พระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม อยู่ในพระอิริยาบถยืนทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ พระหัตถ์ทั้งสองประสานที่พระเพลา(ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ในอาการสร้างสังวรจงกรมอยู่บนเศียรพกาพรหม ซึ่งประทับบนหลังโคอุสุภราช
ตำนานของพระพุทธรูปปางนี้มีที่มาจาก ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ยังป่าสุภวัน ทรงทราบว่าท้าวพกาพรหม กำลังมีความเห็นผิดว่า สิ่งทั้งปวงเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน ดังนั้น จึงเสด็จไปยังพรหมโลก เพื่อโปรดพกาพรหม
เมื่อพกาพรหมเห็นพระบรมศาสดา ก็ทูลด้วยอำนาจทิฏฐิของตนว่า “ข้าแต่พระสัมพุทธะ ที่พระองค์ตรัสสอนว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นภัย เห็นจะผิด ข้าพระองค์เห็นว่า ทุกสิ่งจะต้องดำรงคงสภาพอยู่เป็นนิตย์ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่จำต้องแสวงหาธรรมอันใดมาปรุงแต่งให้เกิดสุข ปลดเปลื้องสรรพทุกข์แต่ประการใด ถ้าไปคิดเห็นว่าทุกข์ ก็เกิดทุกข์ หากคิดเห็นว่าสุข ก็มีสุข ไม่เดือดร้อนทุกๆประการ”
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า “ดูกร พกาพรหม ท่านอยู่ในพรหมโลกเสียเคยจึงมองไม่เห็นความทุกข์ เพราะโทษที่อยู่ในความสุขความสำราญ ทั้งขาดวิจารณญาณ เพ่งพินิจ จึงทำให้หลงผิดคิดไปว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงถาวร อันความจริงนั้น ทุกสิ่งจะแน่นอนมั่นคงอยู่ไม่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของเหตุ ทุกสิ่งต้องอยู่ภายในขอบเขตของกรรมเป็นผู้บันดาล”
พกาพรหมก็โต้แย้งว่าสิ่งทั้งหลายในโลกธาตุ ล้วนแต่มหาพรหมบันดาลให้เกิดมี สิ่งใดๆ ที่มหาพรหมไม่พบ ไม่เห็น ไม่รู้ นั้นไม่มี
พระพุทธองค์ต้องการให้พกาพรหมสำนึกว่า ตนเองยังเป็นสัตว์ที่เวียนว่ายในสงสาร ยังมีน้ำใจเป็นพาลด้วยคิดผิด จึงบอกให้พกาพรหมแสดงฤทธิ์ให้ปรากฎ โดยการหายตัวไปซ่อนในที่ที่คิดว่าพระพุทธองค์ไม่สามารถรู้ได้ แต่ไม่ว่าจะไปซุกซ่อนที่ใด แม้กระทั่งนิรมิตรกายให้ละเอียดไปซ่อนเร้นอยู่ในเมล็ดทรายในท้องทะเลลึก พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบ
พกาพรหมจึงทูลพระพุทธเจ้าว่า ให้พระองค์ทรงหายตัวไปบ้าง ถ้าตนหาไม่พบก็จะยอมรับนับถือว่า พระพุทธเจ้าคือสัพพัญญูผู้ควรเคารพบูชา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงทำปาฏิหาริย์อันตรธานพระกายเสด็จประทับอยู่ในท่ามกลางมหาพรหม แต่ไม่มีพรหมองค์ใดสามารถเห็นพระองค์ได้ ได้ยินแต่พระสุรเสียงที่ทรงแสดงธรรมให้ฟัง
ขณะที่พกาพรหมใช้อำนาจทิพย์ของตนหาพระบรมศาสดาตลอดโลกธาตุ ก็ไม่สามารถแลเห็นพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกพกาพรหมว่า “เราตถาคตกำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรเกล้าของท่านอยู่ในขณะนี้” แล้วพระองค์ก็ปรากฏ พระกายแก่มหาพรหมทั้งหลาย ในพระอิริยาบถเสด็จเดินจงกรมอยู่บนเศียรของพกาพรหม ทำให้พกาพรหมหมดมานะทิฐิ
พระพุทธรูปปางนี้ เป็นพระบูชาสำหรับผู้เกิดปีขาล
(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 109 ธันวาคม 2552 โดยกานต์ธีรา)