xs
xsm
sm
md
lg

วิมุตติมรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อมีจิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นอยู่ต่างหากจากอารมณ์แล้ว
เราควรเน้นการรู้ที่จิตผู้รู้หรือที่อารมณ์อันเป็นสิ่งที่ถูกรู้
แท้จริงเราไม่ได้มุ่งเอาทั้งผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้
เราเพียงอาศัยรู้สึกถึงความมีอยู่ต่างหากของจิตผู้รู้เท่านั้นเอง


ครั้งที่ 13.
ข้อสังเกตเกี่ยวกับระดับความตั้งมั่นของจิต
ในการรู้รูปกับนาม

5.4 ข้อสังเกตเกี่ยวกับระดับความตั้งมั่นของจิตในการรู้รูปกับนาม

5.4.1 ขอให้สังเกตด้วยว่าเมื่อกล่าวถึง การรู้รูป ผู้เขียนจะกล่าวถึง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง แต่เมื่อกล่าวถึง การรู้นาม ผู้เขียน กล่าวถึงเพียง จิตที่เป็นกลาง ไม่กล่าวเน้นว่าตั้งมั่น ทั้งนี้เพื่อให้เพื่อนๆ เห็นความแตกต่างในระดับความเข้มของสมาธิที่ใช้รู้รูปกับนาม อย่างไรก็ตาม มีนามอย่างหนึ่งคือเวทนา เป็นนามที่ต้องใช้ความตั้งมั่นในระหว่างที่รู้มากกว่านามอย่างอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวทนาทางกายหรือความรู้สึกสุขทุกข์ทางกาย เพราะเป็นสิ่งหยาบที่แนบเนื่องกับกาย ถ้าจิตไม่ตั้งมั่นพอ จิตจะเกิดความฟุ้งซ่านเมื่อมีเวทนาทางกายที่รุนแรง

ดังนั้นการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานจึงเหมาะกับสมถยานิกเช่นเดียวกับการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อย่างไรก็ตาม คำว่า 'จิตตั้งมั่น' ในการ เจริญกายานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนา ก็ไม่ได้หมายความว่าให้ตั้งจิตจนแข็งกระด้างเพราะจิตที่แข็งกระด้างเป็นอกุศลจิต แต่เป็นเพียงผู้เจริญสติรู้ถึงความมีอยู่ของจิตที่แยกต่างหากจากรูปและเวทนาเท่านั้นเอง

5.4.2 ผู้เขียนเคยเกิดความสงสัยอยู่นามกว่าสิบปีว่า เมื่อมีจิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นอยู่ต่างหากจากอารมณ์แล้ว เราควรเน้นการรู้ที่จิตผู้รู้หรือที่อารมณ์อันเป็นสิ่งที่ถูกรู้ แท้จริงเราไม่ได้มุ่งเอาทั้งผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ เราเพียง อาศัยรู้สึกถึงความมีอยู่ต่างหากของจิตผู้รู้เท่านั้นเอง เพื่อจะได้เห็นว่ากายและเวทนาแม้กระทั่งอารมณ์อื่นๆ ก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หากจงใจหันไปดูหรือเพ่งจ้องจิตผู้รู้ จิตผู้รู้จะเปลี่ยนสถานะเป็นสิ่งที่ถูกรู้ทันที แล้วเกิดจิตผู้รู้ดวงใหม่ที่อยู่ลึกเข้าไปกว่าเก่า ดังนั้น แม้เรา จะมีจิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นอยู่ ก็อย่าจงใจจ้องใส่จิตผู้รู้เป็นอันขาด

5.4.3 การที่จิตตั้งมั่นเป็นจิตผู้รู้นั้นมีข้อดี คือ สามารถรู้อารมณ์ได้อย่างเป็นกลางและยาวนาน โดยจะเห็นอารมณ์หมุนเวียนเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่มีข้อเสียคือเราอาจจะหลงผิดว่าจิตผู้รู้เที่ยงก็ได้ เพราะในขณะที่อารมณ์เกิดดับหมุนเวียนนั้น จิตผู้รู้ที่ได้กำลังสนับสนุนจากการทำสมถกรรมฐานดูเหมือนเที่ยงเพราะตั้งมั่นอยู่ได้นานๆ แต่ความจริงจิตผู้รู้ก็เกิดดับเหมือนกัน เพียงแต่เกิดดับต่อเนื่องเหมือนๆ กันได้เป็นจำนวนมากและเกิดดับรวดเร็วมาก จนผู้ที่ไม่รู้จักสังเกตสำคัญผิดว่าจิตผู้รู้เที่ยง แท้จริงจิตผู้รู้ที่ตั้งมั่นนั้นไม่ใช่จิตดวงเดียวตั้งอยู่ได้นานๆ แต่เป็นจิตชนิดเดียวกันเกิดดับต่อเนื่องกันเป็นจำนวนมากต่างหาก

5.4.4 การเจริญสติเจริญปัญญาด้วยการมีจิตผู้รู้นั้น สามารถดำเนินไปได้จนถึงขั้นพระอนาคามี และในขั้นที่เจริญสติปัญญาเพื่อให้เกิดอรหัตตมรรค จิตผู้รู้ก็ยังคงตั้งมั่นและเด่นดวงอยู่ ถึงจุดนี้จิตจะคลาย ความสนใจในอารมณ์อย่างอื่น แต่หันมาสนใจจิตผู้รู้เพราะเป็นสิ่งประหลาดอัศจรรย์ด้วยความผ่องใส และความสงบสุขอันประณีตจนสติปัญญาแก่รอบอย่างแท้จริงก็จะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้อย่างซาบซึ้งถึงใจ แล้วปล่อยวางความถือมั่นในจิตได้ เป็นอันจบการศึกษาในทางพระพุทธ-ศาสนาแต่เพียงเท่านี้ ถัดจากนั้นจะเกิดจิตชนิดใหม่ที่เรียกว่า มหากิริยาจิต สภาวะของมหากิริยาจิตจะไม่ตั้งมั่นเด่นดวงดุจดังจิตผู้รู้ แต่ซึมซ่านตลอดโลกและจักรวาล และสัมผัสความสงบสุขเต็มโลกและจักรวาลทีเดียว

5.4.5 สำหรับการเจริญปัญญาด้วยการ รู้นามโดยเฉพาะนามจิตนั้น ผู้เขียนไม่ได้เน้นที่จิตตั้งมั่น แต่กล่าวถึงเพียงจิตที่เป็น กลางเท่านั้น แท้จริงจิตที่รู้นามก็ต้องตั้งมั่นเหมือนกัน แต่ตั้งมั่นเพียงชั่วขณะก็ดับไป ไม่จำเป็นจะต้องตั้งมั่นอยู่นานๆ เพราะนาม เช่น ความโลภโกรธหลงต่างๆ มีอายุสั้นมาก มันเกิดดับสืบเนื่องกันได้เพียง 7 ขณะจิตเท่านั้น ดังนั้นผู้เจริญวิปัสสนาโดยใช้นาม (เว้นแต่เวทนา) เป็นอารมณ์ จึงสามารถรู้นามได้เลย โดยไม่ต้องทำฌานเพื่อให้เกิดจิตผู้รู้หรือจิตที่มีเอโกทิภาวะเสียก่อน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะให้พวกเราตามรู้อารมณ์ต่างๆ ตะพึดตะพือไปโดยไม่สนใจทำความสงบจิต หากทำได้ก็ควร ทำเป็นครั้งคราวเพื่อพักจิต เมื่อพักพอมีกำลังแล้วก็ตามรู้ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง ของธัมมารมณ์หรืออารมณ์ทางใจต่อไปอย่าง สบายๆ หากรู้อารมณ์แล้วจิตเกิดปฏิกิริยาใดๆ ต่ออารมณ์ สติจะต้องระลึกรู้ปฏิกิริยานั้นได้เองจึงจะใช้ได้ แล้วจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ทั้งของจิตและธัมมารมณ์ทั้งปวง

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/ผลของการศึกษาเรื่องปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนา)
กำลังโหลดความคิดเห็น