xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปินกับศิลปะ : พระทรงเป็น ‘กำลังของแผ่นดิน’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพื่อให้ผู้คนทั่วไปได้สัมผัสกับพระจริยวัตรอันงดงามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านงานศิลปะ เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ‘วัชระ ประยูรคำ’ ประติมากรชื่อดังชาว อ.บ้านแท่น จ.ชัยภูมิ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สร้างผลงานประติมากรรมรูปเหมือนต้นแบบดินน้ำมันขึ้นมาชุดหนึ่ง และจัดแสดงผ่านนิทรรศการ ‘ประดุจฟ้า โน้มลงสู่ดิน’ ณ แกลเลอรี่แห่งหนึ่ง บนพื้นที่ของอาคารเดอะสีลม แกลเลอเรีย
ก่อนที่ในเวลาต่อมาผลงานหลายชิ้นของเขาจะถูกนำมาหล่อด้วยบรอนซ์ และถูกซื้อไป โดยนักสะสมและสถาบันการศึกษา
วัชระเป็นประติมากรที่ฝากผลงานการปั้นอนุสาวรีย์หลายแห่ง อาทิ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่เกาะสีชัง พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พระราชานุสาวรีย์สมเด็จย่า จ.ปัตตานี พระบรมราชานุสาวรีย์พระนเรศวรทรงช้าง (สเก็ตช์ต้นแบบ) อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี อนุสาวรีย์ อ.ปรีดี พนมยงค์ และ อ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต และเคยร่วมงานกับประติมากรผู้ล่วงลับ ‘ไข่มุกข์ ชูโต’ ปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย จ.พระนครศรีอยุธยา
เขากล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานที่สร้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อนว่า มาจากกระแสพระราชดำรัสในเรื่อง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ช่วยให้ทุกคนดำเนินชีวิตอย่างมีสติในภาวะเศรษฐกิจที่ล้มครืนลง
ขณะที่ผลงานส่วนหนึ่งของนิทรรศการ วัชระได้ปั้นกษัตริย์ในราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ เพื่อให้ผู้ชมได้รำลึกถึงคุณงามความดีในด้านต่างๆ รวมถึงการนำพาประเทศให้รอดพ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม
ผลงานส่วนใหญ่วัชระได้ปั้นพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระอิริยาบถต่างๆ นับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กระทั่งปัจจุบัน ที่ทำให้หลายคนได้หลับตานึกถึงพระอิริยาบถดังกล่าว ที่เคยเห็นผ่านสื่ออื่นๆมาแล้วก่อนหน้า อาทิ พระบรมรูปเมื่อครั้งทรงเป็นยุวกษัตริย์ พระบรมรูปขณะทรงผนวชพระบรมรูปขณะทรงเรือใบ พระบรมรูปขณะที่ทรงโน้มพระวรกายลงรับดอกไม้ จากคุณยายในท้องถิ่นทุรกันดารท่านหนึ่งที่มารอเฝ้ารับเสด็จ
เพราะผลงานประติมากรรมส่วนใหญ่ของวัชระคือการสร้างอนุสาวรีย์สดุดีคน ดี จึงทำให้วัชระมีความสนใจที่จะศึกษาและนำเสนอเรื่องราวของคนดีในด้านต่างๆ ผ่านผลงานของเขาเรื่อยมา รวมถึงพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของชาวไทยทุกคน
“ผมสนใจว่า สิ่งต่างๆที่จะสร้างให้คนเป็นคนดี เป็น King หรือเป็นกษัตริย์ของโลก มันเกิดจากอะไร แต่ผมจะไม่ถึงขนาดนำเสนอแบบฟันธงหรอกว่าคืออะไร แต่ให้ทุกคนที่ทราบถึงพระราชประวัติของพระองค์ท่านดีอยู่แล้วได้ตีความเอง ผลงานของผมเปรียบเหมือนบทเพลงหนึ่งที่บรรเลงขึ้นมา แล้วปล่อยให้คนดูได้จินตนาการเอง”
เวลานี้ผลงานหลายชิ้น ที่วัชระได้เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวด้วย ยังทำให้ย้อนนึกถึงความ รู้สึกหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นขณะสร้างงาน
“ชิ้นที่ปั้นพระบรมรูปพระองค์ท่านกับคุณยาย เป็นชิ้นที่ปั้นยากมาก เพราะปั้นคนยืนตรงๆก็ยากอยู่แล้ว แต่ต้องปั้นพระองค์ท่านขณะแย้มพระสรวลและโน้มพระวรกายลงมารับดอกไม้จากคุณยาย ต้องปั้นให้คนดูรู้สึกว่าเป็นคุณยายแก่ๆท่านหนึ่งจริงๆ มันไม่ง่ายเลย”
พระบรมรูปขณะทรงผนวช วัชระปั้นพระองค์ท่านในอิริยาบถขณะทรงหลับตา เพื่อที่จะสื่อนัยหนึ่งถึงคนดูด้วยว่า
“พระองค์ท่านใช้ธรรมะในหน้าที่ของกษัตริย์มาข่มจิตของพระองค์เอง แม้ประเทศจะต้องพบเจอกับอุปสรรค และปัญหามากมาย ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา”

พระบรมรูปขณะทรงเรือใบมด อันเป็นเรือใบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงออกแบบและทรงต่อขึ้นมาด้วยพระองค์เอง ระหว่างที่สร้างงานชิ้นนี้วัชระนึกไปถึงบทพระราชนิพนธ์เรื่องพระมหาชนก
“นัยของการแล่นเรือ ถ้าเราไม่รู้ว่าเรือเราแข็งแรงแค่ไหน เราก็ไม่รู้ว่าเราจะสู้กับอุปสรรคข้างหน้าได้หรือเปล่า ถ้าเกิดเรารู้ว่าเรือเราพร้อม เราตอกตะปูด้วยตัวเอง เราก็จะกล้าที่จะไปปะทะกับอุปสรรคที่มันจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เพราะเรารู้ว่าเรือของเราแข็งแรง รับกับคลื่นที่เป็นอุปสรรคนั้นได้มากน้อยแค่ไหน ผมพยายามจะซ่อนปรัชญาตรงนั้นเข้าไปด้วย”
นอกเหนือจะเป็นโอกาสดีในการศึกษาพระราชประวัติอย่างลงลึกเพื่อนำมาใช้เป็นแนวความคิดในการสร้างผลงาน ช่วงเวลาหนึ่งของการสร้างผลงานที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านยังส่งผลให้ตัวเขาในวันนี้มีสติในการคิดทำสิ่งต่างๆในชีวิต
“เราปั้นคนดี คนที่ยิ่งใหญ่ มันส่งผลให้เราปฏิบัติตนอย่างคนที่กลัวบาป ทำอะไรก็ยับยั้งใจได้ และมีสติ เราจะไม่ไปทำอะไรที่จะก่อให้เกิดความเสียหายและเสื่อมเสีย สำหรับผมแล้ว พระองค์ ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีของความเป็นมนุษย์ แม้พระองค์ท่านจะเป็นกษัตริย์ที่สามารถชี้นกให้เป็นไม้ สามารถมีในทุกสิ่งที่ต้องการ แต่พระองค์ท่านก็อยู่ในหน้าที่ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับราษฎร”
เขาก็ไม่ต่างจากคนทั่วไปที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นเสมือนหนึ่งกำลังใจอันสำคัญ ในการคิดทำสิ่งดีเพื่อผู้อื่น
ดังนั้น การที่เขาเลือกดินน้ำมันเป็นสื่อในการปั้นพระบรมรูป เหตุผลไม่เพียงต้องการให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความนุ่มนวล ความอบอุ่น และความบริสุทธิ์ของดินน้ำมัน
แต่ยังมีที่มาจากคำว่า “ภูมิพล” พระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีความหมายอันยิ่งใหญ่ว่า “กำลังของแผ่นดิน”

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 97 ธ.ค. 51 โดยฮักก้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น