สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 30 คนพร้อมเครื่องมือแพทย์จำเป็น จากกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี ไปช่วยผู้ประสบภัยประเทศพม่า ทั้งการรักษา การควบคุมโรค การดูแลด้านจิตใจ พร้อมเดินทางวันศุกร์นี้
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขไทยได้รับแจ้งจากกระทรวงการต่างประเทศว่าทางการของพม่า ได้ยินดีเปิดรับทีมแพทย์จากประเทศไทย เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่กำลังประสบภัยในประเทศพม่าได้แล้ว โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้มีรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นแกนประสานจัดหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ชุดแรกจำนวน 30 คน ไปให้การรักษาพยาบาลชาวพม่าที่ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส ประกอบด้วยหน่วยแพทย์จากกระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย และโรงพยาบาลรามาธิบดี ไปให้การรักษาพยาบาล การควบคุมโรคระบาด รวมทั้งส่งทีมจิตแพทย์ไปเยียวยาด้านจิตใจแก่พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยครั้งนี้ด้วย โดยจะออกเดินทางในวันศุกร์นี้ และจะประจำการอยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หากมีความต้องการอีก ก็จัดส่งเพิ่มเติมได้
ทางด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า หน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่นี้ จะมีเครื่องมือที่จำเป็นในการใช้ปฏิบัติการไปด้วย สามารถทำงานได้ทันที ได้แก่ เครื่องมือผ่าตัดใช้ในภาคสนาม เครื่องมือตรวจโรคทั่วไป เครื่องมือที่ใช้ในการปฐมพยาบาล และเครื่องต้ม นึ่งฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ นอกจากนี้ยังมีการสำรองยาที่จำเป็น โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อต่างๆ ที่คาดว่าจะมากขึ้นหลังประสบภัยแล้ว 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะบาดแผล ซึ่งมีโอกาสเกิดการอักเสบได้มาก เนื่องจากติดเชื้อที่อยู่ในน้ำท่วมขังหรือดินโคลน โรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินหายใจและโรคติดต่อนำโดยแมลง โดยองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARO) รายงานล่าสุดเมื่อ 13 พฤษภาคม 2551 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 31,938 ราย บาดเจ็บ 1,403 ราย สูญหาย 29,770 ราย
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่าขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีความต้องการยารักษาโรคเพื่อนำไปช่วยชาวพม่าเป็นจำนวนมาก โดยจะขอรับบริจาคเฉพาะยา เวชภัณฑ์ วัคซีน รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในการควบคุมป้องกันโรค ที่จำเป็นมากได้แก่ยาปฏิชีวนะทั้งชนิดฉีดและชนิดกิน ยาแก้ปวดลดไข้ทั้งชนิดฉีดและชนิดกิน น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ ถุงมือ เป็นต้น โดยประชาชน ภาคเอกชนที่ต้องการบริจาคยา สามารถแจ้งบริจาคได้ที่ศูนย์นเรนทร หมายเลขโทรศัพท์ 02-590-2803 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการเดินทางไปยังพม่าในวันศุกร์ที่ 16 พ.ค.นี้นั้น นพ.ปราชญ์ กล่าวด้วยว่า จะเดินทางพร้อมคณะแพทย์ในเวลา 7.50 น. ซึ่งประกอบด้วย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผอ.สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน นพ.คำนวน อึ้งชูศักดิ์ ผอ.สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และทญ.โสภิดา ชวนิชกุล ผอ.กลุ่มการสาธารณสุขระหว่างประเทศ (สรป.) ซึ่งจะเดินทางไปยังพม่าเป็นเที่ยวแรก หลังจากนั้นในวันเสาร์ (17 พ.ค.) คณะแพทย์พระราชทาน ประกอบด้วยแพทย์รักษา และควบคุมโรค รวมถึงจิตแพทย์จะเดินทางด้วยเครื่อง ซี 130 ตามไปสมทบ
นพ.ปราชญ์ กล่าวอีกว่า แพทย์ชุดแรกที่ไปจะทำการหารือสอบถามข้อมูลยา และเวชภัณฑ์ ความต้องการ เครื่องมือการแพทย์ต่างๆ ตลอดจนวัคซีนเช่น วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค โรควัยรัสตับอักเสบเอ,บี ไข้กาฬหลังแอ่น และประสานเพื่อให้นำอุปกรณ์เหล่านี้มาพร้อมกันในเที่ยวที่สอง ซึ่งแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าพม่านั้นจะได้รับวีซ่า เป็นเวลา 14 วัน นอกจากนี้ได้เตรียมแพทย์ที่แสดงความจำนงค์จะเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงอาสาสมัครกว่า 100 คน พร้อมที่จะพลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ในคณะแพทย์ดังกล่าวจะมีแพทย์ชาวพม่า ที่เข้ามาศึกษาในไทย คอยเป็นล่ามแปลภาษาให้เมื่อลงพื้นที่อีกด้วย