xs
xsm
sm
md
lg

“พรีม่า” นำทีมสื่อขึ้นเหนือโชว์นวัตกรรมยาใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงใหม่ – “พรีม่า” นำทีมสื่อเข้าห้องติวเข้ม “นวัตกรรมยา พัฒนาคุนภาพชีวิต” เสนอนวัตกรรมใหม่ทั้ง “วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก-เทคโนโลยีชีวภาพรักโรคตาเสื่อม และยาอัจฉริยะ”


เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า (Pharmaceutical Research & Manufacturers Association หรือ PReMA) ได้จัดสัมมนาเชิงวิชาการ สำหรับสื่อมวลชน ในหัวข้อ “นวัตกรรมยา พัฒนาคุณภาพชีวิต” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจ และนำเสนอข้อมูลใหม่ๆ พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นถึงนวัตกรรมยาที่มีความก้าวหน้าในการรักษาโรคต่างๆ ขึ้น ณ โรงแรมดีทู จ.เชียงใหม่

แพทย์หญิง กิติมา ยุทธวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาเชิงวิชาการในครั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับนวัตกรรมทางการแพทย์ในอุตสาหกรรมยา และชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมต่างๆ นั้น เกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยทั่วโลก ภาคอุตสาหกรรมยาถือได้ว่า เป็นอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาสูงที่สุด มากกว่าอุตสาหกรรมใดๆ

ทั้งนี้ ได้หยิบยกตัวอย่างนวัตกรรมยาที่สำคัญระดับโลก 3 เรื่อง ได้แก่ วัคซีนป้องกันมะเร็ง ถือเป็นนวัตกรรมยาที่ทำให้ผู้หญิงมีวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการรักษาโรคตาเสื่อม ช่วยให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ยาวนานขึ้น และยาอัจฉริยะ (Smart Medicines) นวัตกรรมที่ช่วยให้แพทย์มีอาวุธใหม่ในการต่อสู้กับโรคมะเร็ง ด้วยการรักษาแบบเจาะเข้าถึง “เป้าหมายโดยตรง (Targeted Therapies)” เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งร้ายได้อย่างตรงจุด

รศ.นพ.อรรณพ ใจสำราญ หัวหน้าหน่วยวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายถึงวัคซีนสำหรับป้องกันมะเร็ง ว่า ปัจจุบันทางการแพทย์ยืนยันได้แล้วว่า การติดเชื้อเอชพีวีชนิดก่อมะเร็ง เป็นเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก

ดังนั้น ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันแล้ว ก็จะลดความเสี่ยงได้ ซึ่งล่าสุดได้มีการค้นพบวิทยาการใหม่ ด้วยการผลิตวัคซีนเอชพีวี ที่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อดังกล่าว ที่เป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้แล้ว โดยสามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกถึง 70%

วัคซีนดังกล่าว ผลิตจากโปรตีนที่เปลือกหุ้มของเชื้อเอชพีวี วัคซีนชนิดนี้จึงไม่ใช่เชื้อไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ หรือเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว เมื่อฉีดวัคซีนเอชพีวีเข้าสู่กล้ามเนื้อจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์นั้นๆ ได้สูงมาก จึงสามารถป้องกันปากมดลูกจากการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์นั้นได้

ผลการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนเอชพีวี ในสตรีทั่วโลก รวมทั้งสตรีไทย พบว่า วัคซีนมีศักยภาพสูงในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ระดับสูงกว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากติดเชื้อตามธรรมชาติมาก นอกจากนั้นผลการศึกษาพบว่าวัคซีนเอชพีวีมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ได้ 100% โดยพบว่ามีความปลอดภัยสูง ไม่มีอาการข้างเคียงชนิดรุนแรง

“วัคซีนเอชพีวีถือได้ว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ในการต่อสู้กับโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย”

ขณะที่ รศ.นพ.วิชัย ประสาทฤทธา หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ระบุถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพช่วยยับยั้งการสูญเสียการมองเห็นด้วยโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ ว่า ในอดีตการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้จักษุแพทย์จะใช้แสงเลเซอร์ เพื่อทำลายเส้นเลือดงอกใหม่นี้

แสงเลเซอร์จะไปทำลายเส้นเลือด โดยทำให้เกิดความร้อนในเนื้อเยื่อ แต่จะทำลายเนื้อเยื่อที่ดีไปด้วย วิธีนี้เป็นเพียงวิธีรักษาไม่ให้โรคเป็นมากขึ้น โดยที่ไม่ช่วยให้ผู้ป่วยเห็นดีขึ้น ตรงกันข้ามจะทำให้การมองเห็นลดลงได้ วิธีการรักษาที่มุ่งทำลายเฉพาะเส้นเลือดที่ไม่ดี ได้มีการพัฒนาขึ้นมาตลอด ในปี พ.ศ.2543 ได้เริ่มต้นการรักษาด้วยวิธี Photodynamic therapy (PDT) การใช้สารบางชนิดฉีดเข้าไปเพื่อไปจับกับเส้นเลือดที่ผิดปกติ แล้วใช้แสงเลเซอร์ไปทำลายเฉพาะเส้นเลือดที่มีพยาธิสภาพเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ ยังไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยสามารถเห็นได้ดีขึ้น เพียงแค่ยับยั้งโรคเท่านั้น

ปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้เราสามารถทราบถึงสาเหตุของการเกิดเส้นเลือดงอกใหม่ในบริเวณจอประสาทตา และเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่สามารถสร้างโปรตีนที่จะนำมาจับกับสาร VEGF ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและเฉพาะเจาะจง รวมทั้งมีผลข้างเคียงน้อย
 
ในการรักษาโรคของจอประสาทตา ด้วยการใช้โปรตีนในการจับสารกระตุ้นเส้นเลือดใหม่ ไม่เพียงแต่สามารถรักษาระดับการมองเห็นให้ผู้ป่วย แต่ยังทำให้ผู้ป่วยมีระดับการมองเห็นที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ อันเป็นวิธีการรักษาในผู้ป่วยที่มีปัญหาในการมองเห็น สามารถที่จะมีการมองเห็นชัดขึ้นและช่วยเหลือตนเองได้ไม่เป็นภาระสังคมต่อไป

ส่วน ศ.ดร.สุมิตรา ทองประเสริฐ ศาสตราจารย์ ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่างว่า ปัจจุบันทางการแพทย์ได้พัฒนาไปถึงขั้นที่กล่าวได้ว่า เป็นยาอัจฉริยะ (Smart Medicines) การรักษาแบบเจาะถึง “เป้าหมายโดยตรง” (Targeted Therapies) เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งร้ายอย่างตรงจุดด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น