xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อจิตวางการรู้สภาวธรรมอันปราศจากชื่อ
แล้วทวนกระแสความรับรู้กลับเข้าหาจิตอันเป็นธาตุรู้
ฉับพลันที่จิตย้อนมาเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง
อริยมรรคจะบังเกิดขึ้น 1 ขณะ

                  ครั้งที่ 08
จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลเป็นนิโรธ

4.2 'จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่าง แจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ'

ข้อความที่กล่าวข้างต้นมีหลายนัย คือ

4.2.1 ขั้นการเจริญบุพพภาคมรรค การที่ผู้ปฏิบัติมีจิตเห็นจิต (ที่จริงคือจิตดวงปัจจุบันมีสติไประลึกรู้จิตดวงที่เพิ่งดับไป) และเห็นแจ่มแจ้ง (คือมีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต) อยู่เนืองๆ นั้น คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยใช้จิตเป็นวิหารธรรม อย่างไรก็ตามไม่ใช่ว่าผู้ปฏิบัติทุกคนจำเป็นต้องใช้จิตเป็นวิหารธรรมเหมือนกันหมด แต่จะใช้กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต หรือธรรมในธรรม เป็นวิหารธรรมก็ได้ทั้งสิ้น ทั้งนี้ตามแต่จริตที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล การมีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งในขั้นบุพพภาคมรรคนี้ จึงมีเฉพาะผู้ที่ใช้จิตในจิตเป็นวิหารธรรมเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้น คือ ตทังคนิโรธ

4.2.2 ขั้นการเจริญมรรคเบื้องต้นทั้งสาม เมื่อเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนอินทรีย์ (คือศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา) แก่รอบเต็มที่แล้ว จิตจะรวมลงถึงอัปปนาสมาธิโดยไม่ได้จงใจ เมื่อจิตรวมลงถึง อัปปนาสมาธินั้น จิตย่อมรวมลงที่จิต ไม่ได้ไปรวมลงที่อื่น แต่เบื้องต้นจิตที่รวมลงแล้วนั้นยังส่งกระแสย้อนไปรู้รูปนามอีกสองสามขณะด้วยความคุ้นชิน แต่จิตในขณะนั้นมีขันติบริบูรณ์คือทนต่ออารมณ์ยั่วยวน ทั้งหลายนั้นได้ จึงไม่ปรุงแต่งสมมติบัญญัติหรือปฏิกิริยายินดียินร้ายใดๆ ขึ้นมาแม้แต่น้อย รวมทั้งมีปัญญาคล้อยตามอริยสัจว่ารูปนามนั้นเป็นกองทุกข์ เมื่อจิตเห็นแจ้ง รูปนามพอแล้ว (บางท่านพอด้วยการเห็นสภาวธรรม 2 ขณะ บางท่านต้องดูถึง 3 ขณะจึงพอ) จิตจะวางการรู้สภาวธรรมอันปราศจาก ชื่อนั้น แล้วทวนกระแสความรับรู้กลับเข้าหาจิตอันเป็นธาตุรู้ จุดนี้เองคือจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ซึ่งฉับพลันที่จิตย้อนมาเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งนั้นเอง อริยมรรคจะบังเกิดขึ้น 1 ขณะ โดยมีสัมมาสมาธิเป็นแกนกลางในการรวบรวมองค์มรรคทั้ง 7 ที่เหลือเข้าด้วยกันเป็นหนึ่ง จนเกิดพลังทำลายล้างสังโยชน์ให้ขาดสูญได้ แล้วอริยผลก็เกิดตามมาอีกสามหรือสองขณะโดยอัตโนมัติ

อริยมรรคย่อมเกิดขึ้นที่จิตอันเป็นธาตุรู้ที่แท้จริง ซึ่งจิตในขณะนั้นเรียกว่า 'มรรคจิต' จัดเป็นโลกุตตรกุศลจิต และมรรค ได้ประหารถอนรากถอนโคนกิเลสบางอย่างลงเป็นสมุจเฉท นี้คือ สมุจเฉทนิโรธ ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จิตจะทวนกระแสของตัณหาหรือการส่งออกเข้ามารู้ถึงจิตจะยังไม่เกิด อริยมรรค มาเกิดอริยมรรคเมื่อเข้าถึงจิตอันเป็นธาตุรู้ที่แท้จริงซึ่งปราศจากความปรุงแต่งใดๆ ทั้งปวง จึงสอดคล้องกับคำกล่าวของหลวงปู่ที่ว่า 'จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค' และเมื่ออริยผลอันเป็น โลกุตตรวิบากจิต เกิดตามอริยมรรคมาโดยอัตโนมัตินั้น อริยผลก็เกิดขึ้นพร้อมกับผลจิต อันเป็นธาตุรู้ที่แท้จริงเช่นกัน จิตย่อมเข้าถึง ปฏิปัสสัทธินิโรธ คือเข้าถึงความสงบระงับอยู่เฉพาะหน้า บรรดากิเลสที่สงบระงับไปแล้วจะไม่เกิดมีอีก ไม่ต้องขวนขวายเพื่อดับอีกต่อไป

4.2.3 ขั้นการเจริญอรหัตตมรรค เมื่อผู้ปฏิบัติผ่านโลกุตตรภูมิมาตามลำดับจนบรรลุพระอนาคามีแล้วนั้น ก็ยังเจริญวิปัสสนากรรมฐานอยู่เช่นเดิม เพียงแต่จิตเกิดความรอบรู้ในความเป็นไตรลักษณ์ของกาย จนปล่อยวางกายไปก่อนหน้านี้แล้ว การปฏิบัติจึงบีบวงกระชับเข้ามาที่จิตเป็นสำคัญ แม้จะรู้กายด้วย แต่จิตก็ไม่ติดข้องในกาย คงให้ความสนใจที่จะเรียนรู้จิตต่อไปเพื่อแสวงหาความหลุดพ้นของจิต ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกว่ายังมีสิ่งบางสิ่งที่ตนไม่รู้และไม่เข้าใจ แต่ไม่ทราบว่าเรื่องอะไร เพราะความไม่รู้และไม่เข้าใจสิ่งนี้ จึงยังข้ามภพข้ามชาติไม่ได้ ต่อเมื่อปฏิบัติจนจิตหมดปัญญาที่จะค้นคว้าหาทางหลุดพ้น จิตจึงหยุดการดิ้นรนค้นคว้า แล้วฉับพลันจิตก็เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ว่าจิตนี้เองเป็นตัวทุกข์ล้วนๆ บางท่านเห็นว่าเป็นทุกข์เพราะจิตไม่เที่ยง บางท่านเห็นว่าเป็นทุกข์เพราะจิตถูกบีบคั้น และบางท่านเห็นว่าเป็นทุกข์เพราะจิตเป็นอนัตตา การมีปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิต ก็คือ การที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง แล้ว ฉับพลันนั้น จิตก็ปล่อยวางจิตสลัดคืนให้แก่ ธรรมชาติ เข้าถึงสมุจเฉทนิโรธ และ ปฏิปัสสัทธินิโรธอีกครั้งหนึ่ง และเข้าใจแจ่มแจ้งในนิสสรณนิโรธ อันเป็นการดับทุกข์ด้วยการสลัดออกจากขันธ์ เป็นสภาวะที่พรากออกจากขันธ์ ดำรงอยู่ในภาวะที่กิเลสดับแล้วนั้นยั่งยืนตลอดไป

คำสอนของหลวงปู่ลึกซึ้งเหลือประมาณ หากไม่ปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม จะ เข้าใจในสิ่งที่ท่านสอนไม่ได้เลย ถึงเข้าใจก็เข้าใจได้อย่างผิวเผิน เพราะคำว่า 'จิตเห็นจิต' มีความหมายเริ่มต้นตั้งแต่การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งผู้ปฏิบัติจะเจริญ หรือไม่ก็ได้ เนื่องจากการเจริญสติปัฏฐานอันเป็นวิปัสสนากรรมฐานนั้น ไม่ได้มีเฉพาะการดูจิตอย่างเดียว

แต่ในขณะที่เกิดอริยมรรคแต่ละขั้น จะยิ่งยืนยันคำสอนของหลวงปู่มากขึ้นเป็นลำดับ เพราะอริยมรรคเกิดที่มรรคจิตเท่านั้น คือเกิดเมื่อจิตอันตั้งมั่นอยู่ด้วยอัปปนาสมาธิ ได้หยุดการส่งกระแสความรับรู้ออกไปภายนอก แล้วย้อนทวนกระแสความรับรู้กลับมาที่จิตอันหมดความปรุงแต่ง เป็นการกลับมาเห็นจิตนั่นเอง ทั้งนี้การที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง ก็คือการทำปริญญากิจหรือการรู้ทุกข์ การตัดกระแสตัณหาย้อนความรับรู้กลับเข้าสู่จิต ก็คือการทำปหานกิจหรือการละสมุทัย เมื่อจิตพ้นจากความปรุงแต่งก็เห็นธรรมอันไม่ปรุงแต่งคือนิพพาน ก็คือการทำสัจฉิกิริยากิจหรือการแจ้งนิโรธ และในขณะนั้นเอง องค์มรรคทั้ง 7 ก็จะประชุม ลงที่มรรคจิตด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิอันเป็นองค์ที่ 8 ของอริยมรรค แล้วเกิดอริยมรรค ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทประหาร ก็คือภาวนากิจหรือการเจริญมรรค กิจทั้ง 4 ในอริยสัจนี้ ทำเสร็จที่มรรคจิตในขณะเดียวกันนั่นเอง

ยิ่งในขั้นที่เกิดอรหัตตมรรคด้วยแล้ว ไม่ว่าท่านผู้ใดก็ย่อมมีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งด้วยกันทั้งสิ้น
เพราะได้เห็นแจ้งขันธ์อื่นๆ จนสามารถปล่อยวางได้แล้ว เหลือเพียงจิตเท่านั้นที่ยังปล่อยวางไม่ได้ เพราะยังรู้จิตไม่แจ่มแจ้ง ว่าจิตก็ตกอยู่ใต้อำนาจของไตรลักษณ์เช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ ต่อเมื่อเริ่มกระบวนการแห่งอรหัตตมรรค จึงมีจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง ว่าจิตเป็นกองทุกข์อันหนึ่งเช่นเดียวกับขันธ์อื่นๆ แล้วสามารถสลัดคืนจิต พร้อมทั้งละสมุทัย ประจักษ์ถึงนิโรธหรือนิพพาน ในขณะแห่ง อรหัตตมรรคนั้น เป็นการทำกิจทั้ง 4 ของอริยสัจให้สำเร็จพร้อมกันได้ในขณะเดียวเป็นครั้งสุดท้าย

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
สภาพที่แท้จริงของจิตย่อมส่งออกนอก)
กำลังโหลดความคิดเห็น