xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

‘แพทย์แผนไทย’ เตรียมบรรจุ 5 สมุนไพรไทยในบัญชียาหลัก

นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปี 2552 กรมพัฒน์ฯได้รับจัดสรรงบประมาณ 368 ล้านบาทเศษ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการใช้ยาจากสมุนไพร 5 ชนิด ได้แก่ เถาวัลย์เปรียง แก้ปวดเมื่อย เพชรสังฆาต แก้โรคริดสีดวงทวาร บัวบก สำหรับรักษาแผลในผู้ป่วยเบาหวาน มะระขี้นก และยาตำรับสหัศธารา เป็นยาบรรเทาอาการปวด ใช้ทดแทนยาพาราเซตามอล และยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่มีสเตียรอยด์ เพื่อเตรียมบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยศึกษาในโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ. บางกระทุ่ม, รพ. อู่ทอง, รพ.พล, รพ.หาดใหญ่ และรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ จะทราบผล ในปี 1-2 ปีนี้
นายแพทย์นรา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้กรมพัฒน์ฯ จะจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยในปีหน้าอีก 9 แห่ง คือที่จังหวัดเชียงใหม่ ระนอง ภูเก็ต ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี ปราจีนบุรี นนทบุรี กรุงเทพฯ และจะพัฒนา การผลิตยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ในโรงพยาบาล 7 แห่ง ได้แก่ รพ.บางกระทุ่ม, รพ.อู่ทอง, รพ. พล, รพ.พิชัย, รพ.กุดชุม, รพ.ท่าฉาง และรพ.วังน้ำเย็น เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพยิ่งขึ้น

เรียนสูง-ทำงานใช้สมองหนักช่วยสะกดฤทธิ์โรคอัลไซเมอร์

ในวารสาร นิวโรโลจี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซานราฟฟาเอลในมิลาน อิตาลี รายงานว่า ได้ใช้เครื่องสแกนสมองเพื่อค้นหาองค์ประกอบต่างๆ และโปรตีนของอัลไซเมอร์ในผู้ สูงวัย 242 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 72 คน มี ภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย และอีก 144 คน ไม่มีปัญหาความจำ
ในช่วงเวลา 14 เดือน กลุ่มตัวอย่าง 21 คนที่สมองเสื่อมเล็กน้อยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตาม จากการเปรียบเทียบผลการสแกน ด้วยคลื่นแม่เหล็ก (เอ็มอาร์ไอ) ในกลุ่มคนที่มีปัญหาความจำระดับเดียวกัน พบ ว่าเนื้อสมองถูกทำลายอย่างกว้างขวางใน ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และยิ่ง กว้างขึ้นในกลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้สมอง
นักวิจัยอธิบายว่า สิ่งที่พบหมายความว่า สมองของกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้รับมือกับอัลไซเมอร์ได้ดีกว่า ซึ่งอาจเกิดจากการสร้าง ‘สติปัญญาสำรอง’ ที่ได้รับการปกป้องจากโรคนี้
ดร.วาเลนตินา การิบ็อตตา ผู้นำการวิจัย กล่าวว่า สมองของผู้จบมหาวิทยาลัยและทำงานใช้สมองสามารถชดเชยความเสียหายจากอัลไซเมอร์ จึงยังสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้เนื้อสมองเสียหาย

ไขความลับ! ...คนไทยเสื่อมสังขารเร็ว

รศ.ดร.สำอาง สืบสมาน หัวหน้าโครง การวิจัยสุขภาพ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) อธิบายเกี่ยวกับปัจจัยที่ทำให้คนไทยก้าวไปสู่ภาวะเสื่อมสังขารเร็วว่ามีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยปัจจัยที่สำคัญก็คือพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง วิถีการดำเนินชีวิตที่อาศัยเครื่องอำนวยความสะดวก ขาดการออกกำลัง หรือแม้แต่ห่วงโซ่อาหาร ที่อาจมีสารปนเปื้อน หรือการอาศัยอยู่ในสิ่งแวด ล้อมที่มีมลภาวะ รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ อย่างการใช้ชีวิตอย่างขาดความระมัดระวัง การเกิดอุบัติเหตุ การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจ ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น
โดยมสธ.ได้ทำวิจัยสุขภาพในหัวข้อ Thai Health-Risk Transition : a National Cohort Study ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อวิจัยหาสาเหตุของความเสื่อมสังขาร มาตั้งแต่ปี 2548 จากการวิเคราะห์ พบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง 80,000 กว่ารายทั่วประเทศ มีปัญหาด้านสุขภาพรูปแบบเดียวกันทั้งชายและหญิง คือภาวะไขมันในเลือดสูง ข้ออักเสบ และประวัติการเป็นไข้เลือดออก แต่ถ้าแยกกลุ่มผู้ชาย ก็พบว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับตับ ขณะที่กลุ่มผู้หญิงพบโรคคอพอก และหอบหืดจำนวนมาก
และจากการการศึกษา ยังพบว่า คนจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสื่อมสังขาร โดยร้อยละ 50-55 บริโภคอาหารประเภททอดไขมันสูง บ่อยถึง 3-6 ครั้ง/สัปดาห์ รองลงมาคือน้ำอัดลม อาหาร/ขนมหวานมีกะทิ อาหารปิ้ง/ย่าง/รมควัน
“คนที่ชอบกินฟาสต์ฟูดทุกวันหรือเกือบทุกวัน พบว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยง ที่จะเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่กินบ้างหรือไม่กินเลยถึง 2 เท่า และเสี่ยงที่จะมีไขมันในเลือดสูงกว่าคนที่กินบ้างหรือไม่กินเลยถึง 1.5 เท่า ”

สธ.ชี้สิงห์อมควันหญิง ส่งผลให้รังไข่ฝ่อ หมดระดูเร็ว เร่งสู่ ‘วัยทอง’ เร็วขึ้น

ผลสำรวจของกรมอนามัย พบว่า ขณะ นี้มีผู้หญิงวัยทองกว่า 7 ล้านคน อายุเฉลี่ย หมดประจำเดือน 48 ปี แต่ในกลุ่มผู้หญิงที่สูบบุหรี่ ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 300,000 คน อาจเข้าสู่วัยทองเร็วกว่าผู้หญิงทั่วไป เนื่องจากพิษบุหรี่ทำให้หลอดเลือดแข็ง ส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ รวมทั้งรังไข่ได้ไม่ดี ทำให้รังไข่ฝ่อ ผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง จึงมีอาการของวัยทองเร็วขึ้น
น.พ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า อาการวัยทองไม่ใช่ โรค แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามธรรมชาติ เกิดจากรังไข่หยุดทำงานไม่มีการผลิตฮอร์โมนเพศ ทำให้ไม่มีประจำเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งร่างกายและจิตใจ โดยมีอาการร้อนวูบวาบที่หน้าอก ลำคอ ใบหน้า ใจสั่น เหงื่อออก นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย บางครั้งซึมเศร้า ปวดศีรษะ ปวดข้อ ความรู้สึกทางเพศลดลง ช่องคลอด แห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะปวด แสบ ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ นอกจากนี้ พบมีผิวหนังแห้ง เล็บเปราะ ผมแห้งและร่วงง่าย ระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงโรคกระดูก พรุน มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และภาวะอ้วนลงพุง อาจทำให้มีไขมันในเลือดสูง เป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมา
สำหรับการปฏิบัติตนเพื่อให้มีสุขภาพดีของหญิงวัยทอง คือ งดบุหรี่ ลด ละการดื่มสุรา ชา กาแฟ กินอาหารที่มีประโยชน์และมีไขมันต่ำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสุขภาพทุกปี หากมีอาการวัยทอง สามารถปรึกษาแพทย์ที่คลินิกวัยทอง หรือสูตินรีแพทย์ ที่โรงพยาบาลทุกแห่ง

อันตราย! หญิงไทยป่วย ‘มะเร็งเต้านม’ เกือบ 6,000 คน/ปี

น.พ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 3 ของสตรีทั่ว โลก แต่ละปีพบผู้ป่วยใหม่ 910,000 ราย ในไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 5,854 ราย หรือ 21 คนใน 1 แสนคน สูง เป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก คาดว่า ปีนี้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่จะเพิ่มเป็น 12,000 ราย โดยเฉพาะผู้หญิงในเขตกทม.ที่ขณะนี้พบอัตราการป่วยด้วยมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับ 1 โดยใน 1 แสนคนจะพบเป็นมะเร็งเต้านม 25 คน
“จะต้องเร่งให้ความรู้กระตุ้นผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งเป็นประจำหลังหมดประจำเดือน 7 วัน หากพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติใดๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรไปรับการตรวจเต้านมโดย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และตรวจเอ็กซเรย์เต้านมปีละครั้ง เพราะหากเจอมะเร็งในระยะแรกการรักษาได้ผลดีโอกาสหายร้อยละ 80-90”
น.พ.เรวัติ กล่าวด้วยว่า ในปลายปี 2551 สถาบันมะเร็งแห่งชาติจะจัดบริการรเอ็กซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ซึ่งสามารถถ่ายภาพก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็กที่ตัวผู้ป่วยหรือหมออาจจะยังคลำไม่พบ ให้บริการกลุ่มผู้หญิงอายุ 40-60 ปี และสตรีกลุ่มเสี่ยงอายุ 35 ปีขึ้นไปโดยตั้งเป้าให้บริการกลุ่มเป้าหมายให้ได้ร้อยละ 80 นำร่องในหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งชุมชนด้อยโอกาสในเขต กทม.และปริมณฑล ก่อนขยายบริการไปทั่วประเทศ

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 96 พ.ย. 51 โดยธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น