xs
xsm
sm
md
lg

ปกิณกธรรม : วิธีสู่เส้นทางร่ำรวยอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมไว้หมวดหนึ่ง เรียกชื่อ ว่า “อนุปุพพิกถา ๕” คือการแสดงธรรมไปตามลำดับ เพื่ออบรมบ่มเพาะอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีต และยกระดับจิตของผู้ฟังให้สูงขึ้นไปตามลำดับ เพื่อนำจิตของ ผู้ฟังไปสู่กระแสแห่งธรรม เมื่อแน่วแน่แล้ว พระองค์ก็จะตรัสแสดงอริยสัจ ๔ ต่อท้ายพระธรรมเทศนานี้ทุกครั้ง เพื่อการบรรลุธรรมอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือพระนิพพานนั่นเอง
อนุปุพพิกถา ๕ มีความดังจะกล่าวต่อไปนี้
๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน ในภาษาไทยของเรา การให้ใช้แตกต่างกันไป คือ ให้หรือถวายแก่พระภิกษุสามเณร เรียกว่าทำบุญ ให้แก่คนทั่วไปใช้ว่า ให้ทาน จึงมักจะได้ยินกันเสมอว่า ของนี้ไว้สำหรับทำบุญ ของนี้ไว้สำหรับให้ทาน ไม่ว่าจะเรียกว่าทำบุญหรือให้ทาน เนื้อแท้ก็คือ การสละสิ่งของของตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็น การสงเคราะห์อนุเคราะห์แก่ผู้ที่ประสบความทุกข์ยากให้ได้ รับความสุข เพราะฉะนั้น การให้จึงเป็นการเฉลี่ยความสุข ให้แก่คนอื่น เมื่อเราให้เขามีความสุข เราก็พลอยมีความสุข ไปกับเขาด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ให้ทานแล้วจะได้อะไร ก็ตอบได้ว่าได้ความสุขใจ ส่วนอื่นใดที่จะได้รับเพราะอานิสงส์แห่งการให้ทานนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทานการให้จึงถือเป็นหนทางแห่งบุญคือความสุข ดังบาลีว่า สุโข ปุญณัสสะ อุจจาโย การสั่งสมบุญนำมาซึ่งความสุข
อนึ่ง ทานการให้นั้น จุดมุ่งหมายก็เพื่อกำจัดความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัวให้ลดน้อยลง ความโลภลดน้อยลง ความคิดจะเบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่นก็ลดน้อยลง ขณะเดียวกัน เมื่อความอนุเคราะห์ช่วยเหลือกันเกิดขึ้นแทนที่ความตระหนี่ ความเห็นแก่ตัว และความโลภ คนเราก็อยู่กันด้วยความปรารถนาดี สังคมราบรื่น ไม่มีพิษภัยต่อกัน ความเป็นมิตรก็จะเกิดขึ้นทุกที่ มีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็มีความสุข ละโลกนี้ไปก็มีความสุขในสวรรค์ เพราะ ดำเนินไปตามการให้ทานอย่างแท้จริง
แต่การให้ทาน แล้วหวังผลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเกินเหตุ เช่น ทำบุญให้ทานเล็กน้อย ก็หวังผลมากมาย ขอให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ หวังว่าชาติหน้าให้เกิดในสวรรค์ หรือเกิดมาร่ำรวย เป็นต้น การทำบุญให้ทานลักษณะนี้ เป็นการทำเพื่อจะได้ ทำเพื่อหวังผลตอบแทน ก็เท่ากับเร่งเร้าความโลภให้เกิดแก่จิตใจตนมากขึ้น มันจะโลภมากกว่าการไม่ทำบุญให้ทานเสียด้วยซ้ำไป นี่คือเส้นผมบังภูเขา ไม่ทำบุญทำทาน โลภน้อย พอทำบุญทำทานแล้วโลภมากเข้าไปอีก
๒. สีลกถา ว่าด้วยคุณของศีล พระพุทธองค์ทรงแสดง ถึงศีล คือการรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ไม่ใช้ร่างกายประทุษร้ายคนอื่น สัตว์อื่น เป็นต้น วาจาไม่พูดปดหรือพูด ส่อเสียด ยุยงให้เกิดความแตกแยกกันในหมู่ชน ตั้งแต่กลุ่มย่อยไปจนถึงชนกลุ่มใหญ่ คือ ประเทศชาติ บ้านเมือง ที่วุ่นวายก็เพราะคนเราไม่รักษาศีล เคยถามพระว่า เพราะอะไรคนจึงไม่รักษาศีล ท่านก็บกว่า ศีลมันหนักรับไว้ไม่ไหว ให้ไปแล้วรักษาไม่ได้” ท่านพูดสั้นๆ แต่ลึกซึ้งพอสมควร ยากแก่การปฏิเสธ เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาของสังคมต้องแก้ให้คนมีศีล อย่าไปแก้ที่กฎหมาย เพราะกฎหมายบางอย่างนั้นแก้แล้วได้ประโยชน์แก่คนกลุ่มหนึ่ง หรือบางพวกบางหมู่เท่านั้น ไม่ได้อำนวยประโยชน์แก่คนส่วนรวมอย่างแท้จริง ถ้าแก้ให้คนมีศีลได้เมื่อไร สังคมสงบ เรียบร้อย เพราะอย่างศีล ๕ นั้น ถือเป็นกฎแห่งสากลจักรวาลเลยทีเดียว จะไปอยู่ที่ไหนในโลกนี้ ถ้ามีศีล ๕ ข้อแล้ว อยู่ได้หมดทุกแห่งไม่มีปัญหา
เพราะฉะนั้น ศีลจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้มีให้เกิดขึ้นในจิตใจ เพราะศีลนำให้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ คือเป็นเหตุนำมาซึ่งความสมบูรณ์แห่งโภคทรัพย์ทั้งหลาย ศีลนำไปสู่ความดับเย็น คือ พระนิพพาน
๓. สัคคกถา ว่าด้วยสวรรค์ อันหมายถึงความงดงามของจิตใจ และอารมณ์ความรู้สึกที่น่าเพลิดเพลินยินดี มีความพรั่งพร้อมด้วยความสุขที่ต้องการดังที่ใจปรารถนา บางครั้งคำว่าสวรรค์ก็หมายถึงคุณธรรมที่เกิดขึ้นในจิตของมนุษย์ที่มีหิริโอตตัปปะ คือความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปอยู่ในใจ ก็เรียกว่าเป็นเทวดา และที่หมายถึงปรโลก คือ โลกอื่นที่บุคคลจะไปบังเกิดด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมที่ทำไว้ เช่น การให้ทาน และการรักษาศีล เป็นต้นดังกล่าวแล้ว
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษแห่งกามทั้งหลาย เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสวรรค์ อันเป็นที่รื่นเริงบันเทิงใจ ที่มนุษย์พากันหลงใหล อยากได้อยากเป็นไม่รู้จบแล้ว พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าสวรรค์นั้นเป็นกามสุข แม้จะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่น่าปรารถนา น่าพอใจ แม้จะเป็นสุขด้วยความเป็นของทิพย์ แต่ว่าสิ่งเหล่านั้นก็มากด้วยเวรมากด้วยภัย ด้วยว่าทิพยสุขนั้นล้วนมีความปรวนแปรไป เปลี่ยนแปลงไป สวรรค์เองก็ตกอยู่ในความ เป็นอนิจจัง หาความยั่งยืนอะไรไม่ได้ รวมถึงเทวดาทั้งหลายนั้น ก็ไม่ต่างจากมนุษย์เท่าใดนัก เพราะยังมีโลภ โกรธ หลง อยู่เต็มอัตรา ในหมู่ของเทวดาเองก็มีความขัดแย้งแก่งแย่งกันในเรื่องต่างๆ ไม่ต่างจากโลกมนุษย์ เช่น เทพอัปสรตนหนึ่งอุบัติขึ้นบนสวรรค์ แต่ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า เขตแดนที่ตนอุบัติขึ้นนั้น เป็นของเทพบุตรตนใด เทพบุตรที่มีเขตแดนใกล้เคียงกันก็อ้างตนเป็นเจ้าของนางเทพ อัปสรตนนั้น ร้อนถึงท้าวสักกะจอมเทพต้องตัดสินชี้ขาด ว่า เทพอัปสรควรเป็นสมบัติของใคร เป็นต้น เมื่อทรงชี้โทษของกามารมณ์ อันเป็นทิพย์ที่ไม่ควรจะไปหลงติดอยู่ ควรถอนตนออกมาเสียให้พ้น
๕. เนกขัมมานิสงส์ คือ อานิสงส์ของการออกจากกาม เป็นที่ปลอดเวรปลอดภัยโดยประการทั้งปวง มีความสงบเยือกเย็น ไม่รุ่มร้อนฟุ้งซ่านในอารมณ์ต่างๆ มีอิสระทางจิต ไม่เกาะเกี่ยวผูกพันอยู่กับกามคุณทั้งหลายอีกต่อไป และเมื่อจิตของผู้ฟังน้อมไปสู่กระแสแห่งธรรมแล้ว พระองค์ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ
๑. ทุกข์ คือความเดือดร้อน
๒. เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความอยากในกาม ความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ และการไม่อยากเป็นเป็นนี่
๓. การดับทุกข์ คือ การดับตัณหาให้หมดไปเรียกว่านิโรธ
๔. ปฏิปทาแห่งการนำไปสู่การดับทุกข์ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา
อนุปุพพิกถานี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ยสกุลบุตร บุตรเศรษฐีแห่งเมืองพาราณสี เป็นครั้งแรก จนพระยสะได้ดวงตาเห็นธรรมและออกบวชในพุทธศาสนา การที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมนี้แก่พระยสะ เพราะท่านมีความสุขพรั่งพร้อมในฆราวาสวิสัย จึงเป็นการง่ายที่จะมอง เห็นธรรมเทศนานี้
ธรรม ๓ ข้อต้น คือ ทาน ศีล สัคคกถา เป็นโลกียธรรม เหมาะแก่ฆราวาสผู้ครองเรือน คือ ร่ำรวยด้วยทานศีล เป็นความรวยที่ยั่งยืน ส่วนธรรมที่เหลือทั้งหมดเป็นโลกุตรธรรม เหมาะแก่ผู้แสวงหาความหลุดพ้น คือ พระนิพพานอย่างแท้จริง

จากธรรมลีลา
ฉบับที่ 103 มิถุนายน 2552
โดย ธมฺมจจรถ
กำลังโหลดความคิดเห็น