ตรัง – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดอบรมถวายความรู้ทักษะการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่พระภิกษุ–สามเณร พร้อมเร่งจัดตั้งศูนย์สุขภาพประจำวัดทั่วประเทศ
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิด การอบรมถวายความรู้ทักษะการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐานแก่พระภิกษุ - สามเณร ณ วัดนิโครธาราม (วัดกุฏิใน) อำเภอเมืองตรัง พร้อมด้วย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ และ นายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง โดยมีพระภิกษุ - สามเณร ในจังหวัดตรัง ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 150 รูป ซึ่งเป็นเครือข่ายด้านสุขภาพ เข้ารับการอบรมตามโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากโรงพยาบาลสงฆ์ และกรมการแพทย์ ได้มีการจัดตั้งศูนย์สุขภาพสายสัมพันธ์วัด-โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้น จำนวน 25 วัดในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ หลังจากพบว่าอาการอาพาธของพระภิกษุ - สามเณร ส่วนใหญ่ หรือ 1 ใน 5 กำลังเกิดอาการอาพาธเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอื่นๆ นอกจากนั้น ยังมีพระภิกษุ - สามเณร อีกร้อยละ 24-97 มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการอาพาธในโรคดังกล่าวด้วย
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เร่งตั้งศูนย์สุขภาพประจำวัดทั่วประเทศ เพื่อช่วยดูแลส่งเสริมสุขภาพ และรักษาพยาบาลอาการอาพาธของพระภิกษุ-สามเณร ในเบื้องต้น ด้วยการนำงบของโรงพยาบาลสงฆ์มาดำเนินการเป็นจำนวน 100 ล้านบาท
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์สุขภาพประจำวัด เนื่องจากพระภิกษุ-สามเณร เป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัด ในการเข้าถึงบริการดูแลรักษาสุขภาพยังสถานพยาบาล ดังนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์สุขภาพสายสัมพันธ์วัด-โรงพยาบาล เฉลิมพระเกียรติฯ มาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 สำหรับการอบรมตามโครงการดังกล่าวนี้ มีทั้งการถวายความรู้แก่พระภิกษุ-สามเณร ผู้นำเครือข่ายด้านสาธารณสุข ในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพเบื้องต้น การป้องกันโรคเรื้อรังที่สำคัญ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด พร้อมกับการสนับสนุนเครื่องมือที่จำเป็น เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องชั่งน้ำหนัก และยาสามัญประจำบ้าน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้พระภิกษุ - สามเณร เกิดอาการอาพาธเพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ประชาชนใส่บาตรทำบุญ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่นิยมเลือกสรรอาหารคาวหวาน ที่มีการปรุงอย่างสุดฝีมือตามความชอบของตัวเอง และผู้ต้องการอุทิศส่วนกุศลไปให้ เช่น แกงกะทิ ขาหมู ขนมหวาน นานาชนิด ส่งผลให้พระภิกษุ-สามเณร ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเวลาออกกำลังกาย เนื่องจากกิจของสงฆ์ส่วนใหญ่เป็นการสวดมนต์นั้น มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการอาพาธด้วยโรคต่างๆ สูงกว่าคนทั่วไป จึงอยากแนะนำให้ประชาชนนำอาหารที่มีไขมันน้อย มีรสไม่เค็มจัด และหวานจัด ใส่บาตรทำบุญ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการอาพาธของพระภิกษุ-สามเณร ได้ส่วนหนึ่ง