“ไชยา” ออกไอเดียตั้งหมู่บ้านต้านภัย 5 โรคเพชฌฆาตเงียบ มะเร็ง หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมองและความดันโลหิตสูง ดับชีวิตคนไทย 1 คน ในทุก 4 นาที เริ่มปีนี้ 1 อำเภอ 1 หมู่บ้าน จะขยายทั่วประเทศภายในปี 2556 เปิดตัวครั้งแรก 63 หมู่บ้านใน 4 จังหวัดภาคอีสาน คาดลดผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงปีละ 2 แสนคน โรคมะเร็งลงปีละ 20,000 คน ผู้ป่วยโรคหัวใจ 40,000 คน เชื่อการดำเนินงานของไทยน่าจะเป็นแห่งแรกในโลก
บ่ายวานนี้ (30 มิ.ย.) ที่ศาลาประชาวาริน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้ได้รับมอบหมายจากนายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นประธานเปิดตัวโครงการ “หมู่บ้านต้นแบบป้องกันภัยเงียบหนึ่งอำเภอหนึ่งหมู่บ้าน ในเขตจังหวัดอีสานใต้ 4 จังหวัด” เนื่องจากขณะนี้คนไทยยุคใหม่มีแนวโน้มเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิต ซึ่งถือเป็นเพชฌฆาตเงียบของคนไทย 5 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคมะเร็ง เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพชีวิตประจำวันที่มีความเครียดสูง ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กินอาหารไขมันสูง กินผักผลไม้น้อย และเป็นโรคอ้วน ทำให้เจ็บป่วยเรื้อรังตามมา บางคนเป็นหลายโรคพร้อมกัน
จากสถิติล่าสุดปี 2549 ประเทศไทยพบผู้ป่วย 5 โรคดังกล่าว เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรวม 1,216,036 ราย โรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด 375,600 ราย รองลงมาคือ เบาหวาน 334,168 ราย หัวใจ 328,199 ราย มะเร็ง 70,823 ราย และหลอดเลือดสมอง 107,246 ราย เสียชีวิตรวม 121,101 ราย หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดในปีเดียวกัน เฉลี่ย 1 คนในทุก 4 นาที อันดับ 1 ได้แก่มะเร็ง 52,062 ราย รองลงมาคือ หลอดเลือดสมอง 47,027 ราย หัวใจ 12,163 ราย เบาหวาน 7,486 ราย และความดันโลหิตสูง 2,363 ราย ที่ต้องแจงตัวเลขแต่ละโรคอย่างละเอียด เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ถึงความรุนแรงโรคเหล่านี้ และหันมาดูแลสุขภาพกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้
โดยผลการตรวจสุขภาพล่าสุดใน พ.ศ.2547 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีความดันโลหิตสูงมากถึง 10 ล้านคน มีระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดสูงกว่าปกติอีกกว่า 8 ล้านคน หากไม่เร่งแก้ไขปรับพฤติกรรมเสี่ยง ก็จะมีอาการเจ็บป่วยตามมาเรื่อยๆ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันแก้ไขในระยะยาว นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้จัดหมู่บ้านต้านภัย 5 โรคข้างต้นทุกจังหวัดในปีนี้ โดยให้แต่ละอำเภอจัดหมู่บ้านต้นแบบด้านสุขภาพ 1 อำเภอ 1 หมู่บ้าน รวม 600 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 1 ของหมู่บ้านทั่วประเทศ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยให้แกนนำแต่ละหมู่บ้านวางแผนร่วมกันในการทำกิจกรรมออกกำลังกายแบบประหยัด เช่น การเดินหรือวิ่งอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน รณรงค์ส่งเสริมกินผักและผลไม้ที่ปลูกเองหรือผักพื้นบ้านที่สามารถหารับประทานได้ง่าย ให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของอาหารที่รับประทานแต่ละมื้อหรือวันละครึ่งกิโลกรัม
ส่งเสริมให้กินอาหารไทยประจำถิ่นหรืออาหารพื้นเมือง ซึ่งเป็นอาหารที่มีกรรมวิธีการปรุงด้วยการต้ม นึ่ง ปิ้ง ย่าง ใช้น้ำมันน้อย มีสมุนไพรจำนวนมาก หรือกินน้ำพริกผักจิ้มนานาชนิด ลดการดื่มเหล้าและบุหรี่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งได้ถึงร้อยละ 20-30 รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อาสาสมัครสาธารณสุขของแต่ละหมู่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลที่จะเข้าไปให้บริการในหมู่บ้าน เป็นการควบคุมและป้องกันโรคตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง คาดว่าหากดำเนินการโครงการดังกล่าวได้ครอบคลุมทั่วประเทศ จะป้องกันการป่วยเบาหวาน-ความดันโลหิตสูงได้ไม่ต่ำปีละ 2 แสนคน โรคมะเร็งปีละ 20,000 คน และผู้ป่วยโรคหัวใจได้ 40,000 คน ได้ให้กรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมอนามัย และผู้ตรวจราชการฯ เร่งขยายผลในพื้นที่รับผิดชอบให้เกิดรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งการเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องอาศัยเวลา โดยจะขยายผลทั่วประเทศภายในปี 2556 การดำเนินการเช่นนี้ยังไม่มีประเทศใดทำ เชื่อว่าไทยน่าจะเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำเรื่องนี้
ทางด้านนายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขในเขต 14 ประจำ 4 จังหวัดอีสานตอนใต้ ได้แก่ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร กล่าวว่า ได้นำร่องโครงการหมู่บ้านต้ายภัย 5 โรคเพชฌฆาตเงียบทุกอำเภอรวม 63 หมู่บ้าน หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการจะต้องมีการดำเนินการกิจกรรมสร้างสุขภาพดังกล่าวข้างต้นให้ได้ร้อยละ 80 ของประชากรหมู่บ้าน จะทำการประเมินผลในเดือนพฤษภาคม 2552 โดยจะให้มีการประกวดกิจกรรมของแต่ละหมู่บ้านที่มุ่งสู่การสร้างสุขภาพ และขยายให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านภายในปี 2556
ทั้งนี้ เมื่อย้อนวิถีชีวิตการกินของคนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการสำรวจสุขภาพล่าสุดในปี 2547 พบว่า เป็นภาคที่มีการบริโภคผักผลไม้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานคือน้อยกว่าวันละ 400 กรัม โดยเฉลี่ยสูงที่สุดในประเทศ ประมาณร้อยละ 84 ขณะที่ค่าเฉลี่ยประเทศมีร้อยละ 76 และยังพบว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่เคยรู้ตัวมาก่อน สูงถึงร้อยละ 79 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในประเทศ