xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัย! ยอดเด็ก กทม.ติดโรคมือเท้าปากพุ่ง 5 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กทม.เตือนอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยระวังโรคบาดจากเชื้อไวรัสถามหาอย่างโรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก หลังจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รองผู้ว่าฯ กทม.ฝากร้านเกม อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ จัดเตรียมห้องน้ำ สบู่ล้างมือบริการลูกค้าโดยเฉพาะเด็กๆเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคเมือเท้าปากเพราะแค่เดือนมกราคมเดือนเดียวตัวเลขพุ่งสูงจากเดือนมกราคมปีที่แล้ว ถึง 5 เท่าตัวคือจาก 60 ราย เพิ่มเป็น 261 ราย

นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนายสิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกทม. แถลงเตือนประชาชนให้ระวังโรคระบาดในภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง เนื่องจากตั้งแต่ปลายปี 2550 เป็นต้นมา ทำให้เกิดโรคติดต่อสำคัญ 3 โรค คือ โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้เลือดออก โดยในช่วงเดือน ม.ค.2551 พบผู้ป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปาก สูงกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 5 เท่า ในช่วงเดือน ก.ย.2550 - ธ.ค.2550 พบผู้ป่วยโรคด้วยไข้หวัดใหญ่ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

ส่วนโรคไข้เลือดออกซึ่งมีการระบาดตลอดทั้งปีพบว่า มีแนวโน้มการระบาดสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2551 กทม.มีความห่วงใยประชาชนจึงได้ติดตาม เฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคดังกล่าว พร้อมให้คำปรึกษา แนะนำ แก่ประชาชน โดยสามารถรับบริการได้ที่ศูนย์บริการสาธารณสุขของกทม. 68 แห่ง อีกทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 72 แห่ง และโรงพยาบาลกทม.ทั้ง 9 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต สำหรับนอกเวลาราชการสามารถสอบถามปัญหาต่างๆ โดยโทร.สายด่วน กทม.1555 สายด่วนสำนักอนามัย 0-2245-4964 นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันโรคแก่เด็กนักเรียน กทม.โดยกองควบคุมโรค สำนักอนามัย ได้ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข และสำนักงานเขต จัดทำโครงการอบรมสารวัตรกำจัดยุงลาย ภายใต้โครงการกรุงเทพฯเขตปลอดยุงลาย ให้แก่นักเรียนในสังกัด กทม. โดยมีการบูรณาการ เรื่อง การล้างมือและสวมหน้ากากอนามัยเพื่อให้เด็กรู้จักวิธีการล้างมือที่ถูกต้อง ป้องกันโรคมือ เท้า ปากและไข้หวัดใหญ่ควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส 71 พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เป็นโรคที่เกิดได้ตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝนซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีไข้ 2-4 วัน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อคล้ายไข้หวัด ในปากมีแผลเหมือนแผลร้อนในและมีผื่นแดงเป็นจุดแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ต่อมาผื่นที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นตุ่มพองใส และแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆการติดต่อส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสอาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก ที่เกิดจากการไอ จามรดกัน น้ำจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วยในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน

สำหรับโรคนี้ไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 7 วันหรือจนกว่าจะหายเป็นปกติ ระหว่างนี้ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำ ห้างสรรพสินค้า และผู้ปกครองควรแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดูเด็กให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน และผู้เลี้ยงดูเด็กต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระเด็กป่วย หากพบว่ามีอาการระบาดของโรคมือ เท้าปากในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กให้แจ้งสำนักอนามัย หรือศูนย์บริการสาธารณสุขกรุงเทพมหานครในพื้นที่ เพื่อพิจารณาให้ปิดโรงเรียนตามความเหมาะสมเพื่อดำเนินการทำความสะอาดให้ปราศจากโรคต่อไป

ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งเป็นได้กับทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงกว่าเป็นไข้หวัดอย่างเห็นได้ชัด โดยมีไข้สูง ปวดศรีษะ ไอและอ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย บางรายอาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่ ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง โดยพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงสถานที่มีผู้คนแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก รวมทั้งหมั่นล้างมือบ่อยๆ และปิดจมูกทุกครั้งที่มีการไอหรือจาม

ขณะที่โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่พบได้ทุกเพศวัยและระบาดได้ตลอดปี แต่เนื่องจากในช่วงต้นปีมีภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตกไม่เป็นไปตามฤดูกาลไข้เลือดออกอาจระบาดสูงขึ้น ซึ่งผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะมีอาการไข้สูง เบื่ออาหาร และอาจมีจุดแดงตามลำตัว แขน ขา ซึ่งเรียกว่าระยะไข้ ต่อมาอาจเกิดระยะช็อกซึ่งมักเกิดช่วงที่ไข้ลดลงผู้ป่วยจะซึม มือเท้าเย็น ปวดท้อง ปัสสาวะออกน้อย อาจมีเลือดออกง่ายถ้าได้รับการรักษาไม่ถูกต้องอาจตายได้ การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ระวังอย่าให้ยุงกัด และช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

“อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองฝึกเด็กให้รู้จักต้องล้างมือเป็นประจำ รวมถึงอยากขอร้องให้ผู้ประกอบการเล่นอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ร้านเกมในห้างสรรพสินค้าต่างๆ จัดเตรียมห้องน้ำ สบู่ ไว้ล้างมือเพราะนี่เป็นมาตรการเบื้องต้นที่จะป้องกันเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากโรคมือ เท้า ปาก ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่การดูแลร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อยู่ในที่แออัด ขณะที่โรคไข้เลือดออกระวังอย่าให้มีน้ำขัง ดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัวให้ดี ยิ่งในสภาวะโลกร้อนแบบนี้” นายวัลลภ กล่าว

ด้านนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค กทม. กล่าวว่า สำหรับสถิติโรคมือ เท้า ปาก ในปี 2549 พบว่ามีเด็กป่วยจำนวน 1,273 ราย ปี 2550 4,689 ราย ขณะที่เดือนมกราคม 2550 มีจำนวน 60 ราย แต่ปี 2551 มีจำนวน 261 รายซึ่งเพิ่มสูงขึ้นถึง 5 เท่าตัว ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ปี 2549 มีผู้ป่วย 1,153 ราย ปี 2550 2,140 ราย ซึ่งช่วงเดือน ส.ค.-ธ.ค.2550 เมื่อเทียบรายเดือนในช่วงเดียวกันของปี 2549 ซึ่งเป็นช่วงฤดูระบาดจะเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แต่ถ้าเทียบรายปีเพิ่มขึ้น 2 เท่า ส่วนโรคไข้เลือดออก ปี 2549 มีจำนวน 7,604 ราย เสียชีวิต 12 ราย ปี 2550 จำนวน 7,251 ราย เสียชีวิต 11 ราย เฉพาะเดือนมกราคม 2550 จำนวน 599 ราย มกราคม 2551 มี 553 ราย แต่อย่างไรก็ตามอัตราการเสียชีวิตยังไม่เกิน 0.15 ต่อ ประชากร 1 แสนคน ทั้งนี้ ตนอยากให้ยึดหลัก 3 ป. ได้แก่ ปิด เปลี่ยน ปล่อย คือ การปิดฝาภาชนะ เช่น โอ่งน้ำให้เรียบร้อย, เปลี่ยนคือหมั่นเปลี่ยนน้ำในภาชนะไม่ให้ยุงลายไปวางไข้ได้ ส่วนปล่อย คือให้ปล่อยปลาหางนกยูงเพื่อให้กินลูกน้ำยุงลายแทนการใส่ทรายอะเบทที่เป็นสารเคมี ถ้าทำได้แค่นี้ก็จะปลอดภัยจากโรคไข้เลือดออกแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น