xs
xsm
sm
md
lg

“มองไม่เห็นหัวตัวเองในกระจก” ความเจ็บปวดผู้ป่วยเบาหวานขึ้นตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อยู่ดีๆวันหนึ่งก็ตื่นขึ้นมาแล้วมองไม่เห็นหัวและหน้าตาตัวเองในกระจก เห็นแต่ร่างกายท่อนล่างและเป็นสีแดงเหมือนเลือด ให้ลูกชายช่วยดูก็เห็นมีน้ำแดงๆในตา  เวลากินข้าวก็แยกไม่ออกว่ากับข้าวแต่ละชนิดเป็นอะไร”
จันทร์เพ็ญ โอษคลัง ขณะพบแพทย์
จันทร์เพ็ญ โอษคลัง วัย 58 ปี ชาวจ.กาฬสินธุ์ เล่าย้อนถึงอาการป่วยก่อนไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่รพ.สมเด็จพระยุพราชกุฉินารายณ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ โดยแพทย์ระบุว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน หรือเรียกว่า “เบาหวานขึ้นตา”

แพทย์ตรวจพบว่าเธอป่วยเป็นโรคเบาหวานเมื่อ 20 ปีก่อน ขณะที่เธออายุเพียง 38 ปี โดยวัดระดับน้ำตาลได้ถึง 200 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อรับรู้ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญอะไรมากนัก เพราะคิดว่าไม่ใช่โรคที่น่ากลัวหรืออันตรายถึงชีวิต และไม่เคยรับรู้เลยว่าการป่วยเป็นเบาหวานของตนเองจะส่งผลกระทบต่อตามากมายขนาดนี้

แต่ตลอดเวลาเธอ คิดว่าตนเองปฏิบัติตัวเป็นผู้ป่วยที่ดีแล้ว ด้วยการไปพบแพทย์เพื่อรับยาและตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกครั้งที่แพทย์นัดและรับประทานยาไม่เคยขาด อาจบกพร่องบ้างในเรื่องของการควบคุมอาหารที่ไม่ได้ดำเนินการจริงจังนัก เป็นเช่นนี้เรื่อยมากว่า 10 ปี

จนเมื่อปี 2545 ตาเริ่มมีปัญหาและตรวจพบภาวะเบาหวานขึ้นตา แพทย์ทำการรักษาด้วยการยิงเลเซอร์แต่อาการไม่ดีขึ้น กระทั่งปี 2547 แพทย์จึงแนะนำให้ผ่าตัดตาทั้งสองข้าง เสียค่าใช้จ่ายข้างละ 1 หมื่นบาท แต่โชคดีที่ตนเป็นข้าราชการของโรงพยาบาล จึงสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ไม่เช่นนั้น ก็คงลำบากที่จะหาค่ารักษาพยาบาลที่เท่ากับเงินเดือนของตนทั้งเดือน

“หลังผ่าตัดตาแล้วอาการดีขึ้น หากไม่ผ่าอาการก็จะหนักขึ้นจนอาจถึงขั้นตาบอด แต่ก็ยังไม่เหมือนสายตาคนปกติ เวลามองสิ่งของต่างๆก็ยังพร่ามัว เวลาข้ามถนนก็กลัวจะถูกรถชน เพราะเห็นไม่สว่างและกะระยะไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่มาพบแพทย์ในช่วงที่อาการหนักมากแล้ว จึงอยากให้ผู้ป่วยเบาหวานรีบเช็กตาของตนเอง จะได้ไม่สายเกินไป”

ทุกวันนี้ จันทร์เพ็ญ บอกว่า เธอยังคงทำงานในตำแหน่งพนักงานเย็บผ้าของโรงพยาบาลแห่งนี้เช่นเดิม หากไม่สามารถเย็บผ้าได้เหมือนเก่า เพราะมองไม่เห็นด้าย เธอจึงรับหน้าที่ในการพับผ้าแทน โดยมีลูกชาย 2 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลนี้เช่นกันคอยดูแลอย่างใกล้ชิด

นพ.สิริชัย นามทรรศนีย์ ผู้อำนวยการศูนย์แพทย์ชุมชนโนนฟองแก้ว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนที่จอประสาทตา จะอาการเหมือนคนปกติทุกอย่าง ไม่มีอาการบ่งชี้เบื้องต้น จะตรวจพบเฉพาะการไปตรวจกับจักษุแพทย์เท่านั้น และเมื่อไหร่ที่แสดงอาการออกมาให้เห็นนับว่าภาวะแทรกซ้อนอยู่ในระดับรุนแรงแล้ว

อย่างไรก็ตาม อาการที่เป็นตัวบ่งชี้เมื่อเบาหวานขึ้นตามากแล้วนั้น อาจแยกเป็น 2 แบบ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยมองเห็นลูกไฟ จุดดำๆลอยไปลอยมา หรือมีสีแดงเกิดขึ้นในตา ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกในตา และ 2.มองเห็นคนเพียงซีกเดียว โดยอาจมองเห็นข้างซ้าย-ขวาข้างใดข้างหนึ่ง หรือมองเห็นเฉพาะภาพส่วนบนหรือล่างของคนเท่านั้น เนื่องจากจอประสาทตาหลุด จึงรับภาพไม่ได้หมด เห็นแค่ส่วนเดียว ซึ่งจันทร์เพ็ญจัดเป็นแบบนี้ และไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติ ทำได้เพียงช่วยให้อาการดีขึ้นและไม่รุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่หากปล่อยไว้จะทำให้ตาบอดในที่สุด

“ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ไม่ควรชะล่าใจว่าตนเองไม่ได้เป็นอะไรมาก เพราะเบาหวานขึ้นตา จะแสดงอาการเมื่อเข้าขั้นรุนแรงแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรไปตรวจกับจักษุแพทย์อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการป้องกันไว้ดีกว่าแก้ และเมื่อไหร่ที่ตาเริ่มฝ้าอย่าปล่อยทิ้งไว้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที”นพ.สิริชัยให้คำแนะนำ

วิธีการช่วยลดโอกาสในการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่ดี ผู้ป่วยจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ด้วยการคุมอาหาร ลดรสชาติหวานและแป้ง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ยิ่งกว่านั้น ญาติจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการงดของเยี่ยมที่เป็นอาหารที่จะทำให้ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้น คอยกระตุ้นให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย และเข้าใจภาวะอารมณ์ของผู้ป่วยที่อาจจะไม่ปกติ

นพ.สิริชัย กล่าวอีกว่า เฉพาะที่รพ.แห่งนี้มีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 600 คน ตรวจพบเป็นเบาหวานขึ้นตาราว 67 คน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตรวจต้องดำเนินการโดยจักษุแพทย์ที่ปัจจุบันประสบความขาดแคลนบุคลากรเฉพาะด้านและประจำอยู่โรงพยาบาลในเมือง ทำให้ชาวบ้านได้รับการรักษาและตรวจภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ล่าช้า ประชาชนที่อยู่ห่างไกลจะไม่มีเงินเสียค่ารถเดินทางไปตรวจและผ่าตัดตา ส่วนใหญ่จึงปล่อยไปตามยถากรรม

การแก้ปัญหาในเรื่องนี้ นพ.เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน่วยงานและสถาบันในสังกัดกรมการแพทย์ ประกอบด้วย รพ.ราชวิถี รพ.เลิดเสิน สถาบันประสาทวิทยา รพ.นพรัตนราชธานี รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) และสถาบันวิจัยและประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา เพื่อศึกษารูปแบบในการบริหารจัดการและดำเนินการตรวจคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตาที่เหมาะสมและคุ้มค่าสำหรับประเทศไทย

โดยหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานเข้าถึงบริการของจักษุแพทย์ได้ คือ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเช่นกล้องถ่ายภาพจอประสาทตาเข้ามาใช้ในการตรวจคัดกรองหาภาวะผิดปกติทางตาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน พร้อมทั้งฝึกทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถใช้กล้องดังกล่าวหรือเครื่องมือในการตรวจสอบและสามารถอ่านภาพได้ จะเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นในรายปกติช่วยลดภาระจักษุแพทย์ที่ประสบปัญหาขาดแคลนได้ และหากผู้ป่วยรายใดมีอาการน่าสงสัยเจ้าหน้าที่สามารถส่งข้อมูลภาพที่ตรวจสอบได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือ จะบันทึกลงแผ่นซีดีส่งต่อไปให้จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่าตามีความผิดปกติหรือไม่ หากพบว่าผิดปกติก็จะได้รีบรักษาโดยเร็ว ปัจจุบันเริ่มดำเนินการแล้วในจ.ตาก และจะขยายโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาอยู่ประมาณ 500,000 คน ในจำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดทั่วประเทศ ประมาณ 2.45 ล้านคน มีจักษุแพทย์ในประเทศไทยเพียง 700 คนโดยเฉลี่ยพบว่าภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเข้าจอประสาทตาเกิดขึ้นประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดตาบอดจากเบาหวานสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไปประมาณ 25 เท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น