พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร นำนาฏกรรมร่วมสมัย “พระมหาชนก” จากคณะโกมลกูณฑ์ มาแสดงบนเวทีทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 ตุลาคม 2551 เพื่อเป็นคติเตือนใจในเรื่องความเพียรซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จในที่สุด
สำหรับเรื่อง พระมหาชนก เป็นมหาชาติลำดับที่ 2 ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะเสวยชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะและบรรลุปรินิพพาน โดยในพระชาตินี้ พระองค์ทรงบำเพ็ญ “วิริยะบารมี” หรือความเพียร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในเรื่องนี้ จึงทรงค้นเรื่องพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษตรงจากมหาชนกชาดก ตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยทรงดัดแปลงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น
เรื่องย่อของพระมหาชนก มีว่า พระเจ้ามหาชนกกษัตริย์แห่งกรุงมิถิลา มีพระราชโอรสสองพระองค์ พระนามว่า อริฏฐชนก และ โปลชนก เมื่อสวรรคตแล้ว พระอริฏชนกได้ครองราชสมบัติและทรงตั้งพระโปลชนกเป็นอุปราช อมาตย์ผู้ใกล้ชิดได้กราบทูลใส่ร้ายว่า พระอุปราชโปลชนกคิดไม่ซื่อ พระอริฏฐชนกก็หลงเชื่อ สั่งจองจำพระโปลชนก แต่พระโปลชนกตั้งจิตอธิษฐานและหลบหนีไปได้ ภายหลังได้รวบรวมพลมาท้ารบและเอาชนะได้ในที่สุด พระอริฏฐชนกสิ้นพระชนม์ในที่รบ พระเทวีที่กำลังทรงครรภ์จึงปลอมตัวหนีออกนอกเมือง ด้วยความช่วยเหลือของท้าวสักกเทวราชจึงเสด็จหนีไปจนถึงเมืองกาลจัมปากะ ได้พราหมณ์ผู้หนึ่งอุปการะไว้ในฐานะน้องสาว ต่อมาทรงมีพระประสูติกาล ตั้งพระนามพระโอรสตามพระอัยยิกาว่า “มหาชนก”
จวบจนกระทั่งมหาชนกเติบใหญ่ และได้ทราบความจริงก็คิดจะไปค้าขายตั้งตัว แล้วจะไปเอาราชสมบัติคืน จึงนำสมบัติกึ่งหนึ่งของพระมารดาไปขาย แลกเป็นสินค้าออกเรือไปยังสุวรรณภูมิ ระหว่างทางในมหาสมุทร เรือต้องพายุล่มลง ลูกเรือตายหมดยังแต่พระมหาชนกรอดผู้เดียว ทรงอดทนว่ายน้ำในมหาสมุทรด้วยความเพียร 7 วัน 7 คืน จนได้พบนางมณีเมขลา และสนทนาธรรมในเรื่องของความเพียร ในที่สุดนางมณีเมขลาได้อุ้มพระมหาชนกไปส่งยังมิถิลานคร ฝ่ายมิถิลานคร พระโปลชนกได้สวรรคตเหลือเพียงพระราชธิดานาม “สีวลีเทวี” ก่อนสวรรคตทรงตั้งปริศนาเรื่องขุมทรัพย์ทั้งสิบหกไว้สำหรับผู้จะขึ้นครองราชย์ต่อไป แต่ไม่มีผู้ใดไขปริศนาได้ เหล่าอมาตย์จึงได้ประชุมกันแล้วปล่อยราชรถ ราชรถก็แล่นไปยังที่มหาชนกบรรทมอยู่ เหล่าอมาตย์จึงเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ และอภิเษกกับสีวลีเทวี ทรงไขปริศนาต่างๆ ได้ และทรงครองราชสมบัติโดยธรรม