xs
xsm
sm
md
lg

หมอเด็ก เกรงพ่อแม่บ้าจี้! ให้ลูกฉีดวัคซีนตามโฆษณา เตือนก่อนฉีดควรศึกษาข้อมูลให้ดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเด็ก ห่วงวัคซีนทำการตลาด มีการแข่งขันสูง เกรงพ่อแม่บ้าจี้ให้ลูกฉีดวัคซีนตามโฆษณา เด็กแรกเกิด-15 ปีต้องทุกข์หนักต้องฉีดวัคซีนมากขึ้นถึง 33 เข็ม จ่าย 32,200 บาทต่อคน ขณะที่จำเป็นต้องฉีดจริง 16 เข็ม ป้องกัน 10 โรค รัฐฉีดให้ฟรี เตือนก่อนฉีดวัคซีนทางเลือกให้ศึกษาข้อมูลรอบด้าน รอวัคซีนถูกลงและรวมเข็มให้ฉีดน้อยลงดีกว่า หรือพิจารณาความคุ้มค่าเป็นรายๆ

ภาพจากเว็บไซต์
พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนสำหรับเด็ก มีการสื่อสารและการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงมาก ด้วยการให้ข้อมูลอันตรายของโรคต่างๆแก่ประชาชน จนเกิดกระแสความต้องการได้รับวัคซีนในอัตราสูง ขณะที่ราคาวัคซีนมีราคาแพง หากผู้ปกครองให้เด็กได้รับวัคซีนตามที่มีการสื่อสารการตลาด ทำให้เด็กไทยแรกเกิด-15 ปี ต้องได้รับการฉีดวัคซีนประมาณ 33 เข็ม ซึ่งโดยทั่วไปเด็กจะได้รับวัคซีนฟรีจากรัฐ 16 เข็ม แต่หากผู้ปกครองต้องการให้ลูกได้รับวัคซีนทางเลือดครบทั้งหมด เด็กจะต้องฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 17 เข็ม

พญ.ศิราภรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้วัคซีน แบ่งออกเป็น 3 ชุด ได้แก่ 1.วัคซีนจำเป็นที่เด็กไทยทุกคนต้องได้รับ โดยสถานพยาบาลของรัฐ และไม่เสียค่าใช้จ่าย จำนวน 10 โรค 16 เข็ม หยอด 5 ครั้ง อาทิ วัคซีนป้องกันวัณโรค ตับอักเสบ บี ไอกรน คอตีบ บาดทะยัก คางทูม หัดเยอรมัน และโปลิโอ เป็นต้น 2.วัคซีนเผื่อเลือกชุดที่ 1 จำนวน 3 โรค 7 เข็ม เช่น วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส และตับอักเสบ เอ มูลค่าประมาณ 4,700 บาทต่อคน และ3.วัคซีนเผื่อเลือกชุดที่ 2 จำนวน 4 โรค 10 เข็ม เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น มูลค่าประมาณ 25,700 บาทต่อคน

“หากเด็กต้องฉีดวัคซีนถึง 33 เข็ม จะต้องเสียค่าใช้จ่ายราว 32,200 บาทต่อคน และหากเด็กไทยเกิดใหม่ในแต่ละปีประมาณ 8 แสนคนต้องใช้เงินประมาณ 25,600 ล้านบาท เมื่อหักจากวัคซีนที่รัฐจัดให้ฟรี เหลือเงินที่ผู้ปกครองทั้งประเทศต้องจ่ายค่าวัคซีนเอง ประมาณ 24,800 ล้านบาท ดังนั้น หากต้องการให้เด็กได้รับวัคซีนเผื่อเลือกต่างๆ ควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน รอให้วัคซีนราคาถูกลงและมีการรวมเข็มให้ฉีดจำนวนน้อยลง” พญ.ศิราภรณ์ กล่าว

พญ.ศิราภรณ์ กล่าวอีกว่า วัคซีนเผื่อเลือกสำหรับเด็กที่มีการสื่อสารการตลาดมากที่สุดในขณะนี้ คือ วัคซีนไอพีดี (IPD) ใช้ในการป้องกันโรคไอพีดี ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ทำให้เกิดความพิการและสูญเสียชีวิต อันเนื่องมาจากโรคปอดบวมที่มีภาวะแทรกซ้อน โรคติดเชื้อในกระแสโลหิต และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โดยวัคซีนนี้สามารถครอบคลุมการป้องกันได้ประมาณ 2-3 ปี และเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพในการปกป้องโรคที่อันตราย แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกสายพันธุ์ของเชื้อที่ก่อโรคนี้ ซึ่งผู้ที่ควรได้รับวัคซีนนี้ ได้แก่ ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 65 ปี และเด็กที่มีความเสี่ยงสูง อาทิ เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีและมากกว่า 2 ปี ที่มีโรคเรื้อรัง เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ติดเชื้อเอชไอวี และเด็กที่ได้รับการผ่าตัดใส่วัสดุเทียมของหูชั้นในหรือมีการเปลี่ยนอวัยวะ อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาถึงความคุ้มค่าของวัคซีนเป็นรายๆ

ขณะที่ พญ.ปิยะนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ หัวหน้ากลุ่มงานโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในการพิจารณาวัคซีนชนิดไหนที่รัฐควรให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จะมีคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติทำหน้าที่พิจารณาการอนุมัติ ซึ่งจะใช้เกณฑ์หลักๆ 3 ด้าน ได้แก่ อุบัติการณ์และความรุนแรงของโรค ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน และความคุ้มค่าในการนำวัคซีนมาใช้ ทั้งนี้ วัคซีนไอพีดีและวัคซีนเอชพีวี (HPV) ยังเป็นวัคซีนในกลุ่มที่อยู่อันดับท้ายๆ ที่คณะกรรมการจะหยิบขึ้นมาพิจารณา เนื่องจากมีวัคซีนชนิดอื่นที่มีความจำเป็นต้องพิจารณาอนุมัติก่อนอีกหลายรายการ
กำลังโหลดความคิดเห็น