xs
xsm
sm
md
lg

ปกิณกธรรม : คติธรรมในพระมหาชนก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์ โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความ เหนื่อยยากแต่ประการใด ด้วยทรงหวังให้พสกนิกรทุกหมู่ เหล่าได้มีความผาสุก ประเทศชาติสงบร่มเย็น ต้องด้วยพระราชปณิธานในปฐมบรมราชโองการว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นธรรมิกราชาโดยแท้ ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนามั่นคงและแรงกล้า ได้ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเต็มกำลังพระราชศรัทธา ทรงสนพระทัยศึกษาหลักธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และได้ทรงแสดงออกถึงหลักความคิดทางพระพุทธศาสนาแก่สาธารณชนให้ปรากฏอยู่ เนืองๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
ในเรื่องที่เกี่ยวกับหลักธรรมโดยตรงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก ที่พระองค์ทรงสดับพระธรรมเทศนาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ธมฺมสาโร มหาเถร) วัดราชผาติการาม แล้วทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎก (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกายชาดก เล่มที่ ๔ ภาคที่ ๒) และทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากพระมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่องโดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ และทรง พระกรุณาโปรด เกล้าฯ ให้พิมพ์ ในโอกาสเฉลิมฉลองกาญจนาภิเษกแห่งรัชกาล ให้เป็นเครื่อง พิจารณาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของสาธุชนทั้งหลาย โดยผู้เขียนจะขอนำคติธรรมบางประการมากล่าวไว้ในที่นี้
เรื่องพระมหาชนกชาดกได้กล่าว ถึงความเพียรเป็นสำคัญ คือ พระมหาชนกนั้นทรงเรียนไตรเพทและศิลปศาสตร์ทั้งปวงจบภายในพระชนม์ ๑๖ ปี และคิดจะเอาสมบัติของพระราชบิดาคืนมา จึงทูลถามพระราชมารดาว่ามีพระราชทรัพย์อยู่บ้างหรือไม่ เมื่อพระราชมารดาตรัสตอบว่ามีอยู่ ก็ขอพระราชทรัพย์นั้นเพียงกึ่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นทุนทำการค้า เมื่อได้ทรัพย์จากการค้า ก็จะนำมาใช้ในการกู้ราชบัลลังก์ของพระราชบิดาคืนมา พระราชมารดาทรงทัดทานว่า อย่าไปทำการค้าขายในเมืองสุวรรณภูมิเลย เพราะมหาสมุทรมีภัยมาก ทรัพย์ที่มีอยู่นี้มากพอจะกู้ราชสมบัติ แต่พระมหาชนกทรงยืนยันที่จะไปทำการค้าให้ได้
ที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า พระมหาชนก นั้นทรงมีความพากเพียรอย่างยิ่ง เพราะพระชันษา ๑๖ ปี ก็เรียนจบศิลปศาสตร์ และทรงคิดทำการค้า โดยทรงพึ่งพาพระราชทรัพย์ของพระมารดาเพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น
เมื่อพระมหาชนก ทรงออกเรือไปยังเมืองสุวรรณภูมิพร้อมด้วยพวกวาณิช ๗๐๐ คน ในวันที่เจ็ดเรือถูกพายุอับปางลง พวกวาณิชทั้งหลายกลัวต่อความตาย ร้องไห้คร่ำครวญ อ้อนวอนเทวดาให้มาช่วย โดยไม่คิดจะช่วยตนเองเลย จึงตกเป็นอาหารของฝูงปลาในมหาสมุทร เหลือเพียงพระมหาชนกเท่านั้นที่ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์นั้น ไม่ร้องไห้คร่ำครวญ ไม่อ้อนวอนเทวดาให้มาช่วย ปีนขึ้นเสากระ-โดงเรือแล้วกระโดด ไปไกล ๗๐ เมตร เพราะทรงมีพระกำลังมาก ไม่ตกเป็นเหยื่อ ของฝูงปลา
ข้อนี้จะเห็นได้ว่า คนธรรมดาทั่วไป เมื่อประสบอันตราย แล้วมักขาดสติในการที่จะทำตนให้พ้นอันตราย ชอบบนบานเทวดาให้มาช่วยโดยไม่คิดช่วยตนเองเลย เทวดาก็ไม่อยากช่วยคนประเภทนี้ เพราะคนพวกนี้มีมากเกินกว่าจะช่วย และต้องช่วยกันไม่หยุดหย่อน แต่พระมหาชนกหาเป็นเช่นนั้นไม่ จะเห็นได้ว่าพระองค์ได้ว่ายน้ำอยู่เจ็ดวันเจ็ดคืน แม้เทพธิดามณีเมขลา จะปรากฏเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ ก็มิได้ทรงขอร้องให้เทพธิดามณีเมขลาช่วยแต่อย่างใด คงว่ายเป็นปกติของพระองค์ จนเทพธิดาตรัสว่า “นี่ใคร เมื่อแลไม่เห็นฝั่งยังอุตส่าห์พยายามว่ายอยู่ท่าม กลางมหาสมุทร ท่านรู้อำนาจประโยชน์อะไร จึงพยายามว่ายอยู่อย่างนี้นักหนา”
พระมหาชนกตรัสว่า “ดูก่อนเทวดา เราไตร่ตรองเห็นปฏิปทาแห่งโลก และอานิสงส์ แห่งความเพียร เพราะฉะนั้นถึงมองไม่เห็นฝั่ง เราก็ต้องพยายามว่ายอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร”
แม้ว่าเทพธิดามณีเมขลา จะทัดทานว่า ความพยายาม ของพระมหาชนกนั้นจะไร้ผล และจะสิ้นพระชนม์อยู่ในมหาสมุทร พระมหาชนกก็มิได้ทรงลดละความพยายามยืนยันจะว่ายน้ำเรื่อยไปจนกว่าจะถึงฝั่ง หรือถ้าสิ้นพระชนม์ เสียก่อน ก็ได้ชื่อว่าไม่ละความเพียร ใช้ชีวิตอย่างไม่เป็นหนี้ และทรงแสดงเหตุผลของความเพียรเป็นอเนกประการ จนเทพธิดามีความเลื่อมใสในถ้อยกถาของพระมหาสัตว์ จึงได้ อุ้มพระองค์เหาะไปวางไว้บนแท่นศิลาในพระราชอุทยาน กรุงมิถิลา และได้อภิเษกเป็นพระราชาในเวลาต่อมา
ปฏิปทาของพระมหาชนกที่กล่าวมานี้ เป็นหลักคิดของพระพุทธเจ้า แม้ทุกข์ยากลำบากและมีคนพอจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ก็ไม่ทรงร้องขอให้ช่วย และแสดงความจริงใจในการที่จะต่อสู้กับความยากลำบากนั้นอย่างถึงที่สุด ก็คือ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งของตน ถ้าตนพึ่งตนไม่ได้ เทวดาที่ไหนก็ไม่อยากช่วย
พระมหาชนกทรงบำเพ็ญทศพิธราชธรรม ครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงมีพระราชโอรส พระนามว่า ทีฆาวุราชกุมาร อันเกิดแต่พระนางสีวลีเทวี เมื่อพระราชกุมารทรงเจริญวัย พระราชทานอุปราชาภิเษก แล้วครองราชสมบัติอยู่เจ็ดพันปี
การที่พระมหาชนกจะเสด็จออกทรงแสวงหาโมกขธรรม ยังไม่ถึงวาระเวลาอันสมควร เพราะยังทรงสร้างความ เจริญแก่มิถิลาไม่ครบถ้วน คือ ข้าราชบริพารตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับล่าง ล้วนจาริกในโมหภูมิทั้งนั้น ไม่มีความรู้ทางวิทยาการและปัญญา ยังไม่เห็นประโยชน์แท้ของตนเอง จึงต้องตั้งสถานศึกษาอบรมสั่งสอนให้เบ็ดเสร็จ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสดับพระธรรมเทศนา แล้ว มิได้ทรงเก็บไว้กับพระองค์ หากแต่ยังทรงเผยแผ่ธรรมนั้นแก่พสกนิกรของพระองค์ด้วย เพราะว่า
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
การให้ธรรมะย่อมชนะการให้ทั้งปวง

ทีฆายุโก โหตุ มหาราชา

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 97 ธ.ค. 51 โดยธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น