ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่โคราชสั่งคุมเข้มการระบาดไข้เลือดออก หลังพบผู้ป่วยทั่วประเทศพุ่งพรวด 3,600 กว่าราย สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา 1 เท่าตัว ชี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงมากขึ้น และสังเวยแล้ว 4 ราย ระบุ ภาคกลางผู้ป่วยสูงสุด อีสานพบผู้ป่วยแล้ว 301 ราย ส่วนโคราชพบผู้ป่วย 40 ราย ย้ำ สสจ.ร่วมมือ อสม.ทุกหมู่บ้านรณรงค์ป้องกันเชิงรุกกำจัดยุงลายพาหะนำโรค เตือน ปชช.ปล่อยปละละเลยให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้เลือดออกมีความผิดตามกม.
วันนี้ (26 ก.พ.) ที่วัดสว่างบูรพาราม หมู่ 2 ต.มะเกลือเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา พร้อมเปิดเผยถึงสถานการณ์ การระบาดของโรคไข้เลือดออก ว่า จากการเฝ้าระวังทั่วประเทศตั้งแต่เดือน ม.ค.-16 ก.พ.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสะสมจำนวน 3,621 ราย และเสียชีวิตแล้ว 4 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นเกือบเท่าตัว ซึ่งช่วงเดียวกันนี้ ปีที่แล้วมีผู้ป่วย 2,168 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต
เมื่อแยกออกเป็นรายภาคในช่วง ม.ค.-16 ก.พ.ปีนี้ที่ผ่านมาดังกล่าว ปรากฎว่า ภาคกลางมีผู้ป่วยมากที่สุด คือ 2,236 ราย รองลงมาเป็นภาคใต้ 662 ราย, ภาคเหนือ 421 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 301 ราย โดยตลอดปี 2550 ที่แล้ว มีผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศจำนวน 64,040 ราย เสียชีวิต 75 ราย
นพ.เสรี กล่าวต่อว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปีนี้มีผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา คือ ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศมีฝนตกในฤดูหนาวทำให้มีแหล่งพันธุ์ยุงลายเพิ่มขึ้น อีกทั้งสภาวะโลกร้อนทำให้แมลงต่างๆ แพร่พันธุ์ได้ดีในอุณหภูมิของโลกที่อุ่นมากขึ้น
ส่วนโรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเด้งกี่ ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ในแต่ละปีมีการระบาดของแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน แต่ในปีนี้จากการเฝ้าระวังพบว่า กลุ่มผู้ป่วยจะมีเชื้อไข้เลือดออกชนิดสายพันธุ์ที่ 2 มากขึ้น ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่าทุกสายพันธุ์ ผู้ป่วยไข้เลือดออกระยะแรกจะมีอาการไข้สูง ต่อมาเลือดจะออกตามอวัยวะภายใน และตามรูขุมขนทำให้เห็นเป็นจุดแดงๆ ผู้ป่วยจะเสียเลือดมาก อาจช็อกและเสียชีวิตได้ในที่สุด ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคนี้อยู่ระหว่างการทดสอบการใช้อยู่
สำหรับ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่เดือน ม.ค.-25 ก.พ.2551 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 40 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1.54 ต่อแสนประชากร ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต อำเภอที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ อ.ปักธงชัย, แก้งสนามนาง, ด่านขุนทด, ขามทะเลสอ และโนนสูง ตามลำดับ โดยพบอุบัติการณ์สูงสุด 3 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอายุ 10-14 ปี, กลุ่มอายุ 5-9 ปีและ กลุ่มอายุ 0-4 ปี ตามลำดับ ผู้ป่วยอายุต่ำสุด 1 ปีและ สูงสุด 36 ปี
นพ.เสรี กล่าวอีกว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ที่มีอยู่กว่าหลายแสนคนทั่วประเทศ ดำเนินการเชิงรุกในการรณรงค์ป้องกันการระบาดของไข้เลือดออก และขอความร่วมมือจากประชาชนให้ช่วยกันปิดฝาโอ่งที่มีน้ำขัง, เปลี่ยนน้ำในแจกันรวมทั้งปล่อยปลาหางนกยูงในแหล่งน้ำต่างๆ และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ หรือเกาะพักด้วยการกำจัด กลบฝังภาชนะที่ไม่ใช้แล้วแต่อาจมีน้ำขังอยู่
“ที่สำคัญ ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่า หากบ้านเรือนของใครเป็นแหล่งแพร่เชื้อไข้เลือดออกจะมีความผิดตามกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักไม่ปล่อยปละละเลยและให้ความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก” นพ.เสรี กล่าว