xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพุทธเมืองแพร่พร้อมใจฟื้นวิถีเก่า “ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แพร่ - ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ชื่นชมชุมชนสูงเม่น จับมือฟื้นฟูประเพณี “ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” หลังตามรอยวัฒนธรรมไปถึงหลวงพระบาง สืบสานจาก “ครูบามหาเถร” สู่การพิทักษ์ดูแลคัมภีร์โบราณภาษาล้านนาที่มีจำนวนมากที่สุดในภาคเหนือ สืบทอดเป็นสมบัติล้ำค่าของชุมชน

รายงานข่าวจากจังหวัดแพร่ แจ้งว่า ระหว่าง 18-19 ม.ค.54 นี้ ชุมชน วัด และสถานศึกษา พร้อมทั้งเทศบาลตำบลสูงเม่น ได้ร่วมกันจัดงานประเพณี “ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” ที่วัดสูงเม่น ต.สูงเม่น อ.เมือง จ.แพร่ โดยได้สืบสานงานดังกล่าวติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 แล้ว

งานประเพณีดังกล่าวเป็นการผนวกรวมเอางานวัฒนธรรมกินข้าวใหม่หลังเก็บเกี่ยวชาวนาจะนำข้าวใหม่มาประกอบเป็นอาหารถวายพระเรียกว่า “ตานข้าวใหม่” เพื่อเป็นสิริมงคลในการเพาะปลูก และเนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ชาวสูงเม่น จึงจัดกิจกรรมผิงไฟพระ ซึ่งชาวสูงเม่นเรียกว่า “หิงไฟพระเจ้า” เป็นการช่วยให้พระสงฆ์และพระพุทธรูปได้ผ่อนคลายจากอากาศที่หนาวเย็นเป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังมีการศึกษาประวัติของวัด ที่มีคัมภีร์โบราณ ประดิษฐ์จากใบลานและพับกระดาษสาจารึกเป็นภาษาล้านนา และภาษาลาวดั้งเดิม เก็บสะสมไว้เป็นจำนวนถึง 1,194 มัด ถือเป็นวัดที่มีการสะสมคัมภีร์ไว้มากที่สุดของภาคเหนือ ซึ่งคัมภีร์ส่วนใหญ่เป็นงานเขียนของครูบากัญจนอรัญญวาสี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบามหาเถร” เป็นพระภิกษุชาวอำเภอสูงเม่น ที่สนใจศึกษาพระพุทธศาสนาและวิชาที่หลากหลาย

อาทิ ความรู้เรื่องวัฒนธรรม ความรู้เรื่องยาพื้นบ้าน โหราศาสตร์ พิธีกรรม และประวัติของล้านนา โดยได้แต่งเป็นตำราไว้มากมายทั้งที่วัดสูงเม่น อ.สูงเม่น จ.แพร่ และวัดสบสิกขาราม เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และที่ผ่านมาทั้งสองวัด ก็มีวิธีการรักษาคัมภีร์ด้วยการกำหนดการตากธรรมและซ่อมแซมคัมภีร์จนเป็นประเพณีตากธรรม แต่ยุคหลังในวัดสูงเม่น ได้เลิกปฏิบัติประเพณีดังกล่าวไปแล้ว แต่ในที่สุดชุมชนได้ศึกษาประวัติศาสตร์และร่วมกันฟื้นฟูขึ้นมาโดยเดินทางไปศึกษาถึงวัดในหลวงพระบางแล้วนำกลับมาฟื้นฟูกันใหม่ โดยในปีนี้เป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีตากธรรมเป็นปีที่ 4 แล้ว

นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมาก ในการรวมตัวของชุมชนที่ทำงานร่วมกันทั้งวัด โรงเรียน พร้อมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการฟื้นฟูประเพณีเก่าแก่ให้กลับคืนมาและสืบสานต่อไป ซึ่งงานดังกล่าวนอกจากเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมแล้วยังเป็นกิจกรรมด้านการอนุรักษ์คัมภีร์ล้ำค่าของประเทศไว้ ได้อย่างน่าชื่นชม


กำลังโหลดความคิดเห็น