xs
xsm
sm
md
lg

ไขความลับ! ....คนไทยเสื่อมสังขารเร็ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความอ้วน ปัญหาใหญ่ที่กำลังคุกคามคนไทย
คงต้องยอมรับกันว่า ผลพวงของกระแสโลกาภิวัตน์ที่ถาโถมเข้าใส่สังคมไทยนั้น มีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงผ่านทางสุขภาพของคนไทยอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ จากอดีตที่มักเป็นโรคติดต่อ หรือโรคติดเชื้อ แต่เมื่อวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป โรคต่างๆ ก็พัฒนาเป็นเงาตามตัว กลายเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะเสื่อมสังขารก่อนวัยอันควร เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็งชนิดต่างๆ หรือแม้แต่โรคอ้วน ที่คนไทยกำลังประสบอยู่มาก

แน่นอนว่า โรคยุคโลกาภิวัตน์เหล่านี้ ได้กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่สูงขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนไม่เคยคำนึงก็คือ ในความเป็นจริงแล้ว โรคเหล่านี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ

รศ.ดร.สำอาง สืบสมาน หัวหน้าโครงการวิจัยสุขภาพ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) อธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ปัจจัยที่ทำให้คนไทยก้าวไปสู่ภาวะเสื่อมสังขารดังกล่าว มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยปัจจัยที่สำคัญก็คือพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้อง วิถีการดำเนินชีวิตที่อาศัยเครื่องอำนวยความสะดวก ขาดการออกกำลัง หรือแม้แต่ห่วงโซ่อาหาร ที่อาจมีสารปนเปื้อน หรือการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลภาวะ รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ อย่างการใช้ชีวิตอย่างขาดความระมัดระวัง การเกิดอุบัติเหตุ การถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น

“มสธ.ได้ทำวิจัยสุขภาพในหัวข้อ Thai Health-Risk Transition : a National Cohort Study ในระยะเวลา 5 ปี เพื่อวิจัยหาสาเหตุของความเสื่อมสังขาร มาตั้งแต่ปี 2548 โดยระยะแรก เราใช้กลุ่มประชากรนักศึกษา ของ มสธ. กว่า 200,000 คนทั่วประเทศ ที่ต่างมีช่วงวัย และพฤติกรรมการกินอยู่ที่แตกต่างกันตามแต่ละภาค โดยมีกลุ่มตัวอย่างตอบกลับมาทั้งสิ้น 87,134 ราย อายุเฉลี่ย 30.5 ปี แยกเป็นชายร้อยละ 46 และหญิงร้อยละ 54”
รศ.ดร.สำอาง สืบสมาน
“จากการวิเคราะห์ เราพบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง 80,000 กว่ารายทั่วประเทศ มีปัญหาด้านสุขภาพรูปแบบเดียวกันทั้งชายและหญิง คือภาวะไขมันในเลือดสูง ข้ออักเสบ และประวัติการเป็นไข้เลือดออก แต่ถ้าแยกกลุ่มผู้ชาย ก็พบว่า เป็นโรคความดันโลหิตสูง และโรคเกี่ยวกับตับ ขณะที่กลุ่มผู้หญิง จะพบโรคคอพอก และหอบหืดจำนวนมาก”

รศ.ดร.สำอาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จากการการศึกษา พบว่า คนจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมการบริโภคที่ค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดโรคเสื่อมสังขาร โดยร้อยละ 50-55 บริโภคอาหารประเภททอดไขมันสูง บ่อยถึง 3-6 ครั้ง/สัปดาห์ รองลงมาคือน้ำอัดลม อาหาร/ขนมหวานมีกะทิ อาหารปิ้ง/ย่าง/รมควัน

ที่น่าเป็นห่วง คือ แม้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่จะไม่ได้อาศัยอยู่ในตัวเมือง หรือจังหวัดใหญ่ๆ แต่กลับนิยมรับประทานอาหารฟาสต์ฟูดแบบตะวันตก ไม่แพ้คนเมือง ลึกลงไป บางคน ยอมรับว่าทานเกือบทุกวัน เพราะสะดวกรวดเร็วและง่าย อาหารที่เคยทำกินกันเองในครอบครัว ซึ่งเป็นอาหารพื้นฐานที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ก็ลดน้อยลง ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่คนไทยจำนวนไม่น้อยต้องตกเป็นทาสของโรคเบาหวาน โรคไขมันเลือดสูง และมะเร็งชนิดต่างๆ มากขึ้น

“เรื่องฟาสต์ฟูดน่าเป็นห่วงมาก จากการที่เราวิเคราะห์ข้อมูลของคนที่ชอบกินฟาสต์ฟูดทุกวันหรือเกือบทุกวัน พบว่า คนกลุ่มนี้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่กินบ้างหรือไม่กินเลยถึง 2 เท่า และเสี่ยงที่จะมีไขมันในเลือดสูงกว่าคนที่กินบ้างหรือไม่กินเลยถึง 1.5 เท่า ซึ่งสาเหตุที่ทำให้คนไทยกิจฟาสต์ฟูดมากขึ้นมีผลมาจากค่านิยมที่ผิดๆ กระแสโฆษณา รวมทั้งความสะดวกสบายในการซื้อ”

“เราพบว่า ครอบครัวจำนวนไม่น้อย เมื่อถึงวันเกิดของลูก หรือหากต้องการฉลองความสำเร็จของลูก ก็มักจะพากันไปกินข้าวนอกบ้าน และก็มักจะหยุดลงที่ร้านฟาสต์ฟูด กลายเป็นเรื่องของการให้รางวัลไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัว บางคนทีแรกก็อาจจะไม่ค่อยชอบกิน แต่เมื่อได้กินบ่อยเข้า สุดท้ายก็กลายเป็นติดใจในรสชาติไป ความจริง ทุกวันนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาหันมากินอาหารไทย หรืออาหารเมดิเตอเรเนียนกันมาก เพราะเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ สมุนไพร ซึ่งทำให้สุขภาพดี แต่คนไทยกลับเมินของดีของตนเองแล้วหันไปกินอาหารที่เป็นอาหารขยะแทน ตรงนี้ ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือโรงเรียน”
ฟาสต์ฟูดที่ปัจจุบันกลายเป็นอาหารยอดนิยมของทุกชนชั้น
รศ.ดร.สำอาง ยังระบุว่า นอกจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว ที่น่าสังเกตคือ มีการรายงานถึงการถูกทำร้ายร่างกายร้อยละ 0.4 แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่มาก แต่ก็สะท้อนถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตมากถึง 5 เท่า ลองคิดเล่นๆ ถ้าประชาชนคนไทยในวัยทำงาน 30-40 ล้านคน ต้องใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง อนาคตประเทศไทยจะน่าเป็นห่วงแค่ไหน จึงเป็นคำถามว่าหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลด้านสวัสดิการ และความปลอดภัยในชีวิตควรจะหันมาดูแลให้คนไทยอยู่ดี และมีสุข

“ขณะนี้งานวิจัยกำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ซึ่งหวังผลเชิงลึกจากกลุ่มตัวอย่างกว่า 8 หมื่นราย ที่วันนี้กลายเป็นสมาชิกของโครงการวิจัยสุขภาพ จะร่วมกันดูแลตนเองเพื่อลดอุบัติการณ์ของโรคเสื่อมสังขารก่อนวัยอันควร และจะเป็นกลุ่มตัวอย่างคนไทยที่มีสุขภาพดีห่างไกลโรค ทั้งนี้ เราหวังที่จะนำผลที่ได้ไปเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ช่วยกำหนดนโยบายหน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย จะร่วมกันกำหนดนโยบายเพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพคนไทยต่อไปในอนาคต” รศ.ดร.สำอาง สรุป

กล่าวเฉพาะการออกกำลังกายนั้น ข้อมูลล่าสุดของกรมอนามัยในปี 2550 พบว่า มีคนไทยประมาณ 5 ล้านคนเท่านั้น ที่ออกกำลังกายเพียงพอมีผลพอจะช่วยป้องกันโรคได้ ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 35 ล้านคนเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เนื่องจากไม่ออกกำลังกาย ซึ่งอาจะเป็นผลมาจากการพึ่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใช้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น ทำให้การออกกำลังกายน้อยลง โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี น่าห่วงมากพบว่า 1 ใน 5 มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ส่วนผลพวงของการไม่ออกกำลังกายทำให้กลุ่มผู้ใหญ่กว่า 13 ล้านคนเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจหลอดเลือด และโรคเบาหวานปีละกว่า 65,000 ราย ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลง

นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลเสริมว่า ในการสร้างสุขภาพดี จะต้องเริ่มตั้งแต่ยังเด็กโดยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี เด็กและเยาวชนที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายที่เหมาะสม จะช่วยส่งเสริมให้ระบบกระดูกเจริญเติบโต กล้ามเนื้อและข้อต่างๆแข็งแรง เกิดผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด การควบคุมน้ำหนัก ทำให้มีสุขภาพจิตแจ่มใส หากมีพฤติกรรมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้มีสุขภาพดีอย่างต่อเนื่องสามารถป้องกันการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็งบางชนิด และโรคอ้วน ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น