xs
xsm
sm
md
lg

ทางเอก : จากต้นสายถึงปลายทาง (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จิตที่มีสมาธิในระดับอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิจะมีธรรมชาติรู้ที่เด่นชัด มาก เพราะมีจิตเป็นหนึ่งและมีอารมณ์ เป็นหนึ่ง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องเจริญวิปัสสนา ด้วยการตามรู้องค์ฌานที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ แล้วตามรู้กายหรือตามรู้จิตในชีวิตประจำวันต่อไปอีก โดยอาศัยกำลังของอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิที่ทำไว้แล้วเป็นเครื่องสนับสนุน ทำให้จิตตั้งมั่นเด่นดวงแยกต่างหากออกจากรูปและนามที่สติไประลึกรู้เข้า แล้วเห็นลักษณะของรูปและนามเกิดดับเคลื่อนไหวเปลี่ยน แปลงไป โดยจิตเป็นเพียงผู้รู้ผู้ดูอยู่ เท่านั้น ครูอาจารย์พระป่าท่านมักเรียก จิตชนิดนี้ว่า “จิตผู้รู้”
จิตผู้รู้จะมีลักษณะสำคัญคือมีความตั้งมั่นในระหว่างที่รู้อารมณ์ โดยไม่หลงหรือไหลเข้าไปรวมหรือจมแช่หรือเพ่งอารมณ์ และจิตผู้รู้จะมีความเบา ความอ่อน ปราศจากกิเลสและอุปกิเลส ควรแก่ การงาน คล่องแคล่วว่องไว และซื่อตรง ในการเจริญปัญญาคือไม่เข้าไปแทรกแซง จิตและอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า ผู้ใดมีจิตผู้รู้แล้วมีสติระลึกรู้กาย จะเห็นทันทีว่ากายเป็นเพียงรูป ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา แต่ถ้าขาดจิตผู้รู้ ผู้ปฏิบัติจะทำได้แค่การเพ่งกาย ดังเช่นที่เพื่อนนักปฏิบัติในยุคนี้เป็นกันมาก คือจู่ๆก็ไปกำหนดรูปกันโดยไม่ทำสมาธิกันก่อน ทั้งที่การเจริญกายานุปัสสนานั้นเหมาะควรกับสมถยานิก คือต้องทำความสงบจิตก่อนจนจิตตั้งมั่นเด่นดวงเป็นจิตผู้รู้ จึงจะสามารถระลึกรู้ลักษณะของกายได้โดยไม่หลงถลำไปเพ่งจ้องกาย เมื่อพวกเราปฏิบัติวิปัสสนากันอย่างข้ามขั้นจึงทำวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะจิตจะพลิกไปเพ่งจ้องกาย หรือเข้าไปจมแช่อยู่กับกายส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือตรึงความรู้สึกไว้กับกายทั้งกาย เมื่อเกิดอาการของสมถกรรมฐานเข้าแทรก เช่นตัวโคลงตัวหนักตัวเบาตัวใหญ่ตัวพอง หรือเกิดอาการจิตดับวูบลงชั่วขณะ ก็นึกว่าเกิดวิปัสสนาญาณกัน นั่นไม่ใช่วิปัสสนาญาณเลย เพราะขณะนั้นไม่ได้มีการเจริญวิปัสสนาจริงๆ มีแต่การเพ่งหรือการกำหนดกายเท่านั้น
๔.๕.๒ สัมมาสมาธิสำหรับวิปัสสนายานิก ผู้เป็นวิปัสสนายานิกแม้มีสัมมาสมาธิในระดับขณิกสมาธิก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำ ความสงบลึกในระดับอุปจารสมาธิหรือ อัปปนาสมาธิเหมือนผู้เป็นสมถยานิก ที่ต้องทำความสงบลึกเสียก่อน จึงค่อยเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีตัณหาจริตหรือคนโลภมาก ทั้งนี้ กรรมฐานที่เหมาะกับวิปัสสนายานิกหรือผู้ที่เจริญสติเจริญปัญญาไปเลยโดยไม่ต้องทำฌานก่อน ได้แก่ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันเป็นกรรมฐานที่เหมาะกับผู้มีทิฏฐิจริตหรือคนคิดมากนั่นเอง
ขณิกสมาธิเป็นสมาธิที่เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะ ไม่ตั้งอยู่นาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วพร้อมกับจิตและสติทีละขณะๆ เป็นสมาธิที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเจริญวิปัสสนา เพราะเป็นความตั้งมั่นของจิตชั่วขณะที่สติเกิดไประลึกรู้สภาวะของรูปหรือนามเข้า ทำให้ (๑) จิตไม่หลงคลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนาม ในขณะเดียวกันก็ (๒) ไม่หลงเพ่งรูปนาม แต่ (๓) ทำให้จิตสักว่าระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงเท่านั้น
การที่จิตสักว่าระลึกรู้รูปนามตามความเป็นจริงมากเข้าๆ เป็นทางให้เกิดปัญญาคือเกิดความรู้ความเข้าใจรูปนามตรงตามความเป็นจริง ซึ่งหากขาดขณิกสมาธิเสียแล้ว ถ้าจิตไม่เผลอหรือคลาดเคลื่อนไปจากอารมณ์รูปนามอันเป็นปัจจุบันทำให้รู้รูปนามไม่ได้ ก็ต้อง เพ่งรูปนาม ทำให้รูปนามแข็งทื่อผิดความจริง ไม่สามารถแสดงไตรลักษณ์ให้จิตเห็นได้
สิ่งที่เป็นเหตุใกล้ให้เกิดขณิกสมาธิก็คือความสุขเช่นเดียวกับเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิอื่นๆนั่นเอง แต่ความสุขอันเป็นเหตุใกล้ของขณิกสมาธิ กลับไม่ได้เกิดจากการมีสติไประลึกรู้อารมณ์บัญญัติดังที่ใช้ในการทำให้เกิดอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ แต่เป็นความสุขอันเกิดจากการมีสติไประลึกรู้สภาวะของอารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนามเข้า กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ขณิกสมาธิก็คือสมาธิที่เกิดขึ้น ร่วมกับสัมมาสตินั่นเอง ถ้ามีสัมมาสติ เมื่อใด ก็มีขณิกสมาธิเมื่อนั้น เรื่องนี้จะได้กล่าวเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดย พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช)
กำลังโหลดความคิดเห็น