อธิบดีกรมควบคุมโรค ประกาศ 9 จังหวัด ติดชายแดนพม่าเฝ้าระวังโรคระบาดเข้มงวด ชี้ 1 สัปดาห์หลังอุทกภัยโรคระบาดจะตามมาแน่ แพทย์ชี้ ปัญหาสำคัญ ไม่มีใครมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อที่เกิดขึ้นในพม่า ขณะที่ “ไชยา” เสนอของบครม.128 ล้านบาท หนุนการทำงานของทีมแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพม่า
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากสถานการณ์ในประเทศพม่าที่ต้องเป็นห่วง สถานการณ์แนวชายแดนไทย-พม่า ได้สั่งให้เฝ้าระวังโรคระบาด แถบจังหวัดชายแดนทั้ง 9 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เพราะมีการอพยพ และข้ามไปมาของชาวพม่า จึงต้องมีการเฝ้าระวังตามด่านควบคุมโรคต่างๆ และได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้าน ชุมชน ที่มีชาวพม่าเข้ามาอาศัย แม้ว่าขณะนี้ ยังไม่มีรายการการเกิดโรค และผู้อพยพเข้ามา ยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ โรคระบาด มักจะเกิดขึ้นหลังอุทกภัยใหญ่ ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงต้องทำงานอย่างหนัก
“ได้แบ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคที่เฝ้าระวังเป็นประจำอยู่แล้ว ได้แก่ โรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย เท้าช้าง อหิวาต์ และกลุ่มโรคพิเศษที่ต้องเฝ้าระวัง จากเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส มี 4 กลุ่มโรค คือ กลุ่มแรกเป็นโรคทางเดินอาหาร ที่เกิดจากน้ำดื่ม เช่น อุจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อนำโดยแมลง คือ มาลาเรีย ไข้เลือดออก เท้าช้าง กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากแผลอักเสบ ติดเชื้อ ที่สามารถติดต่อได้” นพ.ธวัช กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาด ในประเทศพม่า ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งโรคระบาดในระยะแรก ความน่าเป็นห่วงจะอยู่ในเรื่องของ โรคติดต่อที่มาจากน้ำ เช่น โรคบิด โรคท้องร่วงเฉียบพลันรุนแรง เนื่องมาจากขาดแคลนน้ำสะอาด แต่หลังจากนั้น จะเกิดการระบาดโรคติดต่อที่มาจากสัตว์ สู่คน ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะโรคที่มาจากสัตว์เป็นพาหะ สามารถเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้เกิดการระบาดข้ามพื้นที่ได้ โดยเฉพาะ ไข้หวัดนก ที่มาจากสัตว์ปีก ซึ่งองค์การอนามัยโรค ยืนยันแล้วว่า ติดต่อจากคนสู่คน และโรคที่มาจาก ค้างคาว ซึ่งจะนำโรค นิปาห์ไวรัส และ ลิซสา ไวรัส ที่เชื้อจะอยู่ในเลือดและน้ำลาย ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแอนแทรกซ์ ติดจากโค กระบือ สัตว์มีกีบ ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีใครมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศพม่า
นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ. กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 พฤษภาคมนี้ สธ.จะเสนอขออนุมัติงบประมาณ 128 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพม่า รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือและเวชภัณฑ์ต่างๆ โดยในระหว่างนี้จะได้เงินอุดหนุนจากกองทุนช่วยเหลือแพทย์ของ สธ.ไปก่อน นอกจากนี้ ขณะนี้มีแพทย์ พยาบาล และมูลนิธิต่างๆ ได้ลงทะเบียนประสงค์จะร่วมเดินทางไปพม่าอีกกว่า 100 ราย ซึ่ง สธ.ให้เป็นทีมแพทย์สำรองไว้ก่อน