xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความดันสูงถ่ายทอดถึงลูกชาย
ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ในสหรัฐฯ ได้ศึกษาจากอาสาสมัครเพศชาย 1,160 คนที่ทำแบบสอบถามด้านสุขภาพขณะยังเป็นนักศึกษาในปี 1947 และทำแบบสอบถามประจำปีต่อเนื่องตลอด 54 ปีต่อมาเกี่ยวกับความดันโลหิต การวินิจฉัยและรักษาอาการความดันสูงของตนเองและของพ่อแม่
เมื่อเริ่มต้นการศึกษา อาสาสมัคร 264 คน (23%) มีผู้ปกครองอย่างน้อยหนึ่งคนความดันสูง และ 20 คนเป็นทั้งพ่อและแม่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนับสิบปี พบผู้ที่มีพ่อหรือแม่หรือทั้งคู่เป็นโรคความดันสูงเพิ่มขึ้น 583 คน ทำให้สัดส่วนผู้ที่ผู้ปกครองอย่างน้อยคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้เพิ่มเป็น 60% และเป็นทั้งสองคน 14%
สุดท้าย นักวิจัยพบว่าผู้ที่พ่อหรือแม่หรือทั้งคู่ความดันสูง ลูกชายจะมีระดับความดันโลหิตเฉลี่ยสูงกว่าปกติเช่นเดียวกันเมื่อเริ่มต้นการศึกษา และมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคดังกล่าวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะหากพ่อแม่เริ่มเป็นตั้งแต่ยังหนุ่มสาว ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่าที่ลูกชายจะมีอาการเดียวกันเมื่ออายุ 35 ปี

ผู้ป่วยเบาหวานกว่า 5 แสน เสี่ยงตาบอด 25 เท่า
จากการสำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดในปี 2547พบเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 7 หรือประมาณ 3 ล้านคน โดยพบในเขตกรุงเทพฯสูงสุด เฉลี่ยร้อยละ 11 ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานที่ตรวจพบเกินครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค โดยมีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 4 แสนรายหรือประมาณร้อยละ 12 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ทำให้การรักษาได้ผลดี
นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี จะมีผลทำให้เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะที่สำคัญ โดยเฉพาะที่ตา ทำให้ผนังหลอดเลือดในจอประสาทตาเกิดความผิดปกติ มีเลือดออกในตา น้ำวุ้นตาขุ่นมัว จอประสาทตาลอก หรือที่เรียกว่าเบาหวานขึ้นตา และทำให้ตาบอด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ตาบอดเป็นอันดับ 2 รองจากตาต้อกระจก ขณะนี้พบผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตาประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยหรือประมาณ 5 แสนคน มีความเสี่ยงตาบอดสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป 25 เท่าตัว

เอวหนาเสี่ยงสูงเป็นอัลไซเมอร์
ชายและหญิงวัยเลข 4 นำหน้าที่เอวหนาเป็นกาละมัง มีแนวโน้มสูงกว่าปกติ 3 เท่าที่จะเป็นโรคความจำเสื่อมร้ายแรงชนิดนี้เมื่ออายุล่วงเข้าวัย 70 ปี ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่า ไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าเหตุใดรอบเอวที่หนาขึ้นจึงมีผลต่อสมอง แม้ไขมันช่วงกลางลำตัวมีการเผาผลาญได้ดีกว่าไขมันบริเวณสะโพกก็ตาม กระนั้น เชื่อว่าสาเหตุอาจมาจากการที่ไขมันมีความเกี่ยวโยงกับปัญหา อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และระดับคลอเรสเตอรอลสูง
งานวิจัยอีกชิ้นเชื่อมโยงโรคอ้วนกับโรคหลอดเลือด ซึ่งมีบทบาทสำคัญกับโรคสมองเสื่อม ส่วนหนึ่งจากการที่ไขมันไปอุดตันหลอดเลือดแดงในการวิจัยล่าสุดบ่งชี้ว่า ขณะที่มาตรฐานการวัดระดับความอ้วนด้วยดัชนีมวลกาย อาจช่วยในการทำนายความเสี่ยง แต่ขณะเดียวกัน ไลฟ์สไตล์ที่ทำให้รอบเอวหนาก็อาจเกี่ยวโยงใกล้ชิดกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมในระยะยาว
นักวิจัยอเมริกันได้วัดระดับไขมันบริเวณหน้าท้องของอาสาสมัคร 6,583 คนที่อายุระหว่าง 40-45 ปี ในทศวรรษ 1960-1970 ผ่านไป 36 ปี อาสาสมัคร 16% ตรวจพบเป็นโรคสมองเสื่อม โดยคนที่มีชั้นไขมันรอบเอวหนาที่สุดเมื่ออายุ 40-49 ปี มีแนวโน้มเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่มีไขมันรอบเอวน้อยที่สุด

กินผงชูรส มากอันตราย!!
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงอันตรายจากการกินผงชูรสในปริมาณที่มากเกินไปว่า ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่กำลังนิยมใส่ผงชูรสในอาหารจำนวนมากขึ้น โดยเชื่อว่าผงชูรสจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้อร่อย ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ผงชูรสจะละลายไขมันให้ผสมกลมกลืนกับน้ำ ทำให้มีรสเหมือนน้ำต้มเนื้อ และกระตุ้นปุ่มปลายประสาทของลิ้นกับคอทำให้อาหารมีรสหวานอร่อย แต่ถ้าหากกินมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแพ้ผงชูรสที่เรียกว่า ไชนีสเรสเตอรองต์ซินโดรม หรือรู้จักกันในชื่อของโรคภัตตาคารจีน ทำให้รู้สึกชาที่ปาก ลิ้น ปวดกล้ามเนื้อบริเวณโหนกแก้ม ต้นคอ หน้าอก หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่สะดวก ปวดท้องคลื่นไส้ อาเจียน กระหายน้ำ นอกจากนี้ บริเวณผิวหนังบางส่วนอาจมีผื่นแดงเนื่องจากเส้นเลือดรอบนอกบางส่วนขยายตัว และในผู้ที่แพ้ผงชูรสมากๆ จะเกิดอาการชาบริเวณใบหน้า หู วิงเวียน หัวใจเต้นเร็ว จนอาจเป็นอัมพาตตามแขนขาชนิดชั่วคราวได้ แต่อาการเหล่านี้จะหายเองภายในเวลา2 ชั่วโมง หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ อีก โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ไม่ควรกินผงชูรสเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลต่อมารกในครรภ์ได้ สำหรับทารกแรกเกิดถึง 3 เดือนนั้น หากได้กินผงชูรสเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองในเด็กวัยนี้อีกด้วย
การกินผงชูรสมากเกินไปนอกจากจะเสี่ยงต่ออาการแพ้ผงชูรสแล้ว ยังเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากผงชูรสปลอมอีกด้วย

เตือนอาหารเสริมอาจให้โทษถึงชีวิต
คณะนักวิจัยในประเทศเดนมาร์กเผยรายงานการศึกษาผลของการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โดยระบุว่าอาหารเสริมจำพวกวิตามินต่างๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่ามีฤทธิ์ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ แท้จริงแล้วไม่ได้ช่วยยืดอายุของผู้บริโภคให้ยืนยาวได้จริง ซ้ำร้ายกลับเพิ่มความเสี่ยงต่อชีวิตมากขึ้นอีกด้วย
คริสเตียน กลัด แพทย์จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก หนึ่งในผู้วิจัยเผยว่า จากการวิเคราะห์ผลการศึกษา 68 กรณี ในประชากร 232,606 คน พบว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทต้านอนุมูลอิสระ ทั้งวิตามินเอ, อี และซี ไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพหรือช่วยให้อายุยืนยาวกว่าปกติเลยแม้แต่น้อย
ที่แย่ไปกว่านั้นในงานวิจัย 47 กรณี ที่ศึกษาในประชากรจำนวน 180,938 คน ซึ่งบริโภควิตามินเสริมทั้งในปริมาณปกติหรือมากเกินขนาดในแต่ละวัน และกลุ่มตัวอย่างที่บริโภควิตามินจำลอง พบว่าผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น
นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเบตาแคโรทีนยังเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดในผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย
ทว่า ณ ปัจจุบันนี้นักวิจัยเริ่มตระหนักกันแล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระที่ทำงานได้ดีและสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายได้รับจากการกินอาหารตามปกติ ไม่ใช่ได้จากการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนั้นผู้ที่กินอาหารที่มีประโยชน์และมีวิตามินสูงก็จะมีสุขภาพแข็งแรงมากกว่าได้อย่างง่ายๆ

ผลวิจัยชี้ทำงานนั่งโต๊ะ
เสี่ยงทักทายมะเร็งต่อมลูกหมาก

ผู้ชายที่ทำงานราชการ ครู หรือในสำนักงาน มีแนวโน้มเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่าคนที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อาบเหงื่อต่างน้ำ เช่น ผู้ใช้แรงงาน ช่างตัดผม และคนทำขนมปังขนมอบ
ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอเธนส์ กรีซ ศึกษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก 320 คน และเปรียบเทียบกับผู้ชายอีกกลุ่มที่ไม่ได้เป็นโรคนี้ ผลที่ออกมาบ่งชี้ว่า ผู้ชายที่ทำงานในสำนักงานมีแนวโน้มเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากเพิ่มขึ้น 30% และ 40% สำหรับโรคต่อมลูกหมากโต ที่ทำให้มีปัญหาในการปัสสาวะ และแม้ไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็จำเป็นต้องผ่าตัด
อนึ่ง ความเสี่ยงของโรคนี้จะเพิ่มขึ้นตามวัย โดยผู้ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไปมีโอกาสเป็นมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยทางพันธุกรรมมาเกี่ยวข้องด้วย

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 93 ส.ค. 51 โดย ธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น