xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยไข้เลือดออก คาดปีนี้ดุ! 40วันแรกป่วย3พันราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สาธารณสุขเตือนภัยประชาชน อย่าชะล่าใจโรคไข้เลือดออกจากมฤตยูยุงลายใกล้ตัว ในปี 2551 นี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยแล้ว 2,824 ราย เสียชีวิต 4 ราย คาดสถานการณ์โรคปีนี้จะรุนแรงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากเชื้อต้นเหตุเป็นสายพันธุ์ที่ 2 มากขึ้น ทำให้เกิดช็อกและเลือดออกได้ ขอให้ประชาชนเร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก7 วัน

นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงตรวจเยี่ยมพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 3 เพื่อเร่งรัดการควบคุมโรคไข้เลือดออกว่า สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ คาดว่า จะมีความรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จากการเฝ้าระวังโรคในปี 2551 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ รวม 40 วัน ทั่วประเทศ มีรายงานผู้ป่วยสะสมแล้ว 2,824 ราย เสียชีวิต 4 ราย ผู้ป่วยร้อยละ 70 อยู่ในภาคกลาง มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2550 ซึ่งมีผู้ป่วยเพียง 1,702 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต พบว่าจำนวนผู้ป่วยปีนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 66 โดยตลอดปี 2550 มีผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณ 60,000 ราย เสียชีวิต 29 ราย และมีสัญญานว่าโรคนี้จะพบในเด็กโตมากขึ้น การพบผู้ป่วยเพียง 1 ราย เป็นสัญญานบอกเหตุว่าในหมู่บ้านหรือชุมชนนั้นๆ อาจมีคนติดเชื้อโดยที่ไม่มีอาการอีกนับ 100 คนได้

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญโรคไข้เลือดออก ประเมินสถานการณ์ว่าแนวโน้มการป่วยโรคนี้ในปีนี้ จะรุนแรงและจะมีการระบาดในวงกว้างเนื่องจากผลจากโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ยุงลายพัฒนาตัว ไข่จะฟักเป็นตัวเร็วขึ้น และทนแล้งได้นานขึ้น

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเด็งกี่(Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ คือ 1, 2, 3, 4 จากการเฝ้าระวังเชี้อในกลุ่มผู้ป่วยไข้เลือดออกที่พบในปีนี้ แนวโน้มเป็นสายพันธุ์ที่ 2 มากขึ้น ซึ่งต่างจากปีที่แล้วที่พบสายพันธุ์ที่ 1 มากกว่า โดยหากเป็นการติดเชื้อไข้เลือดออกครั้งแรก อาการจะไม่รุนแรง หลังติดเชื้อร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อต้นเหตุนั้น แต่หากติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 จะทำให้อาการรุนแรงกว่า เนื่องจากเป็นเชื้อต่างสายพันธุ์ ทำให้เกิดการเสียเลือดและช็อกเสียชีวิตได้ จากการที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำปฏิกิริยากับเชื้อไวรัส ทำให้มีการรั่วซึมของน้ำเลือดในเส้นเลือด ส่งผลให้เกร็ดเลือดต่ำ เลือดจะออกง่ายขึ้น เนื่องจากเชื้อมี 4 สายพันธุ์ คน 1 คนอาจป่วยเป็นไข้เลือดออกได้ถึง 4 ครั้งตลอดชีวิต เป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำอีกได้

“กลุ่มที่มีความเสี่ยงอันตรายจากไข้เลือดออก มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กอ้วนจะมีปัญหาในการคำนวณการให้สารทดแทนน้ำและเลือด เพราะหาเส้นเลือดยาก เนื่องจากมีไขมันสะสมใต้ผิวหนังมาก และการรักษาจะต้องใช้เกณฑ์น้ำหนักมาคำนวณด้วย ก็จะมีความยุ่งยากมากขึ้น” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออกเป็นพิเศษและให้ถือว่าโรคนี้เป็นโรคที่ท้าทายการบริหารจัดการของผู้บริหารทุกระดับ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ได้ขอความร่วมมืออาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ เร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เพื่อลดปริมาณยุงให้น้อยที่สุดก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่มีการระบาดของโรคดังกล่าวสูงที่สุด ยุงลายที่เป็นต้นเหตุไข้เลือดออกร้อยละ 95 เป็นยุงที่อยู่ในบ้านเรือน อีกร้อยละ 5 อยู่ตามสวน

ในการกำจัดยุงลาย ขอให้ประชาชนทุกหลังคาเรือน ช่วยกันดูแลปิดฝาโอ่งน้ำกินน้ำใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายเข้าไปวางไข่ ส่วนในภาชนะเล็กๆ ในบ้านเรือน เช่น แจกันไม้ประดับต่างๆ น้ำหล่อขาตู้กับข้าว รวมทั้งน้ำที่อยู่ในจานรองกระถางต้นไม้ น้ำกินในกรงนกสวยงาม น้ำในเล้าไก่เลี้ยงตามบ้าน ให้เปลี่ยนน้ำโดยวิธีเททิ้งทุก 7 วัน โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่สุดคือในห้องน้ำซึ่งโดยทั่วไปจะมีสภาพชื้น เย็น และมีมุมอับมืด จะเป็นที่ซ่อนตัวของยุงลายได้ ขอให้ประชาชนหมั่นดูว่ามีลูกน้ำยุงลายหรือไม่ หากพบว่ามีแม้แค่ตัวเดียว ขอให้ตักทิ้งไป หรือใช้น้ำให้หมดไปและถ่ายน้ำทิ้ง จะเป็นวิธีกำจัดยุงลายที่ดีที่สุด การพ่นหมอกควันไม่สามารถป้องกันในระยะยาว เป็นเพียงการควบคุมชั่วคราวเพื่อฆ่ายุงลายตัวแก่ในบริเวณที่มีการระบาดเพื่อไม่ให้ยุงที่มีเชื้อไปกัดหรือวางไข่ต่อที่อื่น ๆ อีก โดยยุงตัวเมียมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 45 วัน หลังผสมพันธุ์แค่ครั้งเดียว ยุงตัวเมียสามารถวางไข่ตัวละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 1,000-2,000 ฟอง

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับในเรื่องมาตรฐานการรักษา ได้กำชับให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดทั่วประเทศ ขอให้เข้มงวดในการตรวจวินิจฉัยโรค เมื่อพบผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีไข้สูงลอยเกิน 2 วัน ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกด้วย และขอความร่วมมือประชาชน ขอให้ระมัดระวังอย่าให้ยุงกัด ให้นอนในมุ้ง หรืออาจใช้ยาทากันยุงเช่นตะไคร้หอมเป็นต้น หากมีไข้ ให้กินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล ห้ามกินยาแอสไพรินเด็ดขาด เนื่องจากหากเป็นไข้เลือดออกจะทำให้เลือดออกง่ายและเสียชีวิตได้ โดยหากไข้ไม่ลดและไข้ยังสูงลอยเกิน 2 วัน ขอให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น