xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยา” เผยปีนี้ไข้เลือดออกไม่น่าห่วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไชยา” ประกาศสงครามโรคไข้เลือดออก หวั่นระบาดใหญ่ในรอบ 10 ปี สั่งการมิสเตอร์ไข้เลือดออกทุกจังหวัด เข้มทำลายลูกน้ำยุงลายชนิดล้างบางใน 2 เดือน ลดปริมาณยุงลายก่อนถึงฤดูระบาดหน้าฝน เผยสถานการณ์ปีนี้น่าห่วง แค่ไม่ถึง 2 เดือนพบผู้ป่วยแล้วกว่า 4,000 ราย สูงกว่าช่วงเดียวกันในรอบ 4 ปี เกือบ 2 เท่าตัว

เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (29 ก.พ.) นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรคและคณะ ตรวจเยี่ยมการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่บ้านมะเกลือใหม่ ม. 2 ต.มะเกลือใหม่ อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัคร ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง มีอาสาสมัครดูแลกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทั้งโรงเรียน บ้านและที่วัด ทำให้ในหมู่บ้านไม่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกติดต่อกันตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน โดยตั้งแต่ 1 มกราคม – 25 กุมภาพันธ์ 2551 จังหวัดนครราชสีมามีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกแล้ว 40 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ไม่มีผู้เสียชีวิต

นายไชยา กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากยุงลาย แนวโน้มการระบาดในปีนี้ คาดว่า จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกประปรายในหลายพื้นที่ มีน้ำขังตามภาชนะต่างๆ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2550 - 23 กุมภาพันธ์ 2551 ทั่วประเทศพบผู้ป่วย 4,393 ราย เสียชีวิต 6 ราย จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเดียวกันในรอบ 4 ปีที่ผ่านมาเกือบ 2 เท่า และสูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2550 ถึงร้อยละ 71 ซึ่งมีผู้ป่วย 2,570 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยร้อยละ 62 อยู่ในภาคกลาง รองลงมาเป็น ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วยทุกช่วงอายุ แต่ในกลุ่ม 7-14 ปี พบว่ามีความรุนแรง เกิดภาวะช็อกมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

นายไชยา กล่าวต่อว่า การควบคุมป้องกันโรคในปีนี้ มีนโยบายให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด และ อสม.เร่งควบคุมยุงลายตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดซ้ำซาก ได้สั่งการให้มิสเตอร์ไข้เลือดออกทุกจังหวัด รณรงค์กวาดล้างลูกน้ำยุงลายและแหล่งเพาะพันธุ์ ทั้งในบ้าน ศาสนสถาน แหล่งท่องเที่ยว รีสอร์ทต่างๆ โรงเรียน โรงพยาบาล สถานีอนามัยและบริเวณโดยรอบ ทุก 5-7 วัน เพื่อกำจัดลูกน้ำไม่ให้กลายยุงให้ได้มากที่สุด ก่อนถึงฤดูระบาดในหน้าฝน ซึ่งทุกปีจะพบผู้ป่วยมากขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และสูงสุดในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เพราะหากไม่มียุงลายก็จะไม่มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หากพบผู้ป่วยสงสัยเป็นไข้เลือดออกต้องรายงานทันที เพื่อควบคุมแหล่งแพร่เชื้อภายใน 24 ชั่วโมง ไม่ให้เกิดการระบาดในวงกว้าง และให้สถานพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อม ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการรักษาโรค เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

ด้านนายแพทย์ปราชญ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โดยทั่วไปโรคไข้เลือดออกจะระบาดทุก 2 ปี และมักมีการระบาดใหญ่ทุก 10 ปี ครั้งสุดท้ายไทยมีการระบาดใหญ่เมื่อ พ.ศ.2541 พบผู้ป่วย 129,954 ราย เสียชีวิต 424 ราย ในปีนี้ครบรอบการระบาด 10 ปีพอดี มาตรการสำคัญที่สุดคือต้องเร่งควบคุมยุงลายให้ได้ เพราะขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทั้งนี้ มีผลวิจัยว่าในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่กุมภาพันธ์ถึงเมษายน จะเป็นช่วงยุงลายตัวเมียวางไข่ทิ้งไว้ตามภาชนะที่มีน้ำขัง แม้น้ำแห้งแต่ไข่ยุงลายสามารถทนแล้งได้นานถึง 8 เดือน อาจถึง 1 ปี เมื่อมีฝนตกหรือมีน้ำท่วมถึง ไข่จะกลายเป็นลูกน้ำภายใน 2 ชั่วโมง และกลายเป็นตัวยุงภายใน 7 วันหรืออาจเร็วกว่านี้ การทำลายลูกน้ำยุงลายตั้งแต่ช่วงนี้จึงเหมาะมาก เรียกว่าเป็นโกลเดนท์ พีค (Golden peak) ในการควบคุมยุงลาย โดยหากสามารถควบคุมได้ในระยะนี้และทำอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถควบคุมหรือลดความรุนแรงการระบาดในช่วงฤดูฝนได้

นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเทศบาลทุกแห่ง เร่งควบคุมโรคไข้เลือดออกในช่วงนี้ ซึ่งเป็นฤดูก่อนระบาด โดยเฉพาะในโรงเรียน วัด และพื้นที่ชุมชนที่มีคนอยู่อาศัยหนาแน่นหรือชุมชนเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแลบ้านเรือน และคนยังเข้าใจว่ายุงตามท่อระบายน้ำหรือบ่อน้ำข้างบ้านเป็นยุงลาย และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออสม. ต้องมาพ่นหมอกควันกำจัดยุง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะยุงพวกนี้เป็นยุงรำคาญ ยุงที่เป็นต้นเหตุโรคไข้เลือดออก คือยุงลายที่อยู่ในบ้านและรอบบ้าน การพ่นหมอกควันเป็นแค่การกำจัดยุงลายตัวแก่ไม่ให้ไปกัดคนหรือวางไข่ต่อ แต่หากไม่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงให้หมด เพียง 2-3 วันก็จะมียุงเกิดขึ้นมาอีก และให้ทุกจังหวัดออกตรวจประเมินลูกน้ำยุงลายในบ้านและชุมชนทุกเดือน

“ขอให้ทุกคนช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้านของตนเอง อย่างน้อยทุก 7 วัน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไข้เลือดออก โดยเฉพาะในแจกันดอกไม้ แจกันใส่ไม้ประดับ จานรองกระถางไม้ประดับ แก้วน้ำ แจกันหิ้งพระหรือศาลพระภูมิ เก็บทำลายภาชนะแตกหัก กระป๋อง กะลา ที่ขังน้ำตามบริเวณบ้าน และนอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด ป้องกันไม่ให้ยุงกัด” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว

ด้าน นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue virus) มีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ถ้าติดเชื้อชนิดใดชนิดหนึ่งแล้วจะมีภูมิคุ้มกันชนิดนั้นไปตลอดชีวิต และมีภูมิคุ้มกันโรคจากสายพันธุ์ที่เหลืออีกประมาณ 1 ปี ต่อจากนั้นหากถูกยุงมีเชื้อกัดจะสามารถป่วยซ้ำได้อีก 3 ครั้ง โดยพบว่าการติดเชื้อครั้งแรกร้อยละ 80-90 มักไม่มีอาการหรืออาการป่วยไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เรียกว่าไข้เด็งกี่ แต่หากติดเชื้อซ้ำครั้งที่ 2 อาการจะรุนแรงขึ้น มีเลือดออกจากอวัยวะภายใน บางรายอาจเกิดอาการช็อค เป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากมารับการรักษาไม่ทัน

นายแพทย์ธวัช กล่าวต่อว่า ขณะนี้พบเด็กโตและผู้ใหญ่มีแนวโน้มติดเชื้อไข้เลือดออกมากขึ้น ที่น่าห่วงก็คือ กลุ่มนี้มักไปพบแพทย์ช้า เพราะไม่คิดว่าจะเป็นไข้เลือดออก จึงซื้อยามากินเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้ปวดลดไข้ที่มีฤทธิ์แรงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น แต่ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เมื่อมาถึงมือแพทย์จึงมีอาการช็อคจนตับและไตวายแล้ว รักษายากและโอกาสเสียชีวิตสูง ดังนั้นหากคนในบ้านป่วย มีไข้สูงลอยติดต่อกันประมาณ 3 วัน กินยาแล้วไข้ไม่ลด ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ให้สงสัยว่าอาจป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะในเด็ก ช่วงไข้ลดลง อาจเกิดอาการช็อก พบได้ประมาณ 1 ใน 3 สังเกตได้จากเด็กจะซึมลง กระสับกระส่าย หรือปวดท้องกะทันหัน ร้องกวน กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อยลง ให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที
กำลังโหลดความคิดเห็น