เตือนเที่ยววันเด็กระวัง 2 โรคตัวร้าย โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ และท้องร่วงอาหารเป็นพิษ ห่วงเด็กติดหวัดได้ง่าย ให้ผู้ปกครองระมัดระวัง หมั่นล้างมือบ่อยๆ ป้องกันเชื้อโรค ส่วนผู้ใหญ่ควรตรวจดูขนมถุง ขนมขบเคี้ยวอย่าเอาถุงรั่ว หรือใกล้หมดอายุไปแจกเด็ก เพราะอาจทำให้เด็กท้องเสียได้
นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องในวันเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองมักจะพาบุตรหลานของตนเองไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ที่ทั้งภาคราชการและเอกชนจัดไว้ เนื่องจากสถานที่เหล่านี้มีความแออัด อาจเป็นแหล่งที่ก่อเกิดโรคต่างๆ ได้ จึงมีความเป็นห่วงสุขภาพของเด็กและประชาชนที่จะไปเที่ยวอย่างไรไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อโรค สำหรับโรคที่สร้างความวิตกกังวล มี 2 โรค คือ โรคทางเดินหายใจ และโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ
นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับโรคทางเดินหายใจ เนื่องจากในช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลง และอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย ทำให้ประชาชนป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจกันมาก โดยเฉพาะโรคหวัดซึ่งติดต่อได้ง่ายในเด็กเล็ก เมื่อเป็นหวัดเด็กอาจมีโรคแทรกซ้อนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ โรคปอดบวม ซึ่งเป็นโรคที่ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตมากที่สุด ในแต่ละปีมีเด็กป่วยด้วยโรคปอดบวมเกือบแสนคน ปี 2548 มีเด็กป่วยด้วยโรคปอดบวม 76,520 คน ปี 2549 มี 74,768 คน ปี 2550 ได้รับรายงานมาแล้ว 63,711 คน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากผู้ดูแลเด็กขาดความรู้ และมีพฤติกรรมการป้องกันโรคทางเดินหายใจในเด็กไม่ถูกต้อง รวมถึงการให้เด็กกินยาเกินความจำเป็น
“เด็กสามารถติดโรคทางเดินหายใจได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการสัมผัสโต๊ะ เก้าอี้ ราวบันได ถ้าไม่ล้างมือ แล้วใช้มือลูบหน้า เอาเข้าปาก ก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคได้ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ดูแลก็อาจนำหวัดมาแพร่เชื้อให้เด็กได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ดูแลเด็กต้อง ดูแลสุขภาพร่างกายเด็กให้แข็งแรง ล้างมือเด็กและผู้ดูแลเป็นประจำ ใช้ผ้าปิดปากและจมูกเวลาไอ จาม ที่สำคัญในงานวันเด็กที่มีคนหนาแน่นก็ขอให้ผู้ปกครองระมัดระวังอย่าพาเด็กไปใกล้ชิดผู้ที่เป็นหวัด ผู้ที่ไอ จาม หมั่นล้างมือถ้ามีโอกาสเพราะเชื้อโรคมักจะเกาะอยู่ตามราวบันได มือจับประตูหรือราวเกาะต่างๆ หรือที่ต่างๆ ที่มีประชาชนสัมผัสมากๆ และถ้าผู้ป่วยเป็นหวัดอยากไปเที่ยวงานวันเด็กขอแนะนำให้ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น” นพ.ธวัช กล่าว
นพ.ธวัช กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลเด็กที่ป่วยเป็นหวัด หรือไข้หวัด ผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กได้เองที่บ้าน โดยให้พักผ่อนมากๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาร่างกายให้อบอุ่น เช็ดตัวลดไข้ หากมีไข้สูงให้รับประทานยาพาราเซตามอล ถ้าอาการไม่ดีขึ้น อาจเกิดจากการติดเชื้อแทรกซ้อนอื่นๆ ที่มีอันตรายถึงชีวิต เช่น โรคปอดบวม ซึ่งเด็กจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีและขอแนะนำอย่าใช้ปฏิชีวนะด้วยตนเอง ขอให้แพทย์เป็นผู้สั่งยาให้ และรับประทานให้ครบถึงแม้อาการเด็กจะดีขึ้นก็ตามเพราะถ้าทานยาไม่ครบเชื้อโรคจะดื้อยา และเด็กมีโอกาสจะกลับมาป่วยใหม่
นพ.ธวัช กล่าวอีกว่า ส่วนโรคอุจจาระร่วงและโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งติดต่อจากอาหารละน้ำ เนื่องจากอาหรอาจไม่สก มีแมลงวันตอม น้ำดื่มไม่สะอาดก็ทำให้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ในแต่ละปีพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงประมาณ 1 ล้าน ราย ในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยเด็กประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด ดังนั้น ในการจัดเลี้ยงงานวันเด็ก อาหารต้องสะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ ควรสังเกตวันหมดอายุของขนมต่างๆ ขนมต่างๆ และน้ำดื่มที่สะอาด ที่สำคัญควรมีการจัดเตรียมที่ล้างมือให้เด็กก่อนรับประทานอาหาร ถ้าเด็กมีอาการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงหรือโรคอาหารเป็นพิษ แนะนำให้ดื่มน้ำหรือของเหลวให้เด็กกินมากว่าปกติ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ และเกลือแร่ ได้แก่ สารละลายน้ำเกลือแร่ ORS น้ำแกงจืด ถ้าอาการยังไม่ดีควรพาเด็กไปพบแพทย์
“ขนมถุง ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ควรเลือกที่มีคุณภาพ อย่าเอาถุงรั่ว ทำให้เชื้อโรคเข้าไป หรือขนมใกล้หมดอายุไปแจกเด็ก เพราะแทนที่จะได้บุญอาจจะทำให้เด็กๆ ท้องเสียหมดสนุกได้” นพ.ธวัชกล่าว
นพ.ธวัช กล่าวด้วยว่า สำหรับในเรื่องโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก ปี 2551 นี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือสื่อมวลชน เรื่องโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจในเด็ก เพื่อแจกให้สื่อมวลชนโดยเฉพาะสถานีวิทยุกระจายเสียงทั่วประเทศ 524 แห่ง ไว้ใช้เผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนได้ทราบอย่างทั่วถึง โดยติดต่อได้ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทร.0-2590-3183