xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 9 จว.ติดพม่าโรคระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - อธิบดีกรมควบคุมโรค ประกาศเฝ้าระวัง 9 จังหวัดติดชายแดนพม่าหวั่นโรคระบาด ชี้ 1 สัปดาห์หลังอุทกภัยโรคระบาดจะตามมาแน่ กทม.บริจาคเงิน 2 ล้านช่วยพม่า-จีน "หมัก" ฉุนสื่อนอก "สมควรประท้วง" แจ้นแจง" หม่องรับของช่วยจาก 27 ประเทศแล้ว

นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจากสถานการณ์ในประเทศพม่าหลังจากถูกพายุนาร์กีสถล่มจนได้รับความเสียหายแล้ว สถานการณ์แนวชายแดนไทย – พม่า ได้สั่งให้เฝ้าระวังโรคระบาด แถบจังหวัดชายแดนทั้ง 9 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง เพราะมีการอพยพ และข้ามไปมาของชาวพม่า จึงต้องมีการเฝ้าระวังตามด่านควบคุมโรคต่างๆ และได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้าน ชุมชน ที่มีชาวพม่าเข้ามาอาศัย แม้ว่าขณะนี้ ยังไม่มีรายการการเกิดโรค และผู้อพยพเข้ามา ยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่จำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ โรคระบาด มักจะเกิดขึ้นหลังอุทกภัยใหญ่ ประมาณ 1 สัปดาห์ จึงต้องทำงานอย่างหนัก

“ได้แบ่งกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังคือ โรคที่เฝ้าระวังเป็นประจำอยู่แล้ว ได้แก่ โรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย เท้าช้าง อหิวา และกลุ่มโรคพิเศษที่ต้องเฝ้าระวัง จากเหตุการณ์พายุไซโคลนนาร์กีส มี 4 กลุ่มโรค คือ กลุ่มแรกเป็นโรคทางเดินอาหาร ที่เกิดจากน้ำดื่ม เช่น อุจาระร่วง อาหารเป็นพิษ บิด ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค ไวรัสตับอักเสบชนิด เอ กลุ่มที่ 2 โรคติดต่อนำโดยแมลง คือ มาลาเรีย ไข้เลือดออก เท้าช้าง กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม กลุ่มที่ 4 โรคที่เกิดจากแผลอักเสบ ติดเชื้อ ที่สามารถติดต่อได้” นพ.ธวัช กล่าว

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาด ในประเทศพม่า ถือว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งโรคระบาดในระยะแรก ความน่าเป็นห่วงจะอยู่ในเรื่องของ โรคติดต่อที่มาจากน้ำ เช่น โรคบิด โรคท้องร่วงเฉียบพลันรุนแรง เนื่องมาจากขาดแคลนน้ำสะอาด แต่หลังจากนั้น จะเกิดการระบาดโรคติดต่อที่มาจากสัตว์ สู่คน และโรคที่มาจาก ค้างคาว ซึ่งจะนำโรค นิปาห์ไวรัส และ ลิซสา ไวรัส ที่เชื้อจะอยู่ในเลือดและน้ำลาย ทำให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ นอกจากนี้ ยังมีเชื้อแอนแทรกซ์ ติดจากโค กระบือ สัตว์มีกีบ ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีใครมีข้อมูลเกี่ยวกับโรคติดต่อ ซึ่งเกิดขึ้นในประเทศพม่า

นายไชยา สะสมทรัพย์ รมว.สธ. กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 พฤษภาคมนี้ สธ. จะเสนอขออนุมัติงบประมาณ 128 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ที่ปฏิบัติงานในพม่า รวมทั้งจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือและเวชภัณฑ์ต่างๆ

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากการได้ร่วมเดินทางไปกับทีมนายกรัฐมนตรีไทยเมื่อวันที่ 14 พ.ค. โดยรับฟังบรรยายสถานการณ์ในประเทศพม่า จากนายพล เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า พบว่า ปัญหาหลักๆ ที่พม่าต้องการความช่วยเหลือ คือ การดูแลระบบการสุขาภิบาลอาหารและส้วมให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อป้องกันการเกิดโรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญคือ อหิวาตกโรคและไทฟอยด์ ส่วน เรื่องการรักษา ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องการบาดเจ็บซึ่งมีเด็กด้วย จึงต้องเตรียมกุมารแพทย์ไป รวมทั้งเตรียมโทรศัพท์ระบบดาวเทียม เนื่องจากพม่ายังมีปัญหาเรื่องระบบการสื่อสาร

กทม.บริจาคเงิน 2 ล้านช่วยพม่า-จีน

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กทม.ได้จัดงบประมาณของ กทม.จำนวน 2 ล้านบาท โดยช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนนาร์กีสที่สหภาพพม่า จำนวน 1 ล้านบาท และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในสาธารณรัฐประชาชนจีน จำนวน 1 ล้านบาท พร้อมทั้งเชิญชวนข้าราชการและลูกจ้างในสังกัด กทม.กว่า 1,000,000 คน ร่วมบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจากเหตุภัยพิบัติครั้งนี้ได้สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนขาดแคลนเครื่องอุปโภค บริโภค และที่อยู่อาศัย โดยจะรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ กทม.จะมอบเงินช่วยเหลือสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ส่วนของสหภาพพม่า กทม.จะนำเงิน 1 ล้านบาท พร้อมเงินบริจาคนำส่ง นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย เพื่อจะได้ประสานความร่วมมือไปยังสหภาพพม่าต่อไป

”อภิรักษ์” ลุยตรวจตึกสูง กทม.

นายอภิรักษ์ กล่าวต่อว่า กทม.โดย สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(สปภ.) จะเรียกประชุมผู้ประกอบการอาคารสูง เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งอาจเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายในพื้นที่ กทม.โดยเป็นการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการอาคารสูงและอาคารที่เข้าข่ายซึ่งใน กทม.ที่มีกว่า 3,000 ราย โดยจะเชิญวิทยากรจากสำนักการโยธา (สนย.) มาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายควบคุมอาคารในกทม.และกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่ใช้ควบคุมอาคารซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนธันวาคม 2550 รวมทั้งจะเชิญวิทยากรจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการป้องกันภัยแผ่นดินไหว มาให้ความรู้ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับรับมือแผ่นดินไหว และโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนและผู้ใช้อาคารเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูงมีการเตรียมตัวและไม่ตื่นตระหนกกับภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยคาดว่าจะประชุมได้ในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ในวันนี้ (16 พ.ค.) ตนจะไปตรวจสอบระบบความปลอดภัยของอาคารสูง 2 แห่ง คือ ตึกเอ็มไพร์ เขตสาทร และตึก LPN เขตบางรักด้วย

"สมัคร" ฉุนแจงสื่อ ตปท.คลาดเคลื่อน

นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงชี้แจงกรณีที่สื่อต่างประเทศลงข่าวคลาดเคลื่อน ว่า พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่าติงตนมาว่าทำไมข่าวมันคลาดเคลื่อนแตกต่างจากที่คุยกัน เนื่องจากว่าสื่อต่างประเทศไปลงข่าวทำนองว่าการเจรจาเพื่อให้ต่างประเทศเข้าไปให้การช่วยเหลือล้มเหลว ถูกตอกหน้าหงายกลับมา กลายเป็นว่า ตนพูดจาไม่เข้าท่าเลย เพราะเขาบอกว่ามีประเทศ 27 ประเทศส่งของไปช่วยเขา แต่ตนดันไปบอกว่า 27 ประเทศขอช่วย แต่พม่าไม่ให้เข้า อย่างนี้สมควรประท้วงหรือไม่

ข้อเท็จจริงนั้น 27 ประเทศได้ส่งของเข้าไปช่วยเหลือ และทางพม่าก็ยินดีรับสิ่งของต่างๆ และยินดีให้ช่วยเหลือแต่จะไม่รับการช่วยเหลือในการส่งผู้เชี่ยวชาญคนจำนวนมากเข้าไปช่วยในการเก็บกู้ศพ เพราะเขาบอกว่าเขามีศักยภาพสามารถทำเองได้ แต่ทยอยเข้าไปดูได้ และพม่ายังรับพิจารณาเรื่องที่ตนขอให้นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนายอีริค จีจอห์น ทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเข้าไปดูสถานการณ์ด้วย ทั้งนี้ พม่ายืนยันว่ามีระบบกู้ภัย ซึ่งขณะนี้มีคนจำนวน 6 แสนคนที่เดือดร้อน แต่ก็ได้จัดให้อยู่ในแคมป์ที่จีนส่งมาให้ ส่วนเรื่องอาหารนั้นเขาได้บอกว่าอาหารค่อนประเทศไม่เสียหาย
กำลังโหลดความคิดเห็น