xs
xsm
sm
md
lg

พระราชปุจฉาธรรม ใน ‘สมเด็จพระนางเจ้าฯ’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระทัยตั้งมั่นในพระบวรพุทธศาสนา ดุจเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญงอกงามไพบูลย์ พร้อมทั้งทรงใฝ่พระทัยในการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทุกครั้งที่ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงสนทนาธรรมกับพระเถรานุเถระ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ พระองค์ก็จะทรงมีพระราชปุจฉาถึงข้อธรรมทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอ

เนื่องในวโรกาส วันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ


‘ธรรมลีลา’ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญส่วนหนึ่งของพระราชปุจฉาธรรม ที่ทรงมีกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย พระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ผู้มีศีลาจารย์อันงามพร้อม มานำเสนอในวาระอันเป็นมงคลยิ่งนี้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้อย่างเข้าใจและน้อมนำไปสู่การประพฤติปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา เพื่อความเจริญในธรรมสืบไป

• พระราชปุจฉา กับ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

พระราชปุจฉา : ดิฉันสนใจภาวนามานานแล้ว แต่เมื่อนั่ง จิตไม่ค่อยสงบ ได้ไปเรียนท่านเจ้าคุณศาสนโสภณ ท่านบอกว่า เป็นเรื่องยุ่งยาก

หลวงปู่ฝั้น : ไม่ว่าจะนั่ง-จะนอน-จะยืน-จะเดิน ทำได้

พระราชปุจฉา : ทำอะไร ให้รู้อยู่หรือ?

หลวงปู่ฝั้น :
ขอถวายพระพร

พระราชปุจฉา : คนทุกวันนี้เข้าใจว่า ตายแล้วไม่ได้เกิด ถ้าคนตายแล้วเกิด ทำไมมนุษย์จึงเกิดมาก หากสัตว์เดียรัจฉานเขาพัฒนาตนเอง จะถึงขั้นเกิดเป็นมนุษย์ได้ไหม?

หลวงปู่ฝั้น :
ได้ เกี่ยวกับจิตใจ ใจคนมีหลายนัย ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นสัตว์ ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นเปรต ตัวเป็นมนุษย์ แต่ใจเป็นนรก ตัวเป็นมนุษย์ ใจเป็นมนุษย์ หรือเทวดา เป็นพรหม เป็นพระอรหันต์ เป็นพระพุทธเจ้า ก็มาจากคน จะรู้ได้อย่างไร ให้นั่งพิจารณาดู

ที่ใจไม่อยู่ คิดโน้นคิดนี่ นั่นแหละ เรียกว่า มันไปต่อภพต่อชาติที่ว่าเกิด ถ้าตาย ก็ไปเกิดตามบุญตามบาปที่ทำไว้ เป็นเปรตคือใจที่มีโมโห โทโส ริษยา พยาบาท ใจนรกคือใจทุกข์ กลุ้มอกกลุ้มใจ ใจเป็นมนุษย์คือใจที่มีศีล 5 มีทาน มีภาวนา ใจเป็นเศรษฐีท้าวพระยามหากษัตริย์คือใจดี ใจเป็นเทวดาคือมีเทวธรรม มีหิริ ความละอายบาป โอตตัปปะความเกรงกลัวบาป น้อยหนึ่งไม่อยากกระทำ ใจเป็นพรหมมีพรหมวิหารธรรมคือใจว่างเหมือนอากาศ ใจเป็นพระอรหันต์คือท่านพิจารณาความว่างนั้น จนรู้เท่า แล้วปล่อย เหลือแต่รู้ ใจเป็นพระพุทธเจ้า รู้แจ้งแทงตลอดหมดทุกอย่าง

• พระราชปุจฉา กับ พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

พระราชปุจฉา : หากเผื่อว่าไม่ได้บวชเป็นพระนี้ จะสามารถชำระจิตของ ท่านจนสามารถบรรลุธรรมได้ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ :
อาศัยตามหลักฐานในพระคัมภีร์ ผู้ที่เป็นฆราวาสก็สามารถ ที่จะชำระจิตให้ถึงวิมุติความหลุดพ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น สมเด็จพระสุทโธทนะ พระพุทธบิดา พระองค์ก็ทรงสำเร็จพระอรหันต์ในขณะทรงเป็นฆราวาสอยู่ เพราะเมื่อได้ฟังเทศน์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็สำเร็จอรหันต์ทั้งๆที่ยังเป็นฆราวาสอยู่ ในปัจจุบันนี้ คฤหัสถ์ที่ยังครองเพศอยู่ ก็สามารถที่จะปฏิบัติในทางจิตทำให้มีจิตสงบเป็นสมาธิ รู้ธรรมเห็นธรรมได้เหมือนกับพระในพระพุทธศาสนา

พระราชปุจฉา : หมายความว่าถ้าแม้ว่าเข้าถึงพระอรหันต์แล้ว ถ้าไม่บวชก็วางเบญจขันธ์ได้อย่างสิ้นเชิงใช่ไหมเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ :
ตามพระคัมภีร์ก็ยืนยันอย่างนั้น แต่ถ้านำมาพิจารณาให้รู้แน่นอน และจะหาเหตุผลมาขัดแย้งก็อาจจะมีทาง เพราะในแง่ที่ขัดแย้งได้มีว่า โดยธรรมชาติของพระอรหันต์แล้วท่านจะวางเบญจขันธ์ คลายความยึด มั่นหมดกิเลสตัณหา มานะทิฏฐิ แม้อาสวะน้อยหนึ่งก็ไม่มีในจิตของท่าน อาจจะดำรงชีพอยู่จนกระทั่งอายุขัยก็ย่อมเป็นได้ ถ้าหากว่าหามติมาขัดแย้งได้ แต่ว่าคุณของความเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นคุณธรรมหรือสัจธรรมที่สูง ซึ่งโดยหลักธรรมชาติของพระธรรมขั้นนี้แล้วจะไปสิงสถิตอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ซึ่งถือ เป็นร่างของชาวบ้านธรรมดาเป็นการไม่คู่ควรกัน จึงสามารถทำให้ร่างของฆราวาส ผู้สำเร็จอรหันต์แล้วต้องสลายตัวไป อันนี้เป็นกฎความจริงของธรรมชาติในขั้นนี้

ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับแร่ธาตุ บางอย่างในโลกนี้ ในเมื่อมาพบกันเมื่อใด แล้วจะต้องมีปฏิกิริยาสลายตัว หรือเกิดธาตุใหม่ขึ้นมา ในกรณีเช่นนี้ธาตุแท้แห่ง พระอรหันต์ที่บริสุทธิ์ที่สะอาดอย่างแท้จริง เมื่อเกิดอยู่ในร่างของคฤหัสถ์ธรรมดา จึงมีประสิทธิภาพหรือมีอำนาจที่จะทำให้ร่างกายของคฤหัสถ์สลายตัวลงไปได้ เพราะเป็นร่างที่ไม่ควรที่จะรองรับคุณธรรมของพระอรหันต์

พระราชปุจฉา : ดิฉันขอยกข้อดีว่าถ้าไม่มีพระบวรพุทธศาสนานี้ คงจะอยู่บนโลกนี้ด้วยความยากลำบาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเป็นแสงสว่างจริงๆ ทำให้สามารถระงับความโกรธ ความเกลียด ความผิดหวังอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และน้อมระลึกนึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านได้มีพระเมตตาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนพระพุทธเจ้าอย่างไรเจ้าคะ

หลวงพ่อพุธ :
พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่เหมือนกับพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรงที่ไม่แสดงธรรมและไม่ตั้งศาสนา ถ้าใครทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าท่าน เพียงแต่ให้ศีลให้พร หรือถ้าแสดงธรรมก็ไม่เป็นเรื่องเป็นราวพอที่จะจับเอามาปฏิบัติได้ อย่างดีก็เพียงแต่แนะนำให้รักษาศีล ให้ภาวนา ให้ทาน เป็นแต่เพียง แนะนำเท่านั้น ส่วนมากไม่แสดงธรรม เป็นเรื่องเป็นราวเหมือนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

โดยวิสัยของท่านพระปัจเจกพุทธะไม่มุ่งที่จะมีสาวก ถ้าหากมีคำสอนปรากฏอยู่บ้างก็เป็นไปเพื่อชีวิตของท่านเท่านั้น ไม่ไว้สาวกเพื่อสืบพระศาสนา การตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ก็มีความเสมอกันกับองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วๆไป ก็คือความเป็นอาสวักขยญาณ คือความสามารถทำกิเลส อาสวะให้หมดสิ้นไป พระปัจเจกพุทธเจ้าบางองค์ก็ทำจิตให้เป็นสมาธิมีความละเอียดยิ่งๆขึ้นไป จนกระทั่งสามารถตัดกิเลสออกจากจิตไปได้โดยไม่ต้องอาศัยเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนมากพระปัจเจกพุทธเจ้าจะสำเร็จเป็นพระปัจเจกได้โดยเจโตวิมุตติ คือการทำจิตให้ละเอียดลงไปแล้วก็ตัดกิเลสด้วยกำลังจิตที่เข้มแข็งเหล่านั้น เพราะฉะนั้นเมื่อสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะพระองค์ท่านแล้ว ท่านจึงไม่สามารถแสดงธรรมได้อย่างกว้างขวางอย่างมีเหตุมีผล เหมือนกับพระพุทธเจ้าโดยทั่วๆไป นี่คือข้อแตกต่างระหว่างพระปัจเจกพุทธเจ้าและสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระราชปุจฉา : ดิฉันอยากจะถามว่าสมัยนี้มีพระปัจเจกพุทธเจ้าบ้างไหม

หลวงพ่อพุธ :
หากอาศัยหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาแล้ว พระพุทธเจ้าของเราทรงกำหนดอายุพระศาสนาไว้ ๕,๐๐๐ ปีพระศาสนา ขณะนี้ได้ดำเนินมา ๒,๕๐๐ ปีเศษแล้ว ศาสนาพุทธก็ยังปรากฎอยู่ในโลก ยังไม่ว่างจากพระศาสนา ในช่วงที่ยังมีพระพุทธศาสนาปรากฏอยู่ยังไม่สิ้นอายุพระศาสนา พระปัจเจกพุทธเจ้ายังไม่มี ถ้าอาศัยหลักฐานตามคัมภีร์แล้วยืนยันได้ตามนั้น ปัจจุบันนี้พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มี

พระราชปุจฉา : คำว่ากรรมฐานมีความหมายอย่างไร ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วยเจ้าค่ะ

หลวงพ่อพุธ :
กรรมฐานตามความหมายของคำศัพท์หมายความว่า เป็นที่ตั้งแห่งการงาน ความหมายในทางธรรมะหมายถึง การทำงานทางจิตที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตโดยตรงเรียกว่ากรรมฐาน

อารมณ์ของกรรมฐาน ‘พุทโธ’ เป็นพุทธานุสติเป็นที่ตั้งของการงานในทางจิต ‘ธัมโม’ ธรรมะก็เป็นที่ตั้งการงานของจิตอย่างหนึ่ง ‘สังโฆ’ พระอริยสงฆ์ก็เป็นที่ตั้งการงานทางจิตอย่างหนึ่ง

อานาปานสติ การกำหนดรู้ลมหายใจ หายใจเข้าออกให้รู้ว่า สั้นหรือยาว หยาบหรือละเอียด สบายหรือไม่สบาย เป็นที่ตั้งของกรรมฐานอย่างหนึ่ง คำว่ากรรมฐานจึงหมายถึงที่ตั้งการงานในทางจิต พูดถึงหลักกรรมฐานตามแนวทางปฏิบัติ เฉพาะอารมณ์ของสมถะกรรมฐานมีถึง ๔๐ อย่าง ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ เช่น มี อนุสติ ๑๐ อสุภ ๑๐ ธาตุกรรมฐาน ๔ และอารมณ์อื่นๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นอารมณ์ของสมถะ และเป็นที่ตั้งแห่งการงานในทางจิตทั้งนั้น

พูดถึงอนุสติ หมายถึงการระลึกถึงอารมณ์ จิตใจ ในอนุสติ ๑๐ เช่น พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ คือระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น แต่มาว่าถึงอนุสติข้อที่ ๙ และ ๑๐ ได้แก่ กายคตาสติและอานาปานสตินั้น กายคตาสติคือการพิจารณากายเป็นอารมณ์ อานาปานสติคือการกำหนดลมหายใจเป็นอารมณ์ อารมณ์กรรมฐานสองอย่างนี้ สามารถทำจิตของผู้ปฏิบัติให้สงบและสามารถเดินเข้าไปสู่ความเป็นอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิโดยลำดับ

และการกำหนดรู้ลมหายใจก็ดี การพิจารณากายคตาสติก็ดี ทั้ง ๒ อย่างนี้จัดเป็นกายานุปัสนาสติปัฏฐาน เป็นแนวทางยังจิตใจให้สงบในขั้นสมถะกรรมฐาน และเป็นเครื่องหมายให้จิตรู้พระไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาด้วย เพราะการพิจารณากายก็ย่อมบ่งถึงการเปลี่ยนแปลงภายในกาย คือ กายปกติ ทุกสิ่งทุกอย่างยังอยู่ในสภาพปกติ

ผู้ปฏิบัติพิจารณากายคตาสติ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เป็นไปได้ ๒ อย่างคือ

ประการแรกให้มองเห็นร่างกายที่พิจารณาอยู่นั้นเป็นของปฏิกูล สกปรก น่าเกลียด โสโครก เน่าเปื่อย ผุพัง ไม่สวย ไม่งาม อันนี้เพื่อกำจัดราคะ ความกำหนัดยินดี เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บวชในพระธรรมวินัยต้องปฏิบัติ ในแง่พิจารณากายคตาสติ มุ่งสู่จุดอสุภกรรมฐานเป็นสิ่งจำเป็นมาก

และอีกแง่หนึ่งนั้น พิจารณากายโดยกำหนดอาการ ๓๒ เหมือนกัน แต่จะน้อมจิตให้รู้ลงไปในแง่เป็นธาตุกรรมฐานคือเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ

ในการพิจารณาน้อมใจเชื่อและพิจารณาย้อนกลับไปมาอยู่อย่างนั้น ว่าร่างกายเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนกระทั่งจิตสงบลงไปแล้ว สามารถรู้ความจริงปรากฏขึ้นเป็นนิมิต ให้เห็นว่าร่างกายของเราเป็นเพียงธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟเท่านั้น เพราะความเป็นสัตว์ เป็นชีวิต เป็นเรา เป็นเขาไม่มี

ในเมื่อความเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นชีวิต ไม่มี ภายในใจก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า กายของเรานี้จะเป็นเราเขาเพียงแค่สมมติบัญญัติ เมื่อพิจารณาแยกออกมาจริงๆแล้วไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน หรือเป็นสัตว์บุคคล เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง อันนี้คือ จุดมุ่งหมายการพิจารณากายคตาสติ

และพร้อมๆกันนั้นแม้ว่าการพิจารณาลมหายใจเข้าออกก็ดี การพิจารณากายเป็นอสุภกรรมฐานเป็นของปฏิกูล น่าเกลียด ไม่สวยไม่งาม เป็นของโสโครกก็ดี การพิจารณากายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ จนเห็นชัดลงไปก็ดี ถ้าหากว่าจิตรู้ แต่การเป็นไปอย่างนี้ แม้ไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จิตของผู้ปฏิบัติก็เป็นเพียงชั้นสมถะกรรมฐานเท่านั้น

แต่ถ้าหากว่าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติตนไปสู่อนัตตสัญญา คือความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวตน วิปัสสนาญาณก็บังเกิดขึ้น คือรู้ว่าสิ่งทั้งปวง เป็นอนัตตาไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดย กองบรรณาธิการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น