xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ พะเยา สั่งเบรก “กู้วัดกลางกว๊านฯ” หวั่นผิด กม.
• พะเยา : นางสาวเรืองวรรณ บัวนุช ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า ตามที่นายธนเษก อัศวานุวัตร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา (ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย) ได้จัดทำโครงการ ”กู้วัดติโลกอาราม กลางกว๊านพะเยา” ที่มีอายุราว 500 ปี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนนั้น ล่าสุดสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เสนอให้จังหวัดพะเยาตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินโครงการดังกล่าว ว่ามีปัญหาหรือไม่ พร้อมทั้งจัดทำแผนแม่บทในภาพรวม ศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังการดำเนินโครงการ และสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.โบราณสถาน, พ.ร.บ.ประมง, พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ตามมติ ครม.พ.ศ.2543 หรือไม่
ผู้ว่าฯพะเยากล่าวว่า คงต้องยุติการโครงการนี้ไว้ก่อน เพราะการที่จะเข้าไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งในวัดกลางกว๊านพะเยาได้นั้น จะต้องได้รับการอนุญาตจากอธิบดีกรมศิล ปากรก่อน หากทำโดย พลการอาจถูกดำเนินคดีได้
อนึ่ง วัดติโลกอาราม สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ระหว่าง พ.ศ.2019-2031 เป็นวัดหนึ่งที่จมอยู่ในกว๊านพะเยา ตั้งแต่ปีพ.ศ.2482 ซึ่งมีการออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินบริเวณกว๊านพะเยา พร้อมทั้งออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินเพื่อประโยชน์ในการรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำ และหลังจากนั้นได้มีการก่อสร้างประตูน้ำกั้นลำน้ำอิง ซึ่งก่อให้เกิดแหล่งน้ำขนาด ใหญ่ คือกว๊านพะเยา เนื้อที่ 12,831 ไร่ ส่งผลให้ชุมชนต่างๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำอิง จมอยู่ภายในกว๊าน พะเยา รวมถึงโบราณสถานและวัดในพระพุทธศาสนาจำนวนมากกว่า 10 วัด

สมาคม ม.พุทธฯนานาชาติจัดสัมมนาครั้งแรกในไทย ยกประเด็น ‘พุทธจริยศาสตร์’ ร่วมอภิปราย
• กรุงเทพฯ : ตามที่ผลการประชุมชาวพุทธนานาชาติ เนื่องในวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลก ประจำปี2550 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ (สมพน. International Association of Buddhist Universities: IABU)โดยมีสำนัก งานเลขาธิการใหญ่ ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์กลางในการสร้างเครือข่ายวิชาการ อันนำไปสู่ความร่วมมือในแง่ของการแลกเปลี่ยนข้อมูล การสอน การวิจัย การพัฒนาบุคลากร และหลักสูตร ที่เกี่ยวกับวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ทั้งในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ
ในการนี้คณะกรรมการบริหาร สมพน. ซึ่งปัจจุบันนี้มีสมาชิกจำนวน 110 แห่งทั่วโลก ได้มีฉันทามติร่วมกันจัดประชุมสุดยอดอธิการบดีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ และจัดสัมมนาทางวิชาการนานาชาติ เรื่อง “พุทธ จริยศาสตร์” ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน พ.ศ. 2551 ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ. วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา การประชุมครั้งนี้แบ่งเป็น 7 หัวข้อ คือพุทธจริยศาสตร์กับวรรณคดี พุทธจริยศาสตร์ กับการพัฒนาจิตใจ พุทธจริยศาสตร์กับการพัฒนาสังคม พุทธจริยศาสตร์กับรัฐศาสตร์ พุทธจริยศาสตร์กับเศรษฐศาสตร์ พุทธจริยศาสตร์กับการศึกษา พุทธจริยศาสตร์กับวิทยาศาสตร์
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ในฐานะประธานกรรมการสมพน. เปิดเผยว่า มีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาทั่วโลก จำนวน 120 แห่ง จาก 30 ประเทศ ได้ตอบรับที่จะเดินทางมาร่วมประชุมสัมมนาครั้งนี้ และมีนักวิชาการที่จะ เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 2,500 รูป/คน โดยแบ่งเป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาจากต่างประเทศจำนวน 600 รูป/คน และนักวิชาการไทยจำนวน 1,900 รูป/คน
อธิการบดี มจร.กล่าวว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาของมวลสมาชิกของสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ (Network of Collaboration) ในด้านการบริหาร หลักสูตรการสอน การวิจัย ห้องสมุดและเทคโนโลยีระหว่างมวลสมาชิกในสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ ทั้งในระดับชาติระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ 2. การสร้างสะพานแห่งการปฏิสัมพันธ์ (Relation Bridge) เกี่ยวกับวิชาการด้านพระพุทธศาสนาระหว่างพระ พุทธศาสนานิกายเถรวาท และมหายาน อันจะนำไปสู่การศึกษาเรียนรู้ และ เข้าใจคุณค่าของความสมบูรณ์ และความหลากหลายทางขนบธรรมเนียมประเพณีทางพระพุทธศาสนาชาติต่างๆ 3.การสร้างการสัมมนาทางวิชาการให้เป็น “ตลาดนัดทางวิชาการด้านพระพุทธศาสนา” (Academic Marketplace) อันจะนำไปสู่การร่วมมือเพื่อการศึกษาวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนองค์ ความรู้ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นพุทธจริยศาสตร์

โบสถ์วัดราชบูรณะ พิษณุโลก ทรุดตัวหลังฝนตกหนัก
• พิษณุโลก : นายเฉลิมพล มีศิลารัตน์ นักวิชาการศาสนา สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยภายหลังการสำรวจความเสียหายของผนังอุโบสถวัดราชบูรณะ ที่เกิดการทรุดตัว หลังจากเกิดฝนตกหนักเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่า ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีร่องรอยเสียหายจากผนังปูนที่แตกร้าว ความยาวหลายเมตร โดยเฉพาะผนังด้านทิศใต้ ได้เอียงตัวเข้ามาในโบสถ์มาก และมีร่องรอยแตกของจิตรกรรมฝาผนังมากที่สุด นอกจากนี้ บริเวณโคนเสาปูนภายในโบสถ์มีการชำรุดวงกว้างร่วม 50 ซม.
ส่วน พระครูสิทธิธรรมภิวัช เจ้าอาวาสวัดราชบูรณะ กล่าวว่า ตามประวัติวัดราชบูรณะเริ่มมีการก่อสร้างในช่วงปี พ.ศ.2120-2130 คาดว่าตัวโบสถ์จะเริ่มก่อสร้างในปี 2130 ซึ่งปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ภายในมีพระประธานองค์ใหญ่เป็นพระสำริด มีเสาขนาดใหญ่ 10 ต้นรองรับภายใน โบสถ์ที่มีประตูด้านหน้า 3 ประตู ประตูด้านหลัง 2 ประตู ซึ่งโบราณกล่าวเอาไว้เป็นโบสถ์เทพสถิต 5 องค์ ซึ่งมีแห่งเดียวในภาคเหนือ นอกจากนี้ภายในโบสถ์ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ เป็นภาพที่เขียนไว้ 3 ภาคด้วยกัน คือภาคแรกอยู่ด้านล่างสุด เป็นภาพกามกรีฑา ซึ่งเป็นภาพของชายหญิง ส่วนภาคสองเป็นช่วงกลางฝาผนัง จะเป็นภาครามเกียรติ์ ส่วนภาคสาม ซึ่งอยู่ด้านบนสุด เป็นภาคเทวดา ภาพทั้งหมดน่าจะวาดเอาไว้หลังมีการสร้างโบสถ์หรือคาดว่าน่าจะเป็นช่วงรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3

ปราจีนฯ เตรียมจัดงาน “100 ปี พระพุทธเจ้าหลวง เสด็จฯปราจีนบุรี”
• ปราจีนบุรี : นายสุขสันต์ วจนะภูมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ในปี 2551 นี้ นับเป็นโอกาสสำคัญของชาวจังหวัดปราจีนบุรี เนื่องในโอกาสครบ 100 ปี แห่งการเสด็จประพาสเมืองปราจีนบุรีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จังหวัดปราจีนบุรีจึงได้กำหนดจัดงานเนื่องในโอกาส 100 ปี พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จดงศรีมหาโพธิ์ เมืองปราจีนบุรี ในวันที่ 11 กันยายน 2551 เริ่มแต่เวลา 13.00 น. ณ อาคาร 95 ปี โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง อ.เมืองปราจีนบุรี มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ การบรรยายเรื่อง “ปราจีนบุรี มาจากไหน ? และประวัติต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมโหสถ” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ รวมทั้งการแสดงโขน ตอน พระรามเดินดง และหนุมานติดตามถวายตัว จากกรมศิลปากร โดยผู้ร่วมงานจะได้รับรู้ถึงเส้นทางการเสด็จประพาสมณฑลปราจีนบุรีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเกร็ดความรู้ต่างๆ โดยทางจังหวัดได้จัดทำหนังสือที่ระลึกแจกฟรีแก่ผู้มาร่วมงานทุกคน เพื่อเป็นการเสริมความรู้ดังกล่าว
สกศ.วิจัยการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษา
• กรุงเทพฯ : ดร.อำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) เปิดเผยว่า โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน เป็นโครงการหนึ่งที่กรมการศาสนา(ศน.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ดำเนินการ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมศีลธรรมผ่านกิจกรรมศาสนกิจของแต่ ละศาสนา ตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรม ศีลธรรมในสถานศึกษาของศธ.โดยมีเป้าหมายที่โรงเรียน สังกัดการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา เริ่มดำเนินการปีงบประมาณ2548 โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณกลาง เพื่ออุดหนุนโครงการฯจำนวน 4,000 รูป และได้เพิ่มเป็น 10,000 รูปในปีงบประมาณ 2549 อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบในเบื้องต้นคือการวางตัวของครูพระสอนศีลธรรม การใช้/การผลิตสื่อนวัตกรรมการสอน การวัดประเมินผล อุปสรรคการเดินทางไปสอนในโรงเรียนที่ห่างไกล ดังนั้นกรม การศาสนาจึงได้มอบโครงการนี้ให้กระทรวงศึกษาฯดูแลรับผิดชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2550 ซึ่งศธ. ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย(มจร.) ในการดูแลรับผิดชอบโครงการทั้งเชิงวิชาการและการบริหาร
เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่าจากการติดตามนิเทศงานโดย มจร.พบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานหลายประการ เช่น การวางตัวของครูพระ การพัฒนาสื่อการสอนรวมถึงสื่อการ สอนที่ขาดแคลน บางโรงเรียนต้องการครูพระเพิ่ม ครูพระบางรูปต้องสอนหลายโรงเรียน ค่าตอบแทนน้อยเกินไป การประสานงานระหว่างหน่วยปฏิบัติระดับจังหวัดยังไม่ต่อเนื่อง การนิเทศงานไม่ทั่วถึง รวมทั้งมีข้อเสนอแนะคือ ต้องการให้โครงการนี้ดำเนินการต่อให้มีการพัฒนา ครูพระ ด้านเทคนิคการสอน การผลิตสื่อ และการวางตัวที่เหมาะสม การบรรจุพระบัณฑิตอาสาเข้าโครงการฯ รวมทั้งการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นต้น และที่สำคัญภารกิจการสอนศีลธรรมในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ครูผู้สอนจะต้องพัฒนารูปแบบวิธีการสอนให้เป็นที่น่าสนใจ เช่นเดียวกับการสอนวิชาหลักทั่วไป ครูพระเป็นเพียงวิทยากรมาช่วยสอนเป็นครั้งคราว ปัจจุบันมีครูพระจำนวนมากที่มีเทคนิคการสอนที่ดีสมควรเป็นแบบอย่างแก่ครูทั่วไปได้
ดร.อำรุง กล่าวด้วยว่า สภาพปัญหาดังกล่าว สกศ.จึงได้จัดทำโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเรื่อง “การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษา : กรณีศึกษา กรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษาของครู/ครูพระ และความต้องการพัฒนา ศักยภาพการจัดการเรียนการสอน เพื่อเสนอหลักสูตรประเภทต่างๆ ที่ช่วยในการเพิ่มพูนศักยภาพการจัดการเรียนการสอนของครูสอน ศีลธรรมในสถานศึกษา และหาแนว ทางร่วมในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษา โดยระยะเวลาวิจัยดำเนินการช่วงเดือน ส.ค. 2551-มี.ค.2552 ทั้งนี้ สกศ.คาดว่าจะได้รับทราบปัญหา อุปสรรคการสอนของครูสอนศีลธรรมในสถานศึกษา และ แนวทางแก้ไขปัญหาของครู/ครูพระ และพัฒนาครู/ครูพระสอนศีลธรรมด้านเทคนิควิธีการสอน สื่อการสอน และ อื่นๆ รวมทั้งเผยแพร่ผลการวิจัย เพื่อนำสู่การพัฒนาและ เสนอแนะแนวทางการจัดการเรียนการสอนศีลธรรมในสถานศึกษา

พบรอยพระพุทธบาทบนหินที่เชียงราย
• เชียงราย : รอยพระพุทธบาทที่มีการค้นพบใหม่นี้อยู่บริเวณเชิงดอยติดหน้าผาหิน บริเวณหลังศูนย์วิปัสสนากรรมฐานวัดถ้ำผางาม ต.ผางาม อ.เวียงชัย จ.เชียงราย โดยรอยพระพุทธบาทด้านซ้ายมีขนาดความยาว 110 ซม.กว้าง 50 ซม. ประทับอยู่บนเนินหินภูผา มีลักษณะเป็นรอยลึกลงไปในชั้นหินแข็งด้านทิศ ตะวันออกของถ้ำผางาม โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากรได้เข้ามาตรวจสอบ และบันทึกภาพถ่ายไปแล้ว และระบุเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ เพราะเป็นรอยบนเนื้อหิน แต่ยังไม่ระบุอายุชัดเจน
นายวสันต์ ไชยชมภูสมาชิก อบต.ผางาม กล่าวว่า ได้เสนอรายงานเข้าที่ ประชุม อบต. เพื่อของบประมาณมาพัฒนาวัด สร้างบันไดทางเดินโดยรอบ เพราะจุดค้นพบรอยพระพุทธบาท มีถ้ำสวยงามตั้งอยู่ด้านบนด้วย สามารถทำเป็น อันซีนแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงราย จุดใหม่ได้
ส่วนนางวันดี อินทร ปลัดอาวุโส รักษาราชการแทนนายอำเภอเวียงชัย จ.เชียงราย กล่าวว่า จะเร่งให้กรมศิลป์ยืนยันผลการตรวจสอบโดยเร็วว่ามีความเก่าแก่มากน้อยเพียงใด เพราะวัดถ้ำผางามเป็นถ้ำงอกที่มีอายุนานมากนับพันปี คาดว่ารอยพระพุทธบาทที่ค้นพบจะมีความเก่าแก่เช่นเดียวกัน

กรมศิลป์ดีเดย์ 1 ต.ค. ขึ้นค่าเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์
• กรุงเทพฯ : นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าเข้าชมและค่าบริการอื่นสำหรับโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ 10 แห่ง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 44 แห่งทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบันของท้องถิ่น และจะได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร คนไทยค่าเข้าชมเดิม 20 บาท เป็น 30 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท เป็น 200 บาท เรือพระราชพิธี คนไทย 20 บาท ต่างชาติ 100 บาท พิพิธภัณฑ์ฯ หอศิลป์ คนไทย 30 บาท ต่างชาติ 200 บาทเป็นต้น
ส่วนพิพิธภัณฑ์ฯ ต่างจังหวัด คนไทย 10, 20 บาท ต่างชาติ 50, 100 บาท ตามลำดับ เช่นเดียวกับอุทยานประวัติศาสตร์ และเข้าชม 3 แห่งในวันเดียว คนไทยซื้อบัตรรวมได้ราคา 60 บาท ต่างชาติราคา 350 บาท ซึ่งจะเริ่มใช้อัตราค่าเข้าชมใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป
นอกจากนี้ กรมศิลปากรได้ยกเว้นค่าเข้าชมและค่าบริการให้กับบุคคลบางประเภท ได้แก่ พระภิกษุสามเณร นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ สถาบันการศึกษาที่เข้าชมเป็นหมู่คณะ รวมถึงคนพิการ และผู้ด้อยโอกาสด้วย

สสส.ชวนเข้าวัดวันอาทิตย์ ชี้ห่างศาสนาทำให้คนเห็นแก่ตัว
• กรุงเทพฯ : พญ.ผกา วราชิต ผู้จัดการโครงการวัดเป็นศูนย์กลางสร้างสุขของชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงโครงการ เข้าวัดทุกวันอาทิตย์ชีวิตเป็นสุข โดยร่วมกับ 80 วัดทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่- หัว ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา และสนับสนุนให้คนไทยเข้าวัดมากขึ้น หลังผลสำรวจของเครือข่ายครอบครัว พบพุทธศาสนิกชนทำกิจกรรมทางพุทธศาสนามากที่สุด คือ การตักบาตร ร้อยละ 57.5 ฟังธรรม ร้อยละ 8.2 นั่งวิปัสสนา ร้อยละ 3.2 ส่วนความ ถี่ในกิจกรรมทางพุทธศาสนา พบว่า ทำกิจกรรมเพียงเดือน ละครั้ง ร้อยละ 42.7 ทำกิจกรรมแล้วแต่โอกาส ร้อยละ 30.3 ทำกิจกรรม 3 เดือนครั้ง ร้อยละ 11.2 และปีละครั้ง ร้อยละ 7.1
“ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า พุทธศาสนิกชนเข้าวัดน้อยกว่าศูนย์การค้า ห่างวัดไกลศาสนา จะเข้าวัดเมื่อมีประเพณีสำคัญเท่านั้น บางคนอาจเข้าวัดบ่อยที่สุดเพราะ ไปงานศพ การห่างไกลวัดทำให้เกิดอัตตาธิปไตย ซึ่งจะทำ ให้คนเห็นแก่ตัว เห็นตนเองสำคัญ เอาตนเองเป็นใหญ่มากกว่าความถูกต้อง แต่หากใกล้วัดก็จะทำให้เกิดธรรมาธิปไตย ซึ่งจะยึดเรื่องความถูกต้องเป็นหลัก” พญ.ผกากล่าว
สำหรับกิจกรรมที่จะจัดขึ้นนั้น พญ.ผกา กล่าวว่า เป็นการ นำกิจกรรมในวันพระ มาจัดในวันอาทิตย์ เริ่มตั้งแต่บัดนี้ และสิ้นสุดโครงการในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 อาทิ การทำบุญตักบาตร ฟังธรรม สนับสนุนการอ่านพระไตรปิฎก การบวชเนกขัมมะบารมี ทำให้เข้าใจเรื่องของการทำบุญทำทาน รวมถึงการสอนพระพุทธศาสนาในวันอาทิตย์ การสอนดนตรีไทย และนาฏศิลป์
ส่วนพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานอำนวยการโครงการวัดวิถีพุทธเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โครงการนี้คำขวัญ คือ “เข้าวัดทุกวันอาทิตย์ ชีวิตเป็นสุข” วัดที่ร่วมโครงการจะได้ป้าย “วัดวิถีพุทธเฉลิม พระเกียรติ” หลักการคือ วัดจัดกิจกรรมทุกวันอาทิตย์ในวัดตลอดทั้งวัน โดยร่วมมือกับชุมชนจัดกิจกรรมให้หลากหลายเพื่อเด็กและเยาวชนเข้าร่วมได้ ต้องยอมรับว่าเยาวชน เข้าวัดน้อยลง ทางมหาเถรสมาคมก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงมีมติสนับสนุนให้วัดจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อหาทางส่งเสริม ให้เยาวชนเข้าวัดมากขึ้น
“วัดวิถีพุทธจะเน้นกิจกรรมหลัก 4 ข้อ ได้แก่ 1.สงบร่มเย็น สะอาดตาสว่างใจ คือ วัดสะอาด บรรยากาศสงบร่มรื่น 2.สืบต่อพระศาสนา ร่วมใจศึกษาพระไตรปิฎก สนับสนุนให้สาธุชนอ่านธรรมะ 3.บวชเนกขัมบารมี คือฝึกตนลดละกิเลส รักษาศีล 8 เป็นเวลา 1 วัน 1 คืน 4.พุทธอาสา สะสมบุญได้ ไม่ต้องใช้เงิน เน้นความเข้าใจที่ถูกว่าการทำบุญหรือทำความดีไม่ต้องใช้เงิน ทางโครงการได้จัดทำและมอบ“สมุดบันทึกพุทธอาสา” ให้วัดแจกผู้เข้าร่วมกิจกรรมใช้เขียนบันทึกการทำบุญ ทำความดีของตนและในแต่ละเดือน วัดอาจจะประกาศรายชื่อเชิดชูยกย่องพุทธอาสาที่ทำความดีมากหลากหลายประการ เพื่อสร้างค่านิยมที่ถูกต้องในการยกย่องคนที่ความดี ไม่ใช่เงินทอง” พระพรหมวชิรญาณกล่าว

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 94 ก.ย. 51 โดยมรรคา)
กำลังโหลดความคิดเห็น