สธ.ไทยส่งยา ชุดทำแผล เวชภัณฑ์มูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท ช่วยพม่ากอบกู้วิกฤตจากพายุไซโคลนนาร์กีส โดยจะส่งทางเครื่องบินซี 130 และสำรองหน่วยแพทย์รักษาพยาบาล ดูแลการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ทีมควบคุมป้องกันโรคเคลื่อนที่รวม 19 ทีม พร้อมเดินทางทันทีเมื่อพม่าร้องขอ
นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือสหภาพพม่า หลังประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีส ถล่มทำให้ประชาชนเสียชีวิตในเบื้องต้นเกือบ 4,000 ราย สูญหายอีกกว่า 2,000 ราย และไร้ที่อยู่อาศัยอีกนับแสนรายว่า กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้ส่งยาเวชภัณฑ์ 14 รายการ เช่น ชุดประสบภัยฉุกเฉิน 50,000 ชุด ยารักษาโรคต่างๆ เช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้อักเสบต่างๆ เวชภัณฑ์ เช่น น้ำเกลือ ผงน้ำตาลเกลือแร่ กระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา ชุดทำแผล 100,000 ชุด ยาหยอดตารักษาโรคตาแดง 50,000 ขวด ถุงมือ 500,000 คู่ ผงคลอรีนและถุงดำอย่างละ 5,000 กิโลกรัม รวมมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท โดยจะส่งทันทีทางเครื่องบิน ซี -130 ภายหลังได้รับการประสานผ่านกระทรวงการต่างประเทศของไทย
ด้านนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในด้านการรักษาพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานใกล้ชิดกับสภากาชาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้จัดหน่วยแพทย์รักษาพยาบาล และหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วควบคุมป้องกันโรคระบาดหลังเกิดภัยพิบัติ จำนวน 19 ทีม พร้อมยาและเวชภัณฑ์จำเป็น พร้อมเดินทางทันทีเมื่อทางพม่าร้องขอ
โดยในส่วนของการควบคุมโรค มี นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งได้ประสานงานกับกระทรวงสาธารณสุขพม่า เพื่อร่วมประเมินสถานการณ์ล่วงหน้า รวมทั้งความพร้อมการสื่อสาร และวางแผนร่วมกับหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วของกระทรวงสาธารณสุขพม่า ซึ่งไทย-พม่า มีความร่วมมือกันอยู่แล้ว หลังจากนั้น จะส่งทีมชุดใหญ่ลงไปพื้นที่ที่ประสบภัยในพม่า จะสามารถเดินทางในอีก 2-3 สัปดาห์นี้
นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า หลังเกิดภัยพิบัติ ปัญหาสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวัง ก็คือ โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดงจากเชื้อต่างๆ เนื่องจากสภาพขาดแคลนน้ำสะอาด อาหารอาจมีการปนเปื้อนได้ง่าย โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีน โดยเฉพาะโรคหัด เนื่องจากเด็กๆ อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โรคไข้เลือดออก มาลาเรีย รวมทั้งเชื้อบาดบาดทะยัก เชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในดินโคลน ทำให้บาดแผลอักเสบได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีโรคประจำถิ่นที่มีอยู่แล้ว ซึ่งหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วของไทย มีประสบการณ์ในเรื่องนี้อย่างดี จากเหตุการณ์สึนามิ เหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่น้ำก้อ จ.เพชรบูรณ์ จะได้ร่วมกับหน่วยควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วของพม่า ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงและวางแผนควบคุมป้องกันโรคตามพื้นที่ต่างๆ ต่อไป