xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เตือนเบาหวาน อย่าลองสมุนไพรลดน้ำตาล ชี้เสี่ยงตาบอดสูง 25 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เตือนผู้ป่วยเบาหวานขี้ใจร้อน หลังได้ยาสมุนไพรคุมน้ำตาลตัวใหม่จะเปิบของแสลงไม่ยั้งปากเพื่อดูความแรงของยา หากไม่ได้ผลก็จะไม่กินต่อ แต่ยิ่งอันตราย เพิ่มความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนโดยเฉพาะเบาหวานขึ้นตา ทำให้ตาบอดถาวรสูงกว่าผู้ป่วยที่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ถึง 25 เท่า

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคเบาหวานกำลังคุกคามสุขภาพประชาชนไทยมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายในการป้องกันโรค โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกาย กินอาหารหวานน้อยลง เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานขณะนี้กว่าร้อยละ 80 มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการกิน ที่เหลือเกิดจากกรรมพันธุ์ จากการสำรวจสุขภาพคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ครั้งล่าสุดในปี 2547 พบเป็นโรคเบาหวานร้อยละ 7 หรือประมาณ 3 ล้านคน ผู้ป่วยที่ตรวจพบครั้งนี้ เกินครึ่งไม่รู้ตัวว่าเป็นโรค โดยมีผู้ป่วยเบาหวานประมาณ 4 แสนคน หรือประมาณร้อยละ 12 เท่านั้นที่สามารถปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ได้ดี

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยเบาหวาน คือ การควบคุมระดับน้ำตาล หากควบคุมได้ไม่ดีจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบของร่างกาย ที่สำคัญ คือ จอประสาทตาเสื่อม หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเบาหวานขึ้นตา หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตาบอดอย่างถาวร เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานหลายปี จะมีผลทำให้เส้นเลือดฝอยทั่วร่างกายเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะที่ตา ผนังหลอดเลือดในจอประสาทตาจะเกิดความผิดปกติ มีเลือดออกในตา น้ำวุ้นตาขุ่นมัว จอประสาทตาลอก ทำให้ตาบอด ซึ่งโรคเบาหวานนี้เป็นสาเหตุทำให้ตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากตาต้อกระจก ขณะนี้ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วยเบาหาน พบเบาหวานขึ้นตาหรือมีประมาณ 5 แสนคน มีความเสี่ยงตาบอดสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไป 25 เท่าตัว

นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาข้อมูลประชากรโลกใน พ.ศ. 2545 พบว่าภาวะเบาหวานขึ้นตาเป็นสาเหตุให้ประชากรโลกมีสายตาเลือนรางจนถึงตาบอดสูงถึงเกือบร้อยละ 5 ในประเทศสหรัฐอเมริกาพบเป็นสาเหตุให้คนอายุ 20-74 ปี ตาบอดปีละประมาณ 24,000 คน มูลเหตุความเสี่ยงที่จะเกิดเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เป็นเบาหวานมานาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องอีกคือ น้ำหนักตัวมาก ระดับไขมันในเลือดสูง การสูบบุหรี่ ดังนั้นผู้ที่เป็นเบาหานจะต้องควบคุมตัวเองอย่าให้เกิดสิ่งที่เป็นความเสี่ยง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นเบาหวานขึ้นตา

“ข้อมูลที่น่าเป็นห่วง คือ มีผู้ป่วยเบาหวานบางรายชอบทดสอบความแรงของยา โดยเฉพาะยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด โดยกินอาหารต้องห้าม เช่น อาหารรสหวาน อาหารไขมันสูง เช่น หนังไก่ทอด ขาหมู แล้วกินยาตามเพื่อดูว่าจะได้ผลทำให้อาการดีขึ้นในวันรุ่งขึ้นหรือไม่ หากไม่ดีก็จะไม่กินต่อ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลเสียอย่างมากต่อการควบคุมเบาหวานของผู้ป่วย เพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่ายขึ้น เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาให้หายขาด แต่สามารถควบคุมอาการไม้ให้รุนแรงขึ้นได้” นายแพทย์สุพรรณกล่าว

ด้านแพทย์หญิงวลัยพร ยติพูลสุข จักษุแพทย์โรงพยาบาลแพร่ จังหวัดแพร่ กล่าวว่า ได้ศึกษาความชุกและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาในจังหวัดแพร่ จากผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 3,513 คน ระหว่างเดือนตุลาคม 2549 ถึงกันยายน 2550 พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 87 มีสายตาดี ร้อยละ 83 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ร้อยละ 45 เป็นโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ร้อยละ 18 มีไขมันในเส้นเลือดสูง และพบผู้ป่วยร้อยละ 25 มีปัญหาเบาหวานขึ้นจอประสาทตา ในจำนวนนี้อยู่ในระยะรุนแรงถึงขั้นตาบอด ร้อยละ 2

จากการศึกษาครั้งนี้ พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้แก่ ผู้ป่วยที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป มีอัตราเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 45 ปี ถึง 1.69 เท่า ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป มีอัตราเสี่ยง 2.4 เท่า หากเป็นผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงร่วมด้วย จะมีอัตราเสี่ยงเป็นเบาหวานขึ้นตา 1.34 เท่า และในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ จะมีอัตราเสี่ยง 1.42 เท่า

แพทย์หญิงวลัยพร กล่าวต่อว่า ในการป้องกันไม่ให้เบาหวานขึ้นตา ขอให้ประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นเบาหวาน คือผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจเบาหวานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากยังไม่เป็นขอให้ป้องกันตัว โดยออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว กินอาหารรสหวานจัดให้น้อยลง ในกลุ่มที่ตรวจพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดเริ่มสูงเกินปกติ แต่ยังไม่เป็นโรค ขอให้รีบแก้ไขปรับพฤติกรรมตัวเองตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ จะช่วยได้ทัน แต่หากพบว่าเป็นเบาหวานแล้ว ให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และไปตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น