xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผยคนไทยกว่า 38 ล้านคนไม่ออกกำลังกาย หนุนชมรมสุขภาพทั่ว ปท.ช่วยปลุกกระแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยขณะนี้คนไทยกว่า 38 ล้านคน ไม่ออกกำลังกาย ประสานงานชมรมสร้างสุขภาพกว่า 6 หมื่นชมรม ทั่วประเทศ เร่งปลุกกระแสการออกกำลังกาย สร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยลดโรคที่ป้องกันได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน และลดพุง


วันนี้ (27 ก.ค.) ในช่วงเช้าที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประกวดแข่งขันเต้นแอโรบิกของชมรมสร้างสุขภาพ ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2551 โดยแบ่งการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ชุดๆ ละ 27 ทีม เพื่อปลุกกระแสให้ประชาชนตื่นตัว หันมาออกกำลังกาย ซึ่งการเต้นแอโรบิก เป็นการสร้างสุขภาพ ให้รางกายแข็งแรง มีภูมิต้านทาน ไม่เจ็บป่วย หรือไม่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร

นายวิชาญ กล่าวว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาค ได้วิเคราะห์ว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า โรคไม่ติดต่อ ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจตีบตัน จะกลายเป็นปัญหาหลักของอาเซียน สาเหตุสำคัญเกิดมาจากการขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ทำให้เป็นโรคอ้วน ที่น่าห่วง คือ กลุ่มเด็กไทยมีวิถีชีวิตที่ขาดการออกกำลังกายและกินอาหารไม่ถูกต้องมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารประเภททอด ขนมกรุบกรอบที่ไม่มีประโยชน์ ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2550พบผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไปจำนวน 55 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 30 หรือประมาณ 16 ล้านกว่าคน ที่ออกกำลังกาย ซึ่งเพิ่มจากปี 2547 เล็กน้อย ที่เหลืออีก 38 ล้านกว่าคนไม่ออกกำลังกาย จึงควรส่งเสริมและสนับสนุนการออกกำลังกายให้แพร่หลายยิ่งขึ้น

นายวิชาญ กล่าวต่อไปว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเฝ้าระวังควบคุมภาวะอ้วนลงพุงในประชาชนอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 48 ล้านคน โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศจัดกิจกรรมวัดรอบเอวปีละ 2 ครั้ง ให้ครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เพื่อประเมินความอ้วน รวมถึงการให้คำแนะนำและให้ความรู้ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการสร้างเสริมสุขภาพด้วยการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนให้ทุกหมู่บ้าน ตั้งชมรมออกกำลังกาย เพื่อเป็นศูนย์รวมของการจัดกิจกรรมทางสุขภาพต่างๆ ขณะนี้ดำเนินการได้แล้ว 61,020 ชมรม

“การสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีพฤติกรรมที่ถูกต้อง เช่น การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ปราศจากสารปนเปื้อน ถูกหลักโภชนาการ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด ปลอดภัย และที่สำคัญ คือ การลด ละ เลิกอบายมุขได้แก่ สุรา บุหรี่ ยาเสพติด ซึ่งเป็นตัวการทำลายสุขภาพ ได้ให้กรมอนามัยจัดทำเอกสารคู่มือคำแนะนำ เป็นข้อมูลให้ประชาชนใช้ดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับช่วงอายุ” นายวิชาญ กล่าว

ทางด้าน นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเต้นแอโรบิก มีประโยชน์ในการเผาผลาญพลังงานส่วนเกิน ไม่ให้สะสมในร่างกาย ช่วยให้กระดูกกล้ามเนื้อแข็งแรง ในสัปดาห์หนึ่งควรออกกำลังกายให้ได้ 3 ครั้งๆ ละไม่ต่ำกว่า 30 นาที มีผลการวิจัยในสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2545 พบว่า คนอ้วนที่ได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เดินออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน และรับประทานอาหารไขมันต่ำ ทำให้น้ำหนักตัวลดลงกว่าเดิมได้ร้อยละ 5-7 และจากการติดตามผลเป็นเวลา 4 ปี พบว่า อัตราการเกิดโรคเบาหวานในกลุ่มนี้ลดลงร้อยละ 5-10 ไขมันในช่องท้องลดลงร้อยละ 30 หากไม่ชอบเต้นแอโรบิก อาจใช้วิธีเดินก็ได้ โดยเดินให้ได้วันละ 10,000 ก้าว หรือประมาณ 2 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น