xs
xsm
sm
md
lg

มองปัญหาด้วยปัญญา:

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญากับสัญญามันคนละเรื่องกัน
ความรู้ที่เกิดจากสัญญา เขาไม่เรียกว่ารู้
ถ้าจะเป็นตัวรู้จริงๆ ต้องเป็นที่พึ่งแก่ตนได้

ปุจฉา
นั่งสมาธิแล้วเห่าหอน

นมัสการหลวงปู่ ผมมีข้อสงสัยขอถามสักหน่อย เพราะเท่าที่อ่านมายังไม่เห็นมีใครถาม คำถามของผมมีดังนี้ครับ

1. การคิดทำร้ายผู้อื่น แต่ไม่ได้ลงมือกระทำ จะเป็นบาปหรือไม่ เพราะหลายครั้งผมรู้สึกอย่างนี้ เช่น อยากเข้าไปชกคนที่พูดจาไม่ดีกับผม แต่ผมก็ไม่ได้ทำ

2. ผมเคยไปบางวัด มีคนมานั่งสมาธิกัน สักพักก็มีอาการแปลกๆ เช่น ลุกขึ้นมารำมาเห่าหอน ทำท่าเหมือนสัตว์ ฯลฯ มันเกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ครับ ขอบคุณมากครับที่กรุณาวิสัชนาให้ผม

วิสัชนา
1. บาปเกิดจากใจ แต่กรรมเกิดจากการกระทำ ถ้าถามว่าเป็นบาป ไหม ตอบว่าเป็น แต่เป็นกรรมไหม ตอบว่าไม่เป็น เพราะเรายังไม่ได้ลงมือทำร้ายเขา

2. เกิดจากขาดสติ คุมอารมณ์ไม่อยู่ แล้วสิ่งแวดล้อมสร้างแรงบันดาลใจ จำไว้ว่าเรานั่งสมาธิเพื่อความสงบ ฉลาด สะอาด สว่าง นี่คือผลของการนั่งสมาธิ ไม่มีร่ายรำ เห่าหอนกระพือปีก เพราะนั่นคือเดรัจฉานวิชชา

การนั่งสมาธิคือการทำให้สติมันโต แต่ถ้าทำแล้วไม่เกิดสติ แสดงว่าไม่ใช่วิธีที่ถูก เพราะสติเมื่อโตแล้วจะมีกำลังกดสิ่งที่เป็นความต่ำทรามภายในให้ลดลงและตายไป เหมือนหญ้าที่ถูกหินทับนานๆ ก็ตายไป ถ้าหาก ว่านั่งสมาธิแล้วยังเต้นแร้งเต้นกา ก็แสดงว่าผิดแล้ว ต้องหาวิธีทำใหม่

ปุจฉา รู้ไม่จริง
กราบเรียนหลวงปู่ที่เคารพ ผมชอบอ่านคอลัมน์ปุจฉาวิสัชนามาก เพราะได้ความรู้ที่นำไปปรับใช้ในชีวิตได้ดี และทำ ให้เข้าใจเรื่องวิธีปฏิบัติในศาสนา พุทธที่ถูกต้อง แต่ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีการศึกษาดี มีความรู้ค่อนข้างมาก และมีสื่อที่ทำให้เข้าถึงความรู้มากมาย ทำให้รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว แต่ในด้านปฏิบัติแล้ว ทำไมคนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะทำความชั่วมากกว่าทำความดี โดยเฉพาะคนที่มีความรู้สูงๆ ยิ่งทำความชั่วกันมากเป็นเพราะเหตุใดครับ

วิสัชนา
เพราะเขารู้ไม่จริง ได้แค่รู้จำเฉยๆ ความรู้เป็นที่พึ่งของตัวเราและสังคม แต่ที่ว่ารู้แล้วยังทำชั่ว ก็แสดงว่าความรู้นั้นไม่ได้ เป็นที่พึ่งแก่เขา จึงกลายเป็นว่าต้องไปพึ่งคนอื่น และไปทำให้คนอื่นมีมลภาวะเสียหาย เมื่อไม่ได้รู้จริงก็แสดงว่าแค่จดจำมาเฉยๆ เมื่อรู้จำมันก็เป็นเรื่องเสียหาย เป็นเรื่องปกติธรรมชาติ เพราะถ้ารู้จริงๆ มันต้องเป็น ที่พึ่งแก่ตนเองได้ และก็ป้องกันความผิดพลาดเสียหายให้แก่ตัวเองด้วย

เพราะฉะนั้น สำคัญคือ รู้อะไรต้องรู้ให้จริง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบรรลุอนุตตร สัมมาสัมโพธิญาณ คือรู้ว่าสรรพสิ่งเกิดขึ้นในเบื้องต้น ตั้งอยู่และแปรปรวนในท่ามกลาง สุดท้ายแตกสลาย พระองค์รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ทางดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ พระองค์จึงอุทานว่า อ้อ..เรารู้ล่ะ เพราะความรู้อย่างนี้มันไม่มีในคนอื่น และสามารถเป็นที่พึ่งแก่พระองค์ได้ เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งปวงได้

ปัญญากับสัญญามันคนละเรื่องกัน ปัญญาคือสิ่งที่ไม่เคยพบได้พบ สิ่งที่ไม่เคยปรากฏ ได้ปรากฏ แต่สัญญาคือความจดจำ เพราะฉะนั้นความรู้ที่เกิดจากสัญญา เขาไม่เรียกว่ารู้ ถ้าจะเป็นตัวรู้จริงๆ ต้องเป็นที่พึ่งแก่ตนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น