กทม.เดินหน้ารณรงค์ชวนประชาชนร่วมกำจัดยุงลายตามหลัก 5 ป. ปิด-เปลี่ยน-ปล่อย-ปรับ-ปฏิบัติ ดีกว่าใช้สารเคมี หลังสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาดหนักในหลายพื้นที่ เพราะแค่ 2 เดือนคน กทม.เป็นไข้เลือดออกแล้วเกือบ 1,000 คน หนองจอก ประเวศ ลาดกระบัง ครองแชมป์ผู้ป่วยของเมืองกรุง ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ระบุเจ้าของสถานที่รายใดที่ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และมีการระบาดมากสุดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโทษฐานที่ก่อเหตุรำคาญ
นายจักรพันธุ์ พรนิมิตร ที่ปรึกษาฯผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยนางป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด กทม. ร่วมกันออกรณรงค์ประชาสัมพันธ์ ป้องกันโรคไข้เลือดออกในเขตหนองแขม บางแค และบางขุนเทียน เพื่อให้ประชาชนทุกครัวเรือนช่วยกันกำจัดวงจรของยุงลายซึ่งเป็นสาเหตุของไข้เลือดออกโดยเดินรณรงค์ไปตามจุดต่างๆ ดังนี้ จุดที่ 1 ชุมชนซอยโรงหล่อพระ เขตหนองแขม ซึ่งพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณใต้ถุนบ้าน และที่กักเก็บน้ำในชุมชน จุดที่ 2 ชุมชนหมู่บ้านมหามงคล เขตบางแค ซึ่งพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในศาลพระภูมิ และกระถางบัว จุดที่ 3 เคหะชุมชนธนบุรี โครงการ 1 ซอยพระราม 2 เขตบางขุนเทียน ซึ่งพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในห้องสุขา และที่ทิ้งขยะ
ทั้งนี้ นายจักรพันธุ์ กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกมีแนวโน้มแพร่ระบาดมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแปรเปลี่ยน มีฝนตกนอกฤดู ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม.ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตทุกเขตดุแลป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดและให้นำพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 มาบังคับใช้ ซึ่งหากพบว่าเจ้าของพื้นที่ใดไม่มีการปรับปรุงสถานที่อยู่ในความรับผิดชอบปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายถือว่าเป็นการก่อเหตุรำคาญมีความผิดต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ ซึ่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศบังคับใช้ไปยังทุกจังหวัดเช่นเดียวกัน
ด้านนางป่านฤดี กล่าวว่า อากาศที่ร้อนทำให้มียุงลายไข้มากขึ้น ผสมพันธุ์เร็วขึ้น ที่สำคัญตัวแม่ยุงลายสามารถ่ายทอดเชื้อไข้เลือดออกไปสู่ลูกน้ำได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องถูกยุงลายตัวแม่กัดถึงจะได้รับเชื้อไข้เลือดออก ทั้งนี้ ยุงตัวแม่จะมีไข่ 600-700 ฟอง เมื่อโตขึ้นกลายเป็นลูกน้ำก็จะมีเชื้อไข้เลือดออกที่ได้ได้รับการถ่ายทอดจากยุงลายตัวแม่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สำหรับสถิติเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2551 พบว่า มีผู้ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 970 คน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2550 พบว่า มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 881 คน อย่างไรก็ตามตัวเลขของเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ยังไม่นิ่งเพราะยังรายงานเข้ามาไม่ครบ ส่วนเขตที่อยู่ในข่ายต้องเฝ้าระวังและมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากที่สุด 3 อันดับแรกของเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2551 คือ เขตหนองจอก 51 คน เขตประเวศ 47 คน และเขตลาดกระบัง 41 คน
ผอ.กองควบคุมโรค กทม.กล่าวด้วยว่า มาตรการที่สำคัญที่จะช่วยลดอัตราผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนที่จำเป็นจะต้องดำเนินการตามหลัก 5 ป. ได้แก่ ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ หรือภาชนะใส่ไม้ประดับต่างๆ ที่ต้องแช่น้ำทิ้งไว้เป็นสัปดาห์ ปล่อย ปลากินลูกน้ำในภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในอัตราส่วนที่กำหนด ปรับ สิ่งแวดล้อม ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เช่น การกำจัดขยะ ฯลฯ ปฏิบัติเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุก 7 วัน จะได้ผลดีที่สุดเพราะการฉีดสารเคมีจะฆ่าได้เฉพาะยุงลายที่แก่แล้วเท่านั้น ส่วนทรายอะเบตจำหน่ายซองละ 11 บาทจะฆ่าได้เฉพาะลูกน้ำ ไม่สามารถฆ่าตัวโม่งที่กำลังจะเติบโตกลายเป็นยุงเต็มที่ได้ ซึ่งเมื่อใช้ทั้ง 2 อย่างนี้จะมีสารเคมีตกค้างเป็นอันตราย