xs
xsm
sm
md
lg

ความรู้คู่สุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สูบบุหรี่มีผลความจำเสื่อมเร็วขึ้น
จากการวิเคราะห์ข้อมูลเก่าที่เก็บรวบรวมจากข้าราชการพลเรือนราว 5,000 คนของอังกฤษ ที่มีอายุระหว่าง 35-55 ปีเมื่อเริ่มต้นการทดลองในปี 1985 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติของฝรั่งเศสพบว่า ประการแรก การสูบบุหรี่ในช่วงวัยกลางคนเชื่อมโยงกับการสูญเสียความสามารถในการจำและการให้เหตุผล ประการที่สอง ผู้ที่เคยสูบบุหรี่เมื่อนานมาแล้วมีแนวโน้มมีปัญหาความจำ คำศัพท์ และการใช้ภาษาน้อยลง ประการที่สาม การเลิกบุหรี่ในช่วงวัยกลางคนจะมาพร้อมการปรับเปลี่ยนสู่พฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง มีกิจกรรมทางร่างกายมากขึ้น กินผักและผลไม้มากขึ้น และประการที่สี่ คือ อาจมีการประเมินข้อบ่งชี้ถึงความเกี่ยวโยงระหว่างการสูบบุหรี่กับปัญหาในกระบวนการคิด ในช่วงปลายวัยกลางคน ต่ำเกินไป เนื่องจากผู้สูบบุหรี่มากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้ไม่สูบบุหรี่ ปฏิเสธที่จะทำแบบทดสอบความจำอีกครั้ง หรือไม่สามารถทำได้ เนื่องจากบางคนเสียชีวิตระหว่างการติดตามผลนาน 17 ปี

สาวปวดไมเกรนบ่อยเสี่ยงสูงโรคหลอดเลือดสมอง
ผลศึกษาพบผู้หญิงที่ปวดไมเกรนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าปกติ 3 เท่า หรือแม้ต้องทรมานกับอาการปวดหัวข้างเดียวไม่ถึงเดือนละครั้ง แต่ความเสี่ยงหัวใจวายเพิ่มขึ้นแล้ว 1.5 เท่า นักวิจัยสหรัฐฯ ได้ทำการตรวจสอบและติดตามผลผู้หญิง 27,798 คนที่อายุ 45 ปีขึ้นไป และทำงานในแวดวงสุขอนามัย ซึ่งพบว่าโดยเฉลี่ยหลังผ่านไป 12 ปี กลุ่มตัวอย่าง 706 คนมีปัญหาการไหลเวียนของโลหิตที่ขึ้นไปหล่อเลี้ยงสมอง และ305 คนหัวใจวาย ส่วน 310 คนเผชิญภาวะสมองขาดเลือด

ดื่มน้ำมากไม่ได้ช่วยให้สุขภาพดีขึ้น
ดร.สแตนลีย์ โกลด์ฟาร์บ และดร.แดน เนกัวนู จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ ได้ตรวจสอบเอกสารทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับผลต่อสุขภาพจากการดื่มน้ำปริมาณมากในแต่ละวัน
พบว่า คนที่อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง รวมถึงนักกีฬาอาจต้องการน้ำมากกว่าคนอื่น ขณะที่คนที่ป่วยเป็นโรคบางโรคควรดื่มน้ำมากๆ แต่สำหรับคนปกติ การกระทำดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งโต้แย้งกับผู้เชี่ยวชาญบางคนที่แนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว
โกลด์ฟาร์บและเนกัวนูร่วมกันทดสอบ 4 ประเด็นสำคัญที่อ้างถึงคุณประโยชน์พิเศษของน้ำดื่ม เช่น ช่วยขับถ่ายสารพิษออกมาทางปัสสาวะ ทำให้ผิวพรรณผ่องใส กินอาหารน้อยลง และปวดหัวน้อยลง
และได้สรุปว่าข้อสรุปคำกล่าวอ้างเหล่านั้นไม่มีเหตุผลหรือหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ เป็นแค่ความเชื่อพื้นบ้านมากกว่า เพราะประเด็นเรื่องการขับสารพิษออกมาทางปัสสาวะนั้น เป็นหน้าที่ของไตในการชะล้างสารพิษอยู่แล้ว และทำอย่างมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะดื่มน้ำมากน้อยแค่ไหน ถ้าดื่มน้ำมากและปัสสาวะออกมามาก ไม่ได้หมายความว่าจะขับสารพิษออกจากร่างกายมากขึ้นกว่าปกติ
ขณะเดียวกัน ไม่มีผลการศึกษาชิ้นใด ระบุว่า การดื่มน้ำมากๆ ช่วยให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งขึ้น อีกทั้งยังไม่พบข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่า การกินน้ำช่วยบรรเทาอาการปวดศีรษะได้ ส่วนเรื่องที่ว่าดื่มน้ำช่วยประทังความหิวนั้น ก็ยังไม่มีใครเคยติดตามผลจริงๆ จังๆ ว่าเคยมีคนลดน้ำหนักระยะยาวสำเร็จด้วยการดื่มน้ำมากๆ หรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้ไม่มีคุณประโยชน์ตามที่เชื่อกัน แต่นักวิจัยคู่นี้ บอกว่า การดื่มน้ำมากๆ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน

มีสมาธิ-จำอาหารที่ผ่านลงท้อง กระตุ้นกลไกสมองลดความหิว
นักวิจัยพบวิธีควบคุมน้ำหนักด้วยตัวเองอย่างง่าย เพียงคิดว่าตัวเองผอมลง และยังพบว่าการจดจำอาหารมื้อล่าสุดจะช่วยลดความอยากกินของจุกจิก และการมีสมาธิกับอาหารตรงหน้า แทนที่จะนั่งจ้องทีวี ยังทำให้อิ่มท้องนานขึ้น คนที่ต้องการลดน้ำหนักควรสอนตัวเองให้ลดความโลภ นอกจากนั้น เทคนิคในการสะกดจิตและพฤติกรรมบำบัดก็อาจช่วยได้
ดร.ซูซาน ฮิกส์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม อังกฤษ ค้นพบหลักการเหล่านี้จากการพัฒนาชุดการทดลองเพื่อทดสอบผลลัพธ์จากการจดจำอาหารและขนมขบเคี้ยว ในการทดลองนี้ นักวิจัยได้จัดอาหารกินมื้อเที่ยงไว้ให้นักศึกษา หลังจากนั้นแบ่งนักศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้เขียนบรรยายอาหารที่เพิ่งกินไป ส่วนอีกกลุ่มให้เขียนเล่าเรื่องการเดินทางมายังมหาวิทยาลัย หลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง กลุ่มที่ได้รับโจทย์ให้เขียนบรรยายอาหาร มีความอยากอาหารลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับอีกกลุ่ม
ส่วนในการทดลองอื่นๆ นักวิจัยเปิดวิดีโอให้กลุ่มตัวอย่างบางส่วนดูระหว่างกินมื้อเที่ยง ซึ่งพบว่านักศึกษากลุ่มนี้ ซึ่งถูกหันเหความสนใจจากอาหาร มีแนวโน้มกินขนมขบเคี้ยวมากกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ดูวิดีโอ
ผลลัพธ์นี้สะท้อนว่า การมีสมาธิกับอาหาร แทนที่จะนั่งกินข้าวโดยตาจ้องอยู่ที่ทีวี อาจช่วยลดความอยากอาหารในมื้อต่อๆ ไปได้

นักวิจัยญี่ปุ่นเผยดื่มเบียร์ประจำเสี่ยงมะเร็งลำไส้
คณะนักวิจัยญี่ปุ่น ระบุ จากการรวบรวมข้อมูลของผู้ที่ดื่มเบียร์เป็นประจำทุกวัน จำนวน 200,000 คน ระหว่างปี 2531 - 2547 พบว่า ผู้ชายที่ดื่มเบียร์วันละ 1 ขวดใหญ่ หรือ 2 แก้ว เป็นประจำทุกวัน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ถึงร้อยละ 40 ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ ถึงร้อยละ 60 และหากดื่มเบียร์มากกว่าวันละ 1 ขวดใหญ่ จะเสี่ยงเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 10

แนะกินปลาแก้สารพัดโรค
ศ.พญ.ชนิกา ตู้จินดา คณะกรรมการกองทุน สสส.เปิดเผยว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์อื่น มีโปรตีนคุณภาพดีวัดได้ถึง 76% สามารถซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่สึกหรอ สร้างกล้ามเนื้อได้ มีกรดไขมันโอเมกา-3 ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน เพราะลดการเกาะตัวของเม็ดเลือด ช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ กระตุ้นการสร้างสารเคมีซีโรโทนินในสมอง มีฤทธิ์ต้านการซึมเศร้า เป็นสารอาหารสำคัญในการสร้างเซลล์ประสาทในเด็กและทารกในครรภ์
นพ.ฆนัท ครุธกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก ศูนย์หัวใจ หลอดเลือด และเมตาบอลิซึม รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โอเมกา-3 เป็นไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งพบมากในสาหร่าย และปลา ถ้าบริโภคปลาสม่ำเสมอจะได้รับโอเมกา-3 เพียงพอ สมาคมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐฯ แนะนำให้บริโภคปลาไม่น้อยกว่า 2 มื้อต่อสัปดาห์ การปรุงอาหารควรเป็นการต้มหรือการนึ่ง ไม่ควรทอดหรือผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรม เพราะโอเมกา-3 เมื่อผ่านความร้อนสูงจะสลายตัวได้

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยธาราทิพย์)
กำลังโหลดความคิดเห็น