xs
xsm
sm
md
lg

ติวเข้มหน่วยแพทย์พระราชทานไปพม่า จับฉีดวัคซีน-ทำประกันชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ปฐมนิเทศหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ที่จะไปพม่าวันที่ 17 พ.ค.นี้ จำนวน 32 คน เตรียมตัวก่อนลงพื้นที่ ทั้งแพทย์ผ่าตัด แพทย์เด็ก อายุรแพทย์ ทีมควบคุมโรค ทีมจิตแพทย์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ทำประกันชีวิต ทีมแพทย์ชุดแรกหารือวางแผนก่อนปฏิบัติการ

วันนี้ (15 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปฐมนิเทศหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในนามประเทศไทย เพื่อให้กำลังใจและเตรียมความพร้อม ให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที โดยครั้งนี้มีแพทย์ที่จะเดินทางไปให้การรักษาพยาบาลชาวพม่าที่ประสบภัยพายุไซโคลนนาร์กีสจำนวน 32 คน ซึ่งประกอบด้วย ศัลยแพทย์กระดูก อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ จิตแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์ด้านระบาดวิทยา สัตวแพทย์และพยาบาล มาจากกรมสุขภาพจิต 2 คน กรมควบคุมโรค 4 คน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี 1 คนโรงพยาบาลรามาธิบดี 8คน สภากาชาดไทย 10 คนโรงพยาบาลราชวิถี 2 คนโรงพยาบาลราชบุรี 3 คน โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ 1 คนและศูนย์นเรนทร 1 คน โดยทีมแพทย์ที่จะเดินทางไปในวันเสาร์ที่ 17 พฤษภาคม ด้วยเครื่องซี 130 โดยได้รับวีซ่าอนุญาตให้อยู่ในพม่าได้ 14 วัน ถึงในวันที่ 31 พฤษภาคม 2551

นายไชยา กล่าวว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสนพระทัยติดตามสถานการณ์ และทรงมีความเป็นห่วงประชาชนชาวพม่าที่ประสบภัยอย่างมาก จึงมีกระแสรับสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยแพทย์ในพระองค์ จัดส่งทีมแพทย์ไปดูแลให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะกุมารแพทย์ เนื่องจากยังมีเด็กๆ ชาวพม่าที่ยังต้องการความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สธ.ยังได้สำรองหน่วยแพทย์ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ไว้ด้วย รวมทั้งมีมูลนิธิต่างๆ อาสาที่จะส่งแพทย์ พยาบาลไปร่วมด้วยอีกหลายแห่ง ได้ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 100 ราย

นายไชยา กล่าวว่า สำหรับแพทย์ที่จะเดินทางไปประเทศพม่าครั้งนี้ ถือเป็นการเสียสละไปเพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน เป็นตัวแทนของประเทศขอให้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ส่วนที่อยู่อาหารการกิน เราต้องจัดการดูแลช่วยเหลือตัวเอง ซึ่งต้องดูป้องกันตนเองด้วย โดยเฉพาะโรคฉี่หนูซึ่งอาจมีการแพร่ระบาดควรป้องกันด้วยการใส่บูท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ทีมสำรองจ่ายไปก่อนจากต้นสังกัด และสธ.จะตั้งงบประมาณจากสำนักงบประมาณอีกครั้งให้คืนในภายหลัง นอกจากนี้ จะมีการทำประกันชีวิต จากบริษัทประกันภัยให้ทุกคน “ส่วนปัญหาที่ห่วงว่าอาจมีชาวพม่าบางส่วนเข้ามาตามแนวชายแดนไทย เพื่อหาซื้ออาหารและน้ำดื่ม และอาจนำโรคติดต่อมาด้วยนั้น ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแนวชายแดนที่ติดพม่า 15 จังหวัด เฝ้าระวังเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดแล้ว” นายไชยากล่าว

นายไชยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ บริษัท ซาโนฟี่ อเวนทิส และซาโนฟี่ ปาสเตอร์ ได้บริจาคยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด สารน้ำทดแทนเลือด วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน จำนวน 2,000 ขวด และวัคซีนป้องกันโรคไทฟอยด์ชนิดฉีด 2,000 ขวด มูลค่ารวม 5.2 ล้านบาท โดยวัคซีนป้องกันโรคไทฟอย์จะส่งไปพร้อมกับหน่วยแพทย์ในวันเสาร์ที่ 17 พ.ค.นี้ ส่วนวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค จะส่งตามไปในอีก 2 สัปดาห์ เนื่องจากต้องนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งยาและวัคซีนนี้ ยังมีความต้องการอีกเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ต้องการบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์นเรนทร โทร.0-2590-2803 ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ทั้งนี้จะมีการการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้กับแพทย์ที่จะเดินทางได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น โรคอหิวาหต์ ไวรัสตับอักเสบเอ และโรคไข้สมองอักเสบ ขณะที่การเดินทางจะยังไม่ทราบเป้าหมายว่า จะให้คณะแพทย์ทำงานในจุดใด ซึ่งจะต้องหารืออีกครั้งหนึ่ง ในวันที่16 พฤษภาคม 2551 ตน พร้อมด้วย นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร และนพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา จะเดินทางไปประสานกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุขพม่า ประชุมร่วมกันเพื่อวางแผนการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์ก่อน ซึ่งทางการพม่าจะอำนวยความสะดวกในเรื่องของยานพาหนะเท่านั้น โดยจะมีรถบัสสำหรับแพทย์และพยาบาล และรถสำหรับบรรทุกสัมภาระ ยา และเวชภัณฑ์รักษาควบคุมโรค

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการได้ร่วมเดินทางไปกับทีมนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดยรับฟังบรรยายสถานการณ์ในประเทศพม่า จากนายพลเต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า พบว่า ปัญหาหลักๆ ที่พม่าต้องการความช่วยเหลือ คือ การดูแลระบบการสุขาภิบาลอาหารและส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญคือ อหิวาตกโรค และไทฟอยด์ ส่วนเรื่องการรักษา ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบาดเจ็บซึ่งมีเด็กด้วย จึงต้องเตรียมกุมารแพทย์ไป รวมทั้งเตรียมโทรศัพท์ระบบดาวเทียม เนื่องจากพม่ายังมีปัญหาเรื่องระบบการสื่อสาร





กำลังโหลดความคิดเห็น