xs
xsm
sm
md
lg

สกว.เดินหน้าพัฒนายาไทย ยึดจีนเป็นตัวอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คณิต สุวรรณบริรักษ์
สกว. ยกทีมนักวิจัยไทยไปศึกษาดูงานการพัฒนายาและการแพทย์แผนจีน  เผยจีนมุ่งศึกษาประสิทธิภาพของยาแผนโบราณแบบองค์รวม มีสถาบันวิจัยเฉพาะทาง ที่รวบรวมเทคโนโลยีและนักวิจัยหลายสาขาทำงานร่วมกัน ระบุตำรับยาสมุนไพรของไทยและจีนคล้ายกัน มีความซับซ้อนของตัวยาเหมือนกัน ไทยสามารถยึดแนวทางของจีน เพื่อพัฒนาและยกระดับสมุนไพรไทยได้

ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส" ที่จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระหว่างวันที่ 16-18 ต.ค.51 ณ โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ รีสอร์ท รีเจนท์ บีช ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้มีการสัมมนาการสร้างเครือข่ายงานวิจัยแบบมุ่งเป้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เรื่อง "สมุนไพร ยารักษาโรค และสารเสริมสุขภาพ" ซึ่งตัวแทนนักวิจัยไทย ที่ไปร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและยารักษาโรคที่ประเทศจีน บอกว่า การแพทย์แผนไทย คล้ายคลึงกับการแพทย์แผนจีน และไทยสามารถยึดแนวทางการพัฒนาของจีนเพื่อส่งเสริมการแพทย์แผนไทยได้

ดร.คณิต สุวรรณบริรักษ์ ภาควิชาเภสัชเวท คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ยาที่ใช้ในการแพทย์แผนจีนคล้ายกับยาในการแพทย์แผนไทย ซึ่งมีความซับซ้อนของตัวยา เพราะประกอบไปด้วยสมุนไพรหลากหลายชนิด และในสมุนไพรแต่ละชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีอยู่มากมาย ยากที่จะแยกแยะแต่ละชนิดออกมาได้ ซึ่งวิธีที่จะควบคุมคุณภาพของยาแผนโบราณนี้ได้ ก็คือต้องควบคุมตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกพืชสมุนไพร ไปจนถึงการผลิต และต้องศึกษาความเป็นพิษด้วย

"ชาวจีนใช้ยาสมุนไพรมานาน และมีหลายตำรับ ปัจจุบันจีนพยายามที่จะใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุนยาสมุนไพรของจีนเพื่อที่จะแข่งขันกับยาของฝรั่งได้ ซึ่งสมุนไพรจำนวนมากยังไม่สามารถแยกสารออกฤทธิ์ได้ แต่บางชนิดที่แยกสารออกฤทธิ์ได้แล้ว ก็ยังอาจไม่ใช่สารออกฤทธิ์ชนิดเดียวในสมุนไพรนั้น เพราะฉะนั้นในยาแต่ละตำรับอาจมีสารนับร้อยนับพันชนิด"

"จีนจึงมุ่งไปที่การศึกษาองค์ประกอบของยาโดยรวม โดยศึกษาว่าตำรับยาสมุนไพรนั้นส่งผลหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ระดับยีน โปรตีน และกระบวนการต่างๆ ภายในเซลล์และร่างกาย และศึกษาองค์ประกอบทางเคมีทั้งหมดที่มีอยู่ในตำรับยานั้น ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีหลายด้านประกอบกัน" ดร.คณิต อธิบาย

อีกทั้งเขายังบอกว่า ไทยก็น่าจะนำวิธีนี้มาใช้พิสูจน์ตำรับยาในบัญชียาจากสมุนไพรของไทยเช่นกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสมุนไพรไทยเพื่อการรักษาได้อย่างมาก นอกจากนี้ จีนยังได้จัดตั้งศูนย์วิจัยสำหรับด้านนี้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้นักวิจัยในแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนายาสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

ส่วน ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล่าถึงงานวิจัยของศาสตราจารย์หลายคนของจีนที่ศึกษาในเรื่องการพัฒนายาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งมีนักวิจัยจีนบางคนศึกษาทางด้านพืชที่มีพิษของจีนไปแล้วกว่า 150 ชนิด จากทั้งหมดประมาณ 900 ชนิด โดยพบว่าสารพิษบางตัวในพืชดังกล่าวมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งอาจนำมาพัฒนาเป็นยาได้เช่นกัน

ศ.ดร.วัชรินทร์ บอกอีกว่า จีนมีกำลังนักวิจัยที่มีคุณภาพและมีปริมาณมากที่ทำงานวิจัยร่วมกันโดยมุ่งเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนรัฐบาลจีนก็ให้การสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างชัดเจน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปต่อยอดจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งตรงข้ามกับของไทย และนักวิจัยไทยส่วนใหญ่ก็เป็นอาจารย์ มีหน้าที่สอนและทำงานวิจัยควบคู่กันไป จึงอาจมีเวลาทำงานวิจัยน้อยกว่าเขา

ด้าน รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า งานวิจัยทางด้านการพัฒนายาของไทยส่วนใหญ่เน้นด้านการสังเคราะห์ โดยสนใจที่ตัวสารเป็นหลัก ไม่เน้นพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ขณะเดียวกันโมเลกุลของสารที่สังเคราะห์ได้ก็ยังไม่ซับซ้อนมากนัก คุณภาพของงานวิจัยส่วนใหญ่จึงยังจัดอยู่ในเกณฑ์ปานกลางถึงค่อนข้างดี และผลงานที่ตีพิมพ์ก็มักไม่ได้อยู่ในระดับท็อปของสาขานี้เท่าใดนัก

"งานวิจัยด้านการสังเคราะห์สารในประเทศไทยยังค่อนข้างแคบ มีข้อจำกัดในเรื่องสารเคมี สารบางชนิดที่ต้องการอาจซื้อไม่ได้ ส่วนนักวิจัยก็มีความสนใจแตกต่างกัน จึงทำให้ผลงานที่ออกมากระจัดกระจายไปคนละทิศทาง ขาดจุดแข็งของตัวเอง จึงอยากฝากนักวิจัยรุ่นใหม่ให้ค้นหาจุดแข็งหรือความเชี่ยวชาญของตัวเองให้ได้ แล้วนำมาตอบโจทย์วิจัยของประเทศชาติ" รศ.ดร.ธีรยุทธ กล่าว

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.สุภา หารหนองบัว ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเมธีวิจัยอาวุโส สกว. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการสัมมนาเรื่องนี้ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สกว. ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือสนับสนุนการวิจัยแบบมุ่งเป้าระหว่างเอ็นเอสเอฟซี (National Natural Science Foundation of China: NSFC) โดยเริ่มจากความร่วมมือทางด้านเคมีอินทรีย์ สารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และสมุนไพร

"การร่วมมือครั้งนี้ก็เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีระหว่างกัน โดยเฉพาะเพื่อให้นักวิจัยไทยได้เรียนรู้วิชาการและกระบวนการของการวิจัยและพัฒนายาในประเทศจีนที่เขาพัฒนาขึ้นมาจนประสบความสำเร็จมาแล้ว เพราะเมื่อก่อนจีนปิดประเทศ จึงต้องพึ่งพาตนเอง ผลิตยาเพื่อใช้เองภายในประเทศ ทำให้เขาสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ส่วนไทยเรามีทรัพยากรเยอะ แต่ยังขาดเทคโนโลยีที่จะมาช่วยพัฒนาสิ่งนี้อยู่"

"รัฐบาลจีนเองก็เห็นความสำคัญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เห็นได้ชัดจากการที่ในสมาชิกวุฒิสภาของจีนประมาณ 2,000 คน มีที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ระดับศาสตราจารย์อยู่ 200 คน ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายและทิศทางการวิจัยของชาติได้อย่างชัดเจน อีกทั้งมีภาคเอกชนที่พร้อมจะต่อยอดงานวิจัยในระดับอุตสาหกรรม ขณะที่งานวิจัยในประเทศไทยยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร และยังมีช่องว่างระหว่างเอกชนกับนักวิจัยอยู่มาก" รศ.ดร.สุภา กล่าวและทิ้งท้ายว่า

เมธีวิจัยอาวุโสของ สกว. ยังบอกอีกว่า อยากให้รัฐบาลดำเนินการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทยาในประเทศไทยเพื่อให้แต่ละบริษัทนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนายาใหม่ นอกเหนือจากการผลิตยาตามตำรับเดิมที่มีอยู่ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยาของไทย.
ศ.ดร.วัชรินทร์ รุกขไชยศิริกุล
รศ.ดร.ธีรยุทธ วิไลวัลย์
รศ.ดร.สุภา หารหนองบัว
กำลังโหลดความคิดเห็น