xs
xsm
sm
md
lg

ปกิณกธรรม : สงคราม และ สันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไม่ว่ายุคสมัยใด โลกย่อมไม่อาจจะหลีกพ้นจากการเบียดเบียนกันของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย มนุษย์เบียดเบียนมนุษย์ด้วยกันเองก็มี มนุษย์เบียดเบียนสัตว์ และสัตว์ถูกเบียดเบียนโดยมนุษย์ก็มี จึงทำให้เห็นสัจธรรม ประการหนึ่งก็คือ “โลกไม่ว่างเว้นจากการเบียดเบียนกัน”
การเบียดเบียนดังกล่าวข้างต้นนี้ ถ้าเป็นการเบียดเบียน กันในวงจำกัดในที่แคบ ก็ดูว่าจะไม่ส่งผลต่อสังคมมากนัก แต่การเบียดเบียนที่เกิดขึ้นและขยายตัวออกไปด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธที่มีอานุภาพรุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ตาม นั่นก็คือสงคราม ซึ่งมีชื่อเรียกกันอย่างมากมาย ตามรูปแบบของการรบ เช่น สงครามย่อยๆไปสู่สงครามใหญ่ จนกลายเป็นสงครามโลกในที่สุด ที่มนุษย์ได้เผชิญหน้ามาแล้วถึงสองครั้ง
พระพุทธเจ้าทรงมีความชัดเจนในเรื่องการเมือง การสงครามและสันติภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่รู้และเข้าใจกันดีในหมู่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา และผู้ศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาว่า พระพุทธศาสนานั้นประกาศและเผยแผ่อหิงสธรรม คือ การไม่เบียดเบียน และสันติภาพจะเห็นได้จากศีล 5 เป็นต้น อันถือเป็นศาสตร์สากล โดยเป็นศาสนาที่คัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงโดยประการ ทั้งปวง ไม่ว่าการรุนแรงนั้นจะถึงขั้นทำให้คนได้รับบาดเจ็บ เล็กน้อย สูญเสียอวัยวะ หรือสูญเสียชีวิตก็ตาม
สงครามฝ่ายธรรม จึงมักถูกเรียกขาน หรือบัญญัติขึ้นมาอย่างผิดๆ เพียงเพื่อแสดงความชอบธรรม และข้อแก้ตัว ให้แก่ความโกรธ ความโหดร้ายทารุณ การสังหารหมู่ ใคร จะตัดสินได้ว่า ฝ่ายใดเป็น ‘ธรรม’ หรือฝ่ายใดเป็น ‘อธรรม’
ผู้ที่เข้มแข็งและเป็นฝ่ายชนะ คือ ฝ่าย ‘ธรรม’ ส่วนผู้ที่ อ่อนแอและเป็นผู้แพ้ คือ ฝ่าย ‘อธรรม’ สงครามของตนเป็น ฝ่ายธรรม และสงครามของฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายอธรรม ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้ในโลกปัจจุบัน แต่พระพุทธศาสนาไม่ยอมรับจุดยืนแบบนี้ และปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
พระพุทธเจ้าทรงยืนยัน และทรงยืนหยัดอย่างหนัก แน่นในอหิงสธรรมและสันติภาพ พระองค์ทรงปฏิเสธการฆ่าสัตว์ เพื่อบูชายัญต่อเทพเจ้า เพื่อให้เทพเจ้าประทานความสุขและสวัสดิมงคลแก่ผู้บูชายัญ เป็นการเบียดเบียนสัตว์อื่นและเป็นบาป และทรงถามกลับไปยังผู้บูชายัญว่า
“ถ้าการฆ่าสัตว์บูชายัญเป็นความดี เป็นบุญ ทำไมมนุษย์ไม่ฆ่าปิยชนคนที่ตนรัก เพื่อบูชายัญบ้าง จะได้รับความสุข และสวัสดิมงคลมากกว่าฆ่าสัตว์บูชายัญ”
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแสวงหาความสุขสวัสดีนั้น ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น
ด้วยคำถามกลับเช่นนี้ จึงทำอินเดีย ปัจจุบันงดเว้นการฆ่าสัตว์บูชายัญลงไปมากทีเดียว
แม้ในการสงคราม พระองค์ก็ได้ปรากฏในท่ามกลางสนามรบ ทรงเข้าไปทำความเข้าใจต่อ คู่สงคราม ทรงปกป้องไม่ให้เกิดสงคราม ดังเช่น กรณีพิพาท ในการแย่งชิงน้ำในแม่น้ำโรหิณี ระหว่างฝ่ายศากยะและโกลิยะ ซึ่งเตรียมยกพลเข้ารบกัน พระองค์ตรัสถามทั้งสอง ฝ่ายว่า
“น้ำกับเลือดนั้น อย่างไหนมีค่ามากกว่ากัน”
ก็ทรงได้รับคำตอบว่า “เลือดมีค่ามากกว่า”
จึงตรัสถามต่อไปว่า “เมื่อเลือดมีค่ามากกว่า แล้วจะทำสงครามเข่นฆ่ากันทำไม”
ทั้งสองฝ่ายจึงยอมเลิกการทำสงคราม และให้มีการกำหนดแบ่งการใช้น้ำในแม่น้ำโรหิณี ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และด้วยการเสด็จห้ามสงครามในครั้งนั้น จึงทำให้เกิดพระพุทธรูปปางหนึ่ง เรียกว่า “ปางห้ามญาติ” ที่คนไทยเรารู้จักกันดี
อีกครั้งหนึ่ง พระเจ้าอชาตศัตรู ยกทัพไปตีเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ระหว่างทางเสด็จได้พบพระพุทธเจ้าประทับนั่งขวางทางอยู่ ก็ทรงรู้ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงให้ทำสงครามกับ แคว้นวัชชี จึงเสด็จยกพลกลับกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ แต่ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอชาต ศัตรู ได้กรีธาทัพไปตีแคว้นวัชชีได้ดังพระราชประสงค์
ในสมัยพุทธกาลก็เช่นเดียวกับสมัยปัจจุบัน ที่มีผู้ปกครองประเทศหรือเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ โดยขาด หลักความยุติธรรม ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงรังแก ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกลั่นแกล้งถึงตาย หรือถูกทรมานให้รับทุกข์แสนสาหัส โดยวิธีการลงโทษอย่างโหดเหี้ยม ถูกเรียกเก็บภาษีเกินขอบเขต ยกเว้นภาษีแก่พวกตน และเอื้อประโยชน์แก่ตนและพวกพ้องของตนอย่างไร้ความละอาย
พระพุทธเจ้าทรงสลดพระทัยต่อการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมเหล่านี้ พระองค์ตรัสชาดก ไว้ในพระธรรมบทเรื่องมหาปิงคลชาดก เป็นอุทาหรณ์ ถึงความไม่ชอบธรรมในการปกครองบ้านเมืองของผู้บริหารประเทศว่า
ในอดีตกาล พระเจ้ามหาปิงคล ไม่ดำรงอยู่ในความยุติธรรม ทรงปกครองประเทศด้วยความโหดเหี้ยม ประ ชาชนเดือดร้อนไปทั่ว เมื่อพระองค์สวรรคต ประชาชนต่างพากันมีงานเฉลิมฉลองกันทั่วเมือง ดีใจที่พ้นจากการกดขี่ข่มเหงของพระองค์ แต่มียามเฝ้าประตูพระราชวังคนหนึ่งยืนร้องไห้ พระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นพระราชาองค์ใหม่เสด็จเข้าไปตรัสถามว่า
“ร้องไห้คิดถึงพระเจ้ามหาปิงคลหรือ”
ยามเฝ้าประตูตอบว่า “หามิได้ ที่ร้องไห้อยู่นี้ เกรงว่า เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว จะไปเบียดเบียนยมบาลยมทูตให้เดือดร้อน พวกเขาก็จะส่งพระองค์กลับมาเกิดอีก ข้าพระองค์จึงร้องไห้เพราะเหตุนี้”
ข้อนี้แสดงว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองหรือรัฐบาลที่โหดร้ายต่อประชาชน ไม่ได้สร้างความทุกข์ร้อนแต่เฉพาะในโลกนี้ แม้ละโลกนี้ไปแล้ว คนก็ยังวิตกทุกข์ร้อนว่าจะกลับมาเกิด และทำความเดือดร้อนแก่เขาอีก
ทำอย่างไรโลกจึงจะได้รัฐบาลที่ไม่ก่อสงคราม แต่ยึด หลักอหิงสธรรมและสันติภาพอย่างพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยธมฺมจรถ)
กำลังโหลดความคิดเห็น