xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมปฏิบัติ ; ความโง่ ของคนโง่ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณก็ตรัสรู้ที่กาย กับใจนี่แหละ พระองค์ไม่ได้ตรัสรู้อย่างอื่นที่ไหนหรอก พระสงฆ์สาวกทั้งหลายสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็สำเร็จมรรคผลนิพพานที่กายกับใจนี่แหละ พวกเทพทั้งหลายมีแต่ใจเป็นพวกอทิสสมานกาย ไม่มีรูปปรากฏ พวกพรหมก็ไม่ปรากฏรูป ไม่มีรูป พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปตรัสรู้ไม่ได้ทรงสอนที่โน่นหรอก ทรงเทศนาสอนมนุษย์พวกเราที่มีกายหยาบๆเห็นกันอยู่ด้วยตานี่เอง
การเห็นด้วยตาเรียกว่า ทัศนะ มันยังเห็นไม่จริงไม่แท้ ต้องใจเข้าไปเห็นจึงจะเป็นการเห็นอย่างแท้จริง การเห็นด้วยใจจึงเรียกว่า ญาณทัสนะ คำว่า เห็นด้วยใจ คือ มันชัดด้วยใจนั่นเอง ถ้าไม่ชัดก็ไม่เรียกว่าเห็นด้วยใจ เมื่อเห็นชัดแล้ว กายมันเป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง เป็นทุกขังดังที่อธิบายในเบื้องต้น มันก็ปล่อยวางได้
นั่นคือปล่อยวางไว้ตามสภาพเดิมของมัน เห็นมันเป็น อนัตตาแล้วไม่ยึดถืออีก ปล่อยไปตามสภาพอนัตตา เห็นมันเป็นอนิจจังก็ไม่ยึดไว้ ปล่อยไปตามสภาพอนิจจัง มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป ก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน มันเป็นทุกขัง มันเกิดเป็นทุกข์เพราะเหตุที่มันแปรปรวนบังคับไม่ได้ ก็ปล่อยไปตาม เรื่องของทุกข์ จึงว่ามันเป็นจริงอย่างไรให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
ยถาภูตํ สมฺมปฺปญฺญาย ทฏฐพฺพํ ควรให้เห็นของสิ่งนั้นๆตามเป็นจริง
นี่จึงจะได้ชื่อว่าเรียนความโง่ ไม่ใช่เรียนความฉลาด มันโง่ตรงนี้ โง่ที่ไม่เห็นกายของเรา ไม่เห็นใจของเราเอง
แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ทุกๆคนที่เกิดขึ้นมาได้ชื่อว่าโง่ด้วยกันทั้งนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนแนะนำตักเตือนอะไรต่างๆ เพื่อให้รู้ความโง่นั่นแหละ ไม่ใช่เรียนความฉลาดหรอก ให้รู้ความโง่ทั้งนั้นแหละ อันของที่ไม่รู้จึงค่อยเรียน ความไม่รู้ความไม่เข้าใจนั่นแหละมันโง่ผู้ที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ทั้งปวงเขาไม่ถือว่าตนฉลาด ความโง่ ของคนเรามันยังลึกซึ้งละเอียดมากเหลือมาก ยิ่งเรียนเท่าไรยิ่งเห็นความโง่ของตนมากขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเรียนความโง่ ไม่ใช่สอนให้เราเรียนความฉลาด
เมื่อรู้จักโง่เห็นโง่แล้ว ความรู้นั้นแลเป็นความฉลาด การไม่เห็นความโง่ของตน แต่สำคัญว่าตนฉลาด นั่นยิ่งโง่เข้าทุกที เหตุนั้นการปฏิบัติของพวกเรา จงปฏิบัติตรงที่กายกับใจนี่แหละ อย่าส่งออกไปภายนอก ใครจะเรียนอะไรที่ไหนก็เรียนไปเถิด ถ้าเพ่งเข้ามาภายในตัวนั้นเรียกว่าเรียนความโง่ของตน อย่าส่งออกไปภายนอกก็แล้วกัน
การเรียนกัมมัฏฐานแบบต่างๆหลายเรื่องหลายอย่าง หลายครูหลายอาจารย์ เช่น ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง อานาปานสติ พุทโธ ทั้งหมดนี้ก็เรียนโง่ด้วยกันทั้งนั้น คือ เรียนให้เห็นตัวโง่ ตั้งใจให้มีสติควบคุมจิตที่มันนึกคิดที่มันปรุงแต่ง ให้รู้เรื่องของจิต ให้เห็นจิต รู้จักจิตเสียก่อน ถ้าไม่เห็นจิตมันก็รักษาจิตไว้ไม่ได้ คุมจิตไม่ได้ ชำระจิตไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าจิตมันคิดมันนึกปรุงแต่งอะไรบ้าง มันส่งส่ายไปไหนก็ไม่ทราบ
ใครๆก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่อง ของจิตทั้งนั้นแหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ ต้องเห็นตัวมันเสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง
อาการของใจ เรียกว่า จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุงแต่ง ผู้ส่งส่ายไปมาหน้าหลังสารพัดทุกอย่างรอบด้านรอบข้าง ผู้นั้นเหละเรียกว่า จิต เราเอาสติไปคุมไว้ให้รู้จิตนั้นอยู่เสมอๆตลอดเวลา เห็นจิตของตนอยู่เสมอว่าจิตเป็นอย่างไร มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด คิดปรุงแต่งอะไร ก็ให้รู้เห็นทุกขณะ ควบคุมมันอยู่อย่างนั้นเป็นนิจ เมื่อเห็นจิตแล้ว ควบคุมจิตอยู่แล้ว เวลาจะคิดก็ให้มันคิดได้ จะนึกก็ให้มันนึกได้ มีสติกำกับอยู่ว่าคิดว่านึก เวลาไม่ให้คิดไม่ให้นึกก็อยู่ได้ ไม่ให้ปรุงแต่งก็อยู่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บังคับจิตอยู่ อย่าให้จิตบังคับเรา
โดยทั่วไปจิตบังคับให้เรากระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เราอยู่ในอำนาจของจิต มันเป็นไปตามวิสัยอำนาจของจิต คนปุถุชนมันต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเรากำหนดสติควบคุมจิตได้แล้ว เราจึงไม่อยู่ในอำนาจของจิต แต่จิตอยู่ในอำนาจของเรา มันชักชวนไปทางดีทางชั่วอีกก็ไม่ให้ไป นิ่งอยู่ได้ เช่น มันชักชวนไปในทางชั่วให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้คิดประหัตประหารฆ่าตีเขา ก็บอกมันว่าไม่ดีอย่าทำ คิดทางดีให้สร้างบุญสร้างกุศลก็ไม่ให้ไป ให้อยู่คงที่ เมื่อหยุดส่งส่ายอยู่คงที่มันก็เข้าถึงใจ คือ ความเป็นกลาง
ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าจิตกับใจมันต่างกัน คนละอันกัน แต่แท้ที่จริงท่านพูดอันเดียวกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้น ใจอันใดจิตอันนั้น แต่ทำไมจึงเรียกว่าจิต ทำไมจึงเรียกว่าใจ ก็ลองคิดดูซิมันต้องมีแปลกกันอยู่ ใจมันต้องอยู่เฉยๆ คืออยู่กลาง สิ่งใดเป็นกลางๆจะเรียกสิ่งนั้นว่าใจ เช่นใจมือ ใจเท้า ก็ชี้ลงตรงกลางมือกลางเท้า ใจคนก็ชี้ลงท่ามกลางหน้าอก ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนหรอก แต่ชี้ลงท่ามกลางอกเรียกว่าใจ ที่เรียกว่าใจ คือมันอยู่ท่าม กลางสิ่งต่างๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ไม่คิดหยาบ ไม่คิดละเอียด ไม่ปรุงไม่แต่งอะไรทั้งหมด แต่มีความรู้สึกอยู่เฉยๆ ตรงนั้นแหละเป็นใจ
เมื่อเราตั้งสติกำหนดจิตที่มันกระสับกระส่ายดิ้นรน เดือดร้อนวุ่นวาย คอยควบคุมระวังตัวนั้นไว้จนหยุดดิ้นรน หยุดแส่ส่าย มีความรู้สึกเฉยๆ รู้สึกเฉพาะตัวของมันเองไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นแลเป็นใจตัวเดิมแท้
(แสดงธรรม ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๓)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น