รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบสารเคมีและเครื่องพ่นหมอกควันกำจัดยุงลาย มูลค่า 2 ล้านบาทเศษจากบริษัทเอกชน เผยปีนี้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วกว่า 10,000 ราย เสียชีวิต 12 ราย ย้ำมาตรการสำคัญให้เจ้าหน้าที่ และประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านเรือนเป็นประจำทุก 7 วัน เพิ่มเขตปลอดลูกน้ำยุงลาย ชี้หากประชาชนปล่อยมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายมาก คาดผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจเพิ่มขึ้นถึง 50,000 ราย
เช้าวันนี้ (28 เม.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ประจำเดือนเมษายน 2551 นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับมอบสารกำจัดยุงลายและเครื่องพ่นสารเคมีชนิดหมอกควัน จากบริษัท เคมฟลีท จำกัด เพื่อสนับสนุนการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ที่มีการระบาด
นายไชยา กล่าวว่า การระบาดของโรคไข้เลือดออกในปี 2550 มีผู้ป่วยทั้งหมด 64,040 ราย เสียชีวิต 75 ราย แต่ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้ปีนี้สถานการณ์การระบาดของโรคนี้ รวมทั้งโรคไข้มาลาเรียที่เกิดจากยุงก้นป่อง มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น โดยตั้งแต่ 1 มกราคม - 19 เมษายน 2551 ได้รับรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก แล้ว 10,901 ราย เสียชีวิต 12 ราย ที่สำคัญผู้ป่วยจากโรคไข้เลือดออกปีนี้เปลี่ยนจากปีที่ผ่านๆ มา โดยพบในกลุ่มอายุ 15 ปีมากขึ้น และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 80 มากที่สุดในภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคใต้ จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อประชากรทุก 1 แสนคนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อ่างทอง 106.71 กระบี่ 91.73 พระนครศรีอยุธยา 61 ราชบุรี 48 และประจวบคีรีขันธ์ 44.90 ซึ่งจากการสำรวจบ้านเรือนประชาชน พบมีถึง 2 ใน 3 ที่ไม่ได้ทำลายแหล่งลูกน้ำยุงลายในบ้าน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงการระบาดใหญ่ของโรคนี้
นายไชยา กล่าวต่อว่า การประชุมผู้บริหารระดับสูงวันนี้ ได้เน้นย้ำผู้ตรวจราชการกระทรวงทุกเขต ให้กำชับทุกจังหวัดเข้มมาตรการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำยุงลาย เป็นประจำทุก 7 วัน เริ่มตั้งแต่ยังไม่เข้าสู่ช่วงระบาดคือฤดูฝน เพื่อลดจำนวนพาหะนำโรคให้มากที่สุด และสร้างเขตปลอดลูกน้ำยุงลาย ทั้งระดับชุมชน หมู่บ้าน ตำบล โรงพยาบาล รวมถึงจะประสานเชิงนโยบายกับกระทรวงต่างๆ เช่น มหาดไทย ศึกษาธิการ อุตสาหกรรม ให้ดูแลหน่วยงานในสังกัดให้เป็นเขตปลอดลูกน้ำยุงลาย ซึ่งหากประชาชนไม่ช่วยกันทำลายลูกน้ำยุงลาย คาดว่าในปีนี้จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจพุ่งถึง 50,000 รายก็ได้
“มาตรการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนี้จะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน เพราะแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น โอ่งน้ำ อ่างเก็บน้ำในห้องน้ำ จานรองขาตู้กับข้าว แจกันบูชาพระ อ่างไม้น้ำ เป็นต้น จึงต้องขอให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และช่วยกันดูแลบ้านเรือนไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายดังกล่าว ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ดูพื้นที่สาธารณะรอบนอก เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกันอย่างเต็มที่แล้ว มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้แน่นอน” นายไชยากล่าว
ด้าน นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาคเอกชนตระหนักถึงปัญหาสาธารณสุขสำคัญของประเทศ และเข้ามาให้การสนับสนุนต่างๆ ช่วยเสริมให้การดำเนินงานของภาครัฐเข้มแข็งขึ้น ทำให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับของสนับสนุนการแก้ปัญหาไข้เลือดออกของ บริษัทเคมฟลีท จำกัด ในวันนี้ ประกอบด้วย ยาฆ่าลูกน้ำยุงลาย 150,880 เม็ด สารเคมีสำหรับฉีดพ่นฆ่าตัวแก่ยุงลาย 72 ลิตร และเครื่องพ่นหมอกควันชนิดตัวเครื่องอลูมิเนียมอย่างดี ขนาด 30 แรงม้า จำนวน 1 เครื่อง รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,000,760 บาท