xs
xsm
sm
md
lg

“ไทไตและขอม” ในประวัติศาสตร์ชนชาติลาว (2)

เผยแพร่:   โดย: ประทีป ชุมพล


หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันชื่อ วิลเลียม คลิพตัน ด็อดด์ (William Clifton Dodd)) พิมพ์หนังสือ The Thai Race (คนเชื้อชาติไทย) ออกเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2464 ท่านบุนมี เทบสีเมือง กล่าวว่า ได้สร้างความสับสนแก่สังคมโลกไม่น้อย เพราะว่าผู้เขียนไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “ไต” หรือ “ไท” ในภาษาลาวซึ่งทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ล้มเหลว และสร้างความเข้าใจผิดมาโดยตลอด ไม่เว้นแม้แต่คนไทย

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เพราะด็อดด์เป็นหมอสอนศาสนาคริสต์ประจำอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ทางภาคเหนือของไทย การวิจัยเพื่อผลในงบประมาณจากสำนักงานใหญ่ ซึ่งก็ได้ผลตามเป้าหมาย เพราะงานชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่ามีคนพูดภาษาไทย และมีชนชาติไทยอยู่อย่างกว้างขวางในประเทศจีน พม่า เวียดนาม ลาว สยาม ในขณะประมาณว่า เกือบ 50 ล้านคน เรียกได้ว่าเจ้าของทุนตาลุกวาวเลยทีเดียว เพราะในขณะนั้นสยามมีประชากรไม่ถึง 20 ล้านคน

ท่านบุนมี ให้ความเห็นว่า ด็อดด์ไม่เข้าใจในภาษาถิ่นอย่างแท้จริง เพราะจริงๆ แล้ว คำว่า “ไต” หรือ “ไท” นี้เป็นคำศัพท์ในภาษาลาว หมายถึง “คน” หรือ “กลุ่มคน” เป็นคำพูดที่ใช้เรียกกันทั่วไป เรียกทั้งคนลาวเอง และเรียกคนต่างประเทศด้วย

ดังนั้น คำว่า “ไท” หรือ “ไต” มิใช่หมายถึง เผ่าพันธุ์ความที่ด็อดด์เข้าใจ เช่นคำว่า “เจ้าแหม่นไปได๋” หมายความว่า “เจ้ามาจากไหน” มิใช่หมายถึง “เจ้าเป็นคนเชื้อชาติใด” ตามที่ด็อดด์เข้าใจ ดังนั้นคนที่สื่อสารกันโดยใช้ภาษาลาว หรือคำท้องถิ่นที่ใกล้เคียงกัน มีความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน อาจเพราะเป็นเกษตรกร และนับถือพุทธศาสนาร่วมกัน ไปมาสื่อสารกัน ด็อดด์กลับเห็นว่าเป็น “คนเชื้อชาติไทย” ทั้งสิ้น เพราะชุมชนเหล่านั้น เรียกตนเองว่า ไท อันมีความหมายว่ากลุ่มคนหรือคนเท่านั้นมิใช่ความหมายถึงเชื้อชาติแต่อย่างใด

สอดคล้องกับงานเขียนของท่านวิ วัน-อาน นักวิชาการชาวเวียดนาม กล่าวชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม ที่เป็นชนเผ่าชาวไต เรียกตนเองว่า ไต คือเป็น ชนเผ่าไต แต่ที่มิใช่เป็นชนเผ่าไตก็มักเรียกตนเองว่า “ไต” นำหน้า เช่น ไตบวน (คนเวียดนาม) ไตกัมบูเจีย (คนเขมร) ไตโซเวียต (คนโซเวียต) ซึ่งเห็นได้ว่า คำว่า ไต นำหน้านั้น หมายถึง คนหรือกลุ่มคนเท่านั้น อันเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ความคิดของด็อดด์ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ในงานวิจัยของชาวตะวันตกในรุ่นหลัง เช่น งานของแซมมวล อาร์คล้าก กล่าวว่า บรรดาชนเผ่าในเขตภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีเผ่าที่จีนเรียกว่า จงเจีย ประกอบด้วยพวกที่เรียกตัวเองว่า ลาว ยวน ขืน ลื้อ โห้ เมือง ไทโล เมิง และเลิง เป็นต้น ไม่มีเผ่าไตที่ยิ่งใหญ่ตามแนวค้นคว้าของด็อดด์

สำหรับประเทศไทย แต่เดิมเรียกว่า ชาวสยามสำหรับประชาชน และเรียกว่าสยามประเทศหรือประเทศสยามถ้าเป็นกลุ่มคน ก็เรียกกันว่าคนไทย นำหน้าแล้วใส่ถิ่นฐานที่มา เช่นไทยอยุธยา ไทยสุพรรณ ไทยนครศรีธรรมราช หรือเรียกตามแหล่งน้ำ เช่น ไทยเจ้าพระยา ไทยของ (แม่น้ำโขง) ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่กล่าวว่า “ไท ชาวอูชาวของมาออก” คือชาวไทยจากแม่น้ำอูและแม่น้ำโขงมาขึ้นกับรัฐสุโขทัย

อย่างไรก็ตาม คำว่า ไท ในความหมายของลาวอาจจะมีความหมายคงเดิม แต่ในความหมายของกลุ่มไทลุ่มน้ำพระยากว้างกว่าเดิม ไท จะกลายเป็น ไทย และมีความหมายถึงผู้มีอิสระ หรือ อิสระชน อันตรงกับความหมายที่ว่ากลุ่มลาวเจ้าพระยาได้ขับไล่ทัพเขมรออกไป และประกาศตนเป็นรัฐอิสระ แม้จะใช้คำว่า ไทย แต่คำว่า สยาม ดูเหมือนจะเป็นที่นิยมมากกว่า โดยเฉพาะในการติดต่อกับต่างประเทศ มักจะใช้คำว่า ชาวสยาม และ สยามประเทศ

รัฐบาลสยามสมัยหลังการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 ซึ่งก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะอุบัติ รัฐบาลสยามในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่ในภาวะการสร้างชาติ ได้สร้างลัทธิชาตินิยมขึ้น โดยเฉพาะการนำประวัติศาสตร์ไทย ที่ถูกสร้างขึ้นโดยพวกล่าอาณานิคมซึ่งนำงานค้นคว้าของหมอด็อดด์มาปลุกระดม และใฝ่ฝันที่จะขยายดินแดนไปสู่จีน เวียดนาม พม่า โดยทะเยอทะยานตามความคิดที่ว่ามีคนไทยอยู่นอกประเทศอีกหลายสิบล้านคน เพียงพอในการสร้างสยามให้เป็นมหาอำนาจให้ได้ จึงได้เปลี่ยนชื่อประเทศสยามมาเป็นประเทศไทย และเรียกในภาษาอังกฤษว่า Thailand (ไทยแลนด์) จากนั้นได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในการรุกรานประเทศอื่น จึงนำประเทศไทยสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา และสงครามโลกครั้งที่สอง และพาชาติสู่หายนะเพราะพ่ายแพ้ต่อสงคราม ความคิดฝันที่จะเป็นมหาอำนาจจึงสิ้นสุดลงอย่างราบคาบ

ก็เหตุผลอย่างนี้เองที่ทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามคิดฝันการเปลี่ยนชื่อประเทศ เพราะหวังรวมคนไท (Tai) นอกจากอาณาจักรเข้าด้วยกัน แต่ก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

ส่วนคำว่า ขอม นั้น ท่านบุนมี เทบสีเมือง ใช้ในความหมายว่าเป็นชาวกัมพูชา หรือชาวเขมรในหนังสือเล่มนี้จะใช้คำว่า เขมร น้อยมาก แต่ใช้คำว่า ขอม อันหมายถึง ชาวเขมร แต่ในความคิดของนักประวัติศาสตร์ไทย ที่รู้จักกันเป็นส่วนใหญ่ว่าชาวเขมร ส่วนชาวขอมเป็นคนละเผ่าพันธุ์

ชาวเขมรมีอำนาจอยู่ที่นครหลวง หรือกรุงยโสธรปุระ มีอำนาจเข้าควบคุมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 แต่ถูกทัพไทยขับไล่ออกไปตั้งแต่สมัยหลังพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และอีกไม่นานทัพไทยก็เข้าตีกรุงยโสธรปุระแตกพ่ายไป และสูญเสียอำนาจไปอย่างสิ้นเชิง

สำหรับขอมมีอำนาจอยู่ที่เมืองลวะปุระ ซึ่งเมืองนี้สร้างขึ้นโดยชาวลาว (ลวะ) ที่อพยพมาจากล้านนา พวกนี้สืบเชื้อสายมาจากลวจังกราช (ปู่เจ้าลาวจก) จนถึงพุทธศตวรรษที่ 17 ทัพเขมรจากยโสธรปุระเข้ายึดเมืองลวะปุระ และเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นละโว้ ชาวเขมรได้ผสมผสานกับพวกลาวในลวะปุระ และเกิดเป็นเผ่าพันธุ์ที่คนลาวหรือไทย เรียกว่า ขอม พวกขอมได้รับวัฒนธรรมเขมร และรุกรานขึ้นไปในล้านนา และมีอำนาจเหนือลาว

จนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 พระเจ้าพรหม (พรหมกุมาร) นำทัพลาวตีทัพขอมแตก และไล่ทัพขอมสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกรุงยโสธรปุระ ไท หรือลาวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใกล้ซึ่งใกล้ชิดกับขอมในละโว้ ภายหลังได้แต่งงานกันระหว่างพระราชวงศ์ และได้สิทธิขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ภายหลังขัดแย้งกับราชวงศ์สุพรรณบุรี และอำนาจขอมในราชสำนักถูกล้มล้างไปในที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยนิยมชมชอบวัฒนธรรมของขอม ในตำนานกล่าวถึงผู้นำของรัฐไท ลาวส่งพระโอรสไปเรียนเมืองละโว้

แม้ขอมจะหมดอำนาจไปพร้อมกับเขมร ดังนั้นในความรู้ของคนไทย ขอมกับเขมรเป็นคนละเชื้อชาติ และไม่เป็นอย่างที่นักประวัติศาสตร์ลาวรับรู้ อย่างไรก็ตามเรื่องขอมและเขมรก็คงยังเป็นข้อถกเถียงกันอีกนาน
กำลังโหลดความคิดเห็น