เกิดยังไม่รู้เลยว่าแปลว่าอะไรเมื่อรู้ว่าแปลว่าอะไร ก็ไม่รู้จะสวดทำไม เพราะยิ่งสวดก็ยิ่งโง่ สวดอย่างนี้เรียกว่า สวดแบบไม่มีศิลปะ ถ้าสวดแบบมีศิลปะต้องสวดแบบผู้รู้ ผู้ตื่น รู้ในบทสวดที่เราเจริญนั้น แล้วจำทำได้ด้วย และในเสียงที่เปล่งออกไปในการสวดก็ต้องมีศิลปะ

ในทิเบตถือนักหนาในเรื่องเสียง บทที่สวดออกไปจะต้องเปล่งออกมาจากลำคอ และต้องสูงต้องทุ้มต้องต่ำต้องแหลมตามวรรณยุกต์ และภาษาอักขรวิธี ไม่ใช่ตะเบ็งออกมาเหมือนเสียงควายออกลูก แล้วไม่รู้ว่ามันจะจบหรือไม่จบ ไม่ได้ฟังใครเขาทั้งนั้น

การสวดมนต์ให้มีศิลปะแบบพุทธะก็คือ ใช้ใจสวดให้มันซึมเข้าไปในหัวใจ สวดแล้วให้เกิดปีติสุขในใจ สวดแล้วเกิดความสงบและสันติภาพในใจ เรียกว่า สวดอย่างมีศิลปะ ในพระไตรปิฎกบอกไว้ว่า พระเณรที่สวดมนต์ในถ้ำ เจริญพระพุทธมนต์อยู่ในถ้ำ สวดอย่างมีศิลปะเสียงทุ้มเสียงต่ำเสียงแหลม ค้างคาวที่เกาะอยู่บนผนังถ้ำ 500 กว่าตัว ได้ฟังเสียงสวดเพลิน ถึงขนาดพร้อมใจกันปล่อยตีนที่เกาะจากผนังถ้ำด้วยความเผลอ หัวโหม่ง พื้นตายทั้งหมด แต่เพราะเสียงสวดที่จับจิตจับใจค้างคาวทั้งหลาย ทำให้บทสวดนั้นๆ เป็นกุศลส่งให้วิญญาณไปเกิดในชั้นดุสิตได้เป็นเทวดาเป็นเทพบุตรได้

หลวงปู่ชอบที่จะสวดมนต์มากๆ แล้วก็ต้องสวดอย่างมีศิลปะ เพราะยิ่งสวดก็ยิ่งทำให้เราสว่าง สะอาด สงบ จิตใจเยือกเย็นมากขึ้น

สำหรับชาวพุทธ ศาสนาสอนให้เรารู้ว่า การนับถือศาสนา การเรียนรู้ ทำให้ชีวิตคนมีศิลปะ ทำอะไรทุกอย่างเป็นศิลปะ ซึ่งมันก็จะตรงกับหลักมัชฌิมาปฏิปทา ที่สรุปลงท้ายว่า ความรู้ชอบ ความเพียรชอบ ความเจริญสติชอบ การเรียนรู้ชอบ การพูดชอบ การตั้งใจชอบ การประกอบอาชีพชอบ ทุกข้อลงท้ายว่าชอบ คนดูก็ชอบ คนทำก็ชอบ คนลงมือก็ชอบ ช่วยกันทำต่างคนต่างก็ชอบอย่างนี้ถือว่ามีชีวิตเต็มไปด้วยความชอบ เต็มไปด้วยศิลปะ

สำหรับหลวงปู่แล้ว นิยมทำอะไรให้มีศิลปะ ถ้าให้เลือกระหว่างคำต่างๆ และระหว่างพิธีการพิธีกรรมต่างๆ ที่จะปรากฏขึ้น หลวงปู่ชอบที่จะเลือกใช้ประโยคและถ้อยคำที่พูด ว่าศิลปะ เพราะในศัพท์นี้มันบรรจุไว้หลายๆ อย่างมากมาย หลายแขนงมีวิชาอยู่ในคำว่าศิลปะนี้มากมาย

คนที่พูดที่คิดที่แสดงหรือทำอะไรอย่างมีศิลปะถือว่าเป็นคนมีเสน่ห์ แต่คนมักจะบอกว่า คนที่มีเสน่ห์คือคนที่ไปลงนะหน้าทอง นะหน้าเงิน ปลุกเสกเลขยันต์ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ คำว่า 'เสน่ห์' ของคนโบราณคือ ทำอะไรให้มีศิลปะเป็นที่ชอบใจ เป็นที่เจริญหูเจริญตา เจริญใจต่อผู้ได้พบเห็น เช่น พูด คำพูดมีศิลปะก็ทำให้ผู้ฟังไม่เบื่อ มีเสียงทุ้ม เสียงหนัก เสียงเบา เสียงยาว เสียงสั้น เสียงแหลม ใช้เสียงอักขรวิธีการให้ตรง ถูกต้องตามวรรณยุกต์ลักษณะและสมัยของภาษานั้นๆ ถ้าคนเหล่านั้นพูดได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าเรียกเสียงนี้ว่าเสียงของท้าวมหาพรหม เพราะฟังแล้ว ไม่ต้องระทมกับการต้องมาแปล คือ ฟังแล้วรู้เรื่อง เข้าใจ ได้ ใจความ ได้ความหมาย ฟังแล้ว ทำให้เราซึมสิงเข้าไปในหัวใจ สมอง และทำได้ด้วย ถือว่าเป็น การพูดอย่างมีศิลปะ

นักร้องก็เหมือนกัน ถ้าร้องเพลงใดๆ แล้วเป็นที่เชิดหน้าชูตา คนทั้งหลายนิยมรักใคร่ โปรดปราน ก็ต้องยอมรับว่า นักร้องผู้นั้นเป็นผู้ร้องเพลงอย่างมีศิลปะ เช่น ใช้วรรณยุกต์ ใช้ภาษาร้อง และท่วงทำนองที่ไพเราะเสนาะหู จำง่าย เด็กก็สามารถร้องตามและฟังรู้เรื่อง

รวมความแล้ว คำว่าศิลปะ นอกจากบรรลุประยุกต์ในบทความ คำพูด บรรลุการร้อง ยังบรรลุในศิลปะการแสดงอีกด้วย

ดาราคนใด ถ้าสามารถแสดงบทต่างๆ ได้อย่างแนบแน่นละเอียดอ่อน ที่เขาใช้ภาษาดาราหรือชาวโลกว่า ตีบทแตก แสดงว่านักแสดงผู้นั้นแสดงอย่างมีศิลปะ เรียนรู้จบหลักสูตรศิลปะการแสดง

นักวาดเขียน นักแต่งกลอน แต่งบทกวี สิ่งเหล่านี้รวมความว่าเป็นศิลปะ มันรวมไปถึงการมีชีวิต การแต่งบทเพลง การบรรเลงดนตรี

ศิลปะอย่างนี้ไม่ใช่มีเฉพาะชาวโลก สำหรับศาสนาแล้ว ศาสดาของเราเป็นยอดแห่งศิลปะ เมื่อสมัย 2,000 กว่าปีก่อน พระองค์ทรงเรียนรู้ศิลปศาสตร์หลายวิชา จบหลักสูตรหลายแขนง เช่น ศิลปะการต่อสู้ ศิลปะการแต่งบทกวี ศิลปะการวาดรูป ศิลปะการยิงธนู ศิลปะการกล่าวกลบท คือ การกล่าวบทปริศนาธรรม ศิลปะการต่อปากต่อคำ นั่นคือ ปุจฉาและวิสัชนา ศิลปะของความเป็นผู้นำ ศิลปะกระบี่กระบอง เพลงไม้พลองและดั้ง เหล่านี้ โบราณ เรียกว่า ศิลปะ ถ้าใครทำได้ก็เป็นที่เชิดหน้าชูตา เจริญหูเจริญตาต่อผู้พบเห็น

เมื่อพระองค์เข้ามาผนวชในพุทธศาสนา บรรลุอนุตตรสัมมา สัมโพธิญาณใฝ่หาพระธรรมจนสำเร็จมรรคผลนิพพานได้ พระองค์ก็ทรงสั่งสอนมหาชน อย่างมีศิลปะ เช่น ถ้อยคำที่ทรง พูดกับคนบางคน บางประเภท บางขณะ บางลักษณะ บางสังคม บางหัวเมือง บางประเทศ พระองค์จะทรงใช้ถ้อยคำและน้ำเสียงคล้ายๆ และกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมและสังคมนั้นๆ ทำให้คนเหล่านั้นฟังแล้วเจริญหูเจริญตา เจริญใจ

ในตอนที่พระองค์ผนวชใหม่ๆ เหล่าแม่ยก แม่ยาย และแม่ใหญ่ทั้งหลาย รวมทั้งสาวแก่แม่ม่าย พ่อเฒ่าพ่อแก่เห็นองค์พระศาสดาทรงเดินยุรยาตรไปหาภิกขาจาร คือ หาอาหารในยามเช้า ถึงกับปรารภกันให้อึงมี่ว่า บุรุษผู้นี้ถ้าเป็นสามีใคร เมียก็ได้เป็นนิพพาน ถ้าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร พ่อแม่ก็นิพพาน แปลว่า ดับแล้วก็เย็น เพราะเป็นผู้เจริญหูเจริญตาเจริญใจแก่ผู้พบเห็น ข้อนี้พิสูจน์ได้ว่าพระองค์ทรงมีศิลปะ แม้กระทั่งการเดิน

แสดงว่าสมัยก่อนไม่ได้มุ่งสอนเฉพาะศิลปะขับร้อง ฟ้อนรำ วาดรูป ต่อสู้ เขารวมไปถึงการมุ่งสอนศิลปะของการเดิน ยืน นั่ง และนอน

คนโบราณเวลาทำอะไรจึงมองดูแล้วองอาจ สง่า ผึ่งผาย และกล้าหาญ เปิดเผย ไม่หลบๆ ซ่อนๆ สิ่งเหล่านี้ได้มาจากการสืบทอดเรียนรู้ศิลปะในการใช้ชีวิตให้ผาสุก
กำลังโหลดความคิดเห็น