ชื่อของ ‘คาซุกิ ยาโน’ อาจจะไม่คุ้นเคยนักสำหรับคนทั่วไป
แต่หากบอกว่า เขาคือนักแสดงชาวญี่ปุ่นมืออาชีพที่มีผลงานภาพยนตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Seasons Change เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย’ ‘แก๊งชะนีกับอีแอบ’ ‘รถไฟฟ้ามาหานะเธอ’ ฯลฯ เชื่อว่าหลายคนต้องร้อง “อ๋อออออ....” ขึ้นมาทันที เพราะนอกจากเขาจะเป็นชาวญี่ปุ่นเพียงไม่กี่คนที่มีผลงานในวงการบันเทิงอย่างต่อเนื่อง เอกลักษณ์การแสดงที่มีเสน่ห์และเป็นธรรมชาติ ยังสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นภายในหัวใจของผู้ชมได้ทุกครั้งเวลาที่อยู่หน้าจอ
แต่เชื่อหรือไม่ว่าระยะเวลาเกือบ 10 ปีในวงการมายา หลายคนกลับรู้ชีวิตของเขาน้อยมาก งานนี้เลยถือโอกาสคว้าตัวยาโนมาพูดคุยถึงแง่มุมชีวิตต่างๆ ทั้งการใช้ชีวิตในเมืองไทย การทำงาน รวมไปถึงเรื่องร้อนๆ อย่างเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในญี่ปุ่นในฐานะของชาวอาทิตย์อุทัยคนหนึ่ง
อะไรคือสาเหตุที่คุณย้ายมาอยู่ในเมืองไทย
ผมเข้ามาที่นี่ครั้งแรกตอนปี 1980 (พ.ศ.2523) มาทำงานช่วยเหลือที่ศูนย์อพยพคนลาว คนกัมพูชาที่ชายแดน แต่ทำได้ 3-4 อาทิตย์เท่านั้นแหละก็กลับญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นเราไม่มีประสบการณ์ ไม่มีเทคนิค พูดภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษาเขมรก็ไม่ได้ ก็เลยกลับไปเรียนภาษาเพิ่มเติม เก็บเงิน แล้วกลับมาอีกทีปี 1983 (พ.ศ.2526) ก็มาทำงานอยู่สถานทูตญี่ปุ่น ก็ทำเรื่องอพยพเหมือนเดิม
แล้วทำไมถึงตัดสินใจมาทำงานด้านนี้ล่ะ
คงเป็นเพราะสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่ปี 4 อยากทำอะไรที่ไม่ปกติ เป็นอารมณ์วัยรุ่น ซึ่งประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องนี้อยู่พอดี แล้วเผอิญตำแหน่งที่สถานทูตว่างอยู่พอดี ก็เลยไปสมัคร แต่อยู่ได้แค่ 3 ปีก็เริ่มรู้สึกไม่สนุกแล้วเพราะระเบียบราชการมันค่อนข้างเยอะ ทำงานที่ศูนย์อพยพสนุกกว่า ก็เลยตัดสินใจว่าเป็นฟรีแลนซ์ดีกว่า
มาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ต้องปรับตัวเยอะไหม
(พยักหน้า) หลักๆ คงเป็นภาษามากกว่า เชื่อไหม ผมไม่เคยเรียนภาษาไทยที่กรุงเทพฯ เลย เราก็อาศัยแค่ว่าไปกินข้าว ก็พูดได้บ้าง ไปกับเพื่อนบ้าง ไม่ค่อยมีปัญหา แต่เวลาไปทำงาน แล้วเจอหนังสือเป็นภาษาไทย อย่างนี้ไม่ไหว อ่านไม่ออกเลย แต่โชคดีหน่อยที่ตอนทำงานที่ศูนย์อพยพเขาใช้ภาษาอังกฤษเอา แล้วก็มีคนแปลให้
แสดงว่าปัญหาหนักน่าจะอยู่ในช่วงที่ออกจากงาน
ใช่ๆ บางทีคำบางคำก็พูดไม่ได้ แต่คำง่ายๆ ก็โอเค
แล้วช่วงนั้นไม่คิดจะกลับญี่ปุ่นบ้างเหรอ?
ไม่ได้คิด ตอนนี้ก็ไม่ได้คิด (หัวเราะ) คือผมคิดว่าเรื่องนี้มันเป็นโอกาสมากกว่า แต่จริงๆ ผมก็ไปๆ มาๆ อยู่เรื่อยๆ แหละ แล้วก็มีอยู่ครั้ง ช่วงปี 1987 (พ.ศ.2530) ผมได้เจอเพื่อนที่เล่นละครใบ้ พอเราเห็นก็เลยชอบ อยากเรียนด้วย ก็ตัดสินใจเรียนอยู่ที่โตเกียว พอเรียนเสร็จก็กลับมาอยู่เมืองไทย ก็หันมาทำงานด้านนี้เต็มตัว
แต่ถ้าเทียบระหว่างงานอาสากับงานละคร มันถือว่าแตกต่างกันสุดขั้วเลยนะ
ผมว่ามันไม่ต่างกันนะ อย่างละครทำให้คนดูแล้ว Happy (มีความสุข) งานช่วยเหลือก็ทำให้คน Happy เพราะฉะนั้นผมว่าเหมือนกัน แต่งานช่วยเหลือมันต้องมีเทคนิคและประสบการณ์ ซึ่งผมไม่มี
อย่างนี้เสน่ห์ของละครเวทีมันอยู่ตรงไหนกันแน่
มันเป็นงานที่ชอบมากกว่า แต่ทำแล้วไม่ค่อยมีเงิน (หัวเราะ)
กลับกันกับชีวิตดั้งเดิม?
ใช่ แต่จุดหนึ่งที่ผมชอบคือมันใช้จินตนาการมากกว่าเยอะ เพราะมันไม่ใช้ภาษา และที่สำคัญ หัวใจของมันอยู่ที่ Story (เรื่องราว) และคาแร็กเตอร์ของสิ่งที่เราจะแสดง เทคนิคไม่ค่อยเกี่ยว ดังนั้นถ้าเรื่องราวดี แล้วคนเล่นมีเสน่ห์ นิดเดียวคนเข้าใจเลย แต่ถ้าคนเล่นไม่เสน่ห์ ก็ยากหน่อย
อย่างคุณนี่ถือว่าเก่งไหม
ไม่หรอก (หัวเราะ)
แต่ก็เล่นมา 20 ปีแล้วนะ
ผมเห็นนักแสดงหลายคนเก่งมาก ซึ่งผมทำไม่ได้ ทำไม่เป็น
บทแบบไหนที่คุณแสดงเก่งบ้าง
ตอบยากนะ (นิ่งคิด) แต่มีบทหนึ่งผมเล่นบ่อยๆ คือผีเสื้อ (ทำมือเป็นรูปผีเสื้อ) แล้วเราก็พยายามจับ แต่จับไม่ได้ ทำอยู่นานจนจับได้ แต่ผีเสื้อก็ตาย เราเสียใจมาก แต่จริงๆ ผีเสื้อยังไม่ตายแล้วก็บินไป เล่นอยู่ 3 นาที คือเราเน้นความ Simple (เรียบง่าย) แต่คนจะเข้าใจได้
มันยากไหม ถ้าเทียบกับละครพูด
ผมว่าละครใบ้ยากกว่า เพราะเวลาที่เราใช้ภาษาแล้วคนดูไม่ต้องใช้จินตนาการ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบ เพราะมันดูไม่เป็นอิสระ เหมือนมีกรอบ
แต่ก็ยังเล่นละครพูดอยู่ด้วย
ผมว่ามันเป็นเรื่องของประสบการณ์ แล้วมันก็เป็นละครอย่างหนึ่ง
แล้วการที่คุณไปเล่นภาพยนตร์หรือละคร มันก็ต้องใช้ศาสตร์ของละครพูดเหมือนกัน
อืม...ผมมองว่าการที่ผมไปทำอย่างนั้น มันช่วยสร้างประสบการณ์เวลาที่ไปแสดงบนเวที
แสดงว่าจริงๆ ก็ไม่ได้ชอบการแสดงแบบนั้นสักเท่าไหร่
ผมเฉยๆ มากกว่า ถ้าเทียบกับละครเวทีทั้งแบบพูดและไม่พูด เพราะในทีวีหรือในภาพยนตร์ เราไม่ต้องใช้ความสามารถมากเท่าไหร่ กล้องทำให้หมด
ถ้าให้ลองเทียบเรื่องละครใบ้ของญี่ปุ่นกับไทยถือว่าแตกต่างกันมากไหม
ต่างกันเยอะ เพราะญี่ปุ่นคนเล่นก็แยะ คนดูก็แยะ แต่เมืองไทยมีน้อย ผมถึงมาเล่นที่นี่ไง เพราะผมมีโอกาสมากกว่า ถ้าเป็นญี่ปุ่นไม่มีแน่ๆ คนเก่งๆ มากกว่าเต็มไปหมด และที่สำคัญ เดี๋ยวนี้ผมว่าคนไทยดูละครเวทีกันมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก รู้ว่าละครใบ้เป็นยังไง ละครพูดเป็นยังไง มิวสิคัลเป็นยังไง
อย่างนี้ โดยส่วนตัวแล้วคุณชอบวัฒนธรรมของญี่ปุ่นหรือไทยมากกว่า
ผมชอบวัฒนธรรมแบบซามูไรนะ เวลาอ่านหนังสือแล้วชอบ แต่สมัยนี้คนญี่ปุ่นดูไม่มีน้ำใจ ไม่ค่อยมีมารยาทเท่าไหร่นัก เอาง่ายๆ อย่างเวลาเล่นละคร ถ้าคนดูเป็นคนญี่ปุ่น เขาจะไม่ค่อยมีการตอบสนอง ดูอย่างเดียว แต่คนไทย มันจะมีแอ็กชั่น (แสดงท่า) คือเขาเข้าใจว่า Enjoy (ความสนุก) คืออะไร ผมว่าคนไทยมีอิสระในหัวใจมากกว่าคนญี่ปุ่นเยอะ
แล้วตอนนี้คุณวางเป้าหมายชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้าง
อย่างแรกเลยคงต้องไปหาโรงเรียนเรียนภาษาไทยจริงๆ สักที คิดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ทำสักที แล้วก็อยากไปช่วยเด็กที่บ้านนอกที่ไม่เคยไปดูละครใบ้ ผมตั้งใจไปทำให้เขาดู และก่อนหน้าผมเคยไปแสดงที่โรงเรียนคนหูหนวก พูดไม่ได้ ซึ่งเวลาเราแสดงเขาเข้าใจนะ แล้วก็ดีใจมากที่เราไปแสดง อย่างห้องหนึ่งจุได้ 200 คน แต่มีคนมาดูถึง 600 คนเลย
ก็คืองานแบบเดิม เหมือนสมัยที่มาเมืองไทยครั้งแรก
ใช่ เปลี่ยนๆๆๆๆ ก็กลับมาที่เดิม (หัวเราะ) แล้วตอนนี้ผมกำลังคิดจะทำ Story ใหม่ หลังจากที่ไม่ได้เขียนมา 3 ปีแล้ว แต่ยังคิดไม่ออก และพอที่ญี่ปุ่นเกิดสึนามิขึ้นมา กำลังใจมันหายไปหมดเลย แต่ผมก็มีโครงการเหมือนกันนะว่าอยากจะทำ Charity Shows (งานแสดงการกุศล) เพื่อช่วยเหลือเหยื่อที่โดนสึนามิ ตอนนี้ก็กำลังคุยกับเพื่อนๆ กันอยู่
อย่างนี้ตอนทราบข่าวเรื่องนี้ครั้งแรก คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง
ก็ตกใจเหมือนกัน เพราะมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่โชคดีที่บ้านผมไม่เป็นอะไรนะ เพราะมันอยู่อีกด้านหนึ่ง แต่เขาว่าอีก 5-10 ปีก็มีโอกาสจะเปลี่ยนทิศได้เหมือนกัน
ตอนนั้นได้กลับไปบ้างไหม
(ส่ายหน้า)
แล้วไม่คิดถึงบ้านเหรอ
ไม่ค่อยคิดถึงเท่าไหร่ คือส่วนใหญ่ผมจะกลับไปเฉพาะช่วงที่มีธุระ แต่แปลกนะผมจะรู้สึกอยากกลับญี่ปุ่นทุกครั้งเวลาถึงช่วงหน้าหนาว
ก็อย่างช่วงนี้เลย?
(หัวเราะ) ไม่รู้ตอนนี้ที่นั่นจะมีหิมะหรือเปล่า เพราะผมอยากไปดูหิมะ
>>>>>>>>>>
…......
เรื่อง : สุทธิโชค จรรยาอังกูร
ภาพ : พลภัทร วรรณดี