xs
xsm
sm
md
lg

แก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุดตั้งต้นของทุกข์อยู่ที่อวิชชา
และทุกข์ตามนัยนี้หมายถึงตัวขันธ์โดยตรง
คือเพียงมีขันธ์แม้ไม่ทันยึดถือ
ขันธ์ก็เป็นตัวทุกข์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว


ครั้งที่ 07 อธิบายธรรม
4. อธิบายธรรม

เมื่อทราบความหมายของศัพท์เฉพาะแต่ละคำที่ปรากฏอยู่ในคำสอนเรื่องอริยสัจแห่งจิตที่หลวงปู่แสดงไว้แล้ว ต่อไปนี้จะอธิบายถึงความหมายของธรรม ในเรื่องอริยสัจแห่งจิตไปตามลำดับ

4.1 'จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์'

ผู้เขียนได้ทราบจากพระราชวรคุณ เจ้าอาวาสวัดบูรพาราม และเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ธรรมยุต) ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่ เป็นผู้ดูแลใกล้ชิดหลวงปู่มาหลายสิบปี และเป็นพระอุปัชฌาย์ผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาของผู้เขียน ว่าในความเป็นจริงคำสอนเรื่องอริยสัจแห่งจิตที่หลวงปู่กล่าวไว้ กับคำสอนที่พิมพ์เผยแผ่กันในชั้นหลังนั้น มีการลำดับข้อความสลับกันบ้าง เพราะ สานุศิษย์ได้ปรับถ้อยคำใหม่ให้สละสลวย ดังเช่น ที่พิมพ์เผยแผ่กันอยู่ในปัจจุบันนี้

ข้อความที่ว่า 'จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย' นั้น น่าจะคลาดเคลื่อนจากสภาวธรรม ที่หลวงปู่สอน เพราะแท้จริงจิตจะเป็นตัวสมุทัยไปไม่ได้ เนื่องจากจิตเป็นวิญญาณขันธ์ อันจัดอยู่ในกองทุกข์ ไมใช่ตัณหาอันเป็นตัวสมุทัย หากจะใช้ถ้อยคำให้ตรงกับสภาวธรรม จริงๆ จะต้องใช้คำว่า 'ความส่งออกนอกของจิตเป็นสมุทัย ผลแห่งความส่งออกนอก ของจิตเป็นทุกข์' ทั้งนี้เพราะ ความส่งออกนอกของจิต ก็คือความทะยานอยากหรือตัณหา อันเป็นตัวสมุทัยตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง และความ ส่งออกนอกของจิตอันเป็นผลให้เกิดทุกข์นั้น มี 2 ลักษณะ คือ

อย่างแรก หากพิจารณาถึงสภาวธรรมอันปรากฏแก่ผู้เจริญสติตามรู้จิตอยู่เนืองๆ จะพบว่า เมื่อใดจิตเกิดความทะยานอยากหรือหิวในอารมณ์ (มีตัณหา) จิตจะส่งออกไปหยิบฉวยอารมณ์ขึ้นมายึดถือไว้ (มีอุปาทาน ซึ่งองค์ธรรมของอุปาทานก็คือตัณหาที่มีกำลังกล้า) แล้วจิตจะเกิดการทำ กรรมคือการทำงานบางอย่างขึ้นทางใจ (มีกรรมภพ) ความรู้สึกเป็น 'ตัวเรา' ก็จะแทรกเข้ามาสู่จิต (มีชาติ) จิตจะเกิดความทุกข์ ความหนัก ความแน่น ความบีบคั้น ความไม่เป็นอิสระ ขึ้นในฉับพลัน (มีทุกข์) นี่ก็คือปฏิจจสมุปบาทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนั่นเอง พึงสังเกตว่า จุดตั้งต้นของทุกข์ตามนัยนี้อยู่ที่ตัณหาหรือความทะยานอยากหรือการส่งจิตออกนอก และทุกข์ตามนัยนี้เป็นความบีบคั้นทางใจ ซึ่งมีภาระเพราะจิตหยิบฉวยขันธ์ขึ้นมาเป็นตัวตนของตน

อย่างที่สอง จิตที่ส่งออกนอกหมายถึงปฏิสนธิวิญญาณ เมื่อหยั่งลงในกรรมชรูป คือรูปอันเกิดจากกรรมซึ่งได้แก่เซลล์แรกที่เกิดจากการผสมเชื้อพันธุ์ของพ่อแม่ (หรือแม้แต่ปฏิสนธิวิญญาณของโอปปาติกะ เช่นเทวดาและพรหม ซึ่งไม่ต้องอาศัยการผสมพันธุ์ของพ่อแม่เป็นจุดกำเนิด) ก็เป็นเหตุให้สัตว์นั้นได้มาซึ่งอายตนะ คือมีรูปนาม/กายใจอันเป็นกองทุกข์ การอธิบายการ ส่งออกของจิตจนเกิดทุกข์ตามนัยนี้ ก็ตรงกับคำสอนของหลวงปู่ในส่วนนี้เช่นกัน นี่ก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ที่เกิดขึ้นในแบบข้ามภพ ข้ามชาติ ซึ่งอธิบายได้ว่าตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้ง อริยสัจ 4 หรือยังละอวิชชาไม่ได้ ความ ปรุงแต่งของจิต (คือสังขาร หรือกรรมภพ) ก็ย่อมเกิดมีขึ้น แล้วจิตย่อมหยั่งลงสู่ภพใหม่ (มีปฏิสนธิวิญญาณ) แล้วได้มาซึ่งรูปนามอันเป็นทุกข์ (มีชาติ) พึงสังเกตว่าจุดตั้งต้นของทุกข์ตามนัยนี้อยู่ที่อวิชชา และทุกข์ตามนัยนี้หมายถึงตัวขันธ์โดยตรง คือเพียงมีขันธ์แม้ไม่ทันยึดถือ ขันธ์ก็เป็นตัวทุกข์โดยตัวมันเองอยู่แล้ว

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า/
จิตเห็นจิตแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลเป็นนิโรธ)
กำลังโหลดความคิดเห็น