xs
xsm
sm
md
lg

หว้า ต้นไม้แห่งปฐมฌานของเจ้าชายสิทธัตถะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หว้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Syzygium cumini(L.) Skeels อยู่ในวงศ์ Myrtaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงราว 10-30 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีเทาอ่อน เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมหนาทึบ ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรี ออกตรงข้าม ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมัน เมื่อใบอ่อนจะมีสีแดงอ่อนๆ และเมื่อแก่จะมีสีเขียวเข้ม ดอกมีสีขาวหรือเหลืองอ่อน ออกเป็นช่อตามซอกใบหรือปลายยอด ผลรูปรีแกมรูปไข่ ผลอ่อนสีเขียว และค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีชมพู แดง ม่วง จนแก่จัดจะเป็นสีดำ มีเมล็ด 1เมล็ด สรรพคุณทางพืชสมุนไพรของหว้า ได้แก่ เปลือกใช้แก้โรคบิด โรคปากเปื่อย ผลดิบแก้ท้องเสีย ผลสุกเป็นผลไม้ และน้ำจากผลหว้าก็เป็น 1 ใน 8 น้ำปานะที่พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตแก่พระภิกษุ เมล็ดลดน้ำตาลในเลือด แก้ท้องเสีย และใช้ถอนพิษ

มีเรื่องราวของต้นหว้าที่เกี่ยวพันกับพุทธประวัติ ตอนสำคัญตอนหนึ่ง ที่กล่าวไว้ในหนังสือปฐมสมโพธิ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ได้ทรงเรียบเรียงขึ้น ว่า
เจ้าชายสิทธัตถะ ขณะมีพระชมมายุ ๗ ปี ได้เสด็จฯไปพร้อมกับพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดา ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เจ้าชายประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้หว้า ซึ่งบรรดาพี่เลี้ยงบริวารได้จัดถวาย และเมื่อเห็นว่าภายใต้ร่มหว้านี้ร่มรื่นปลอดภัย บรรดาพี่เลี้ยงและบริวารก็เลี่ยงไปดูพระราชพิธีแรกนา

ขณะที่เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่เพียงลำพังภายใต้ร่มไม้หว้านั้น ทรงเกิดความวิเวกขึ้น ทรงกำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นอารมณ์ และก็ทรงบรรลุปฐมฌาน อันมีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกนั้น

แม้เวลาบ่ายคล้อยแล้ว แต่เงาไม้มิได้เคลื่อนตามกาล ยังคงอยู่ที่เดิมดุจเวลาเที่ยงวัน ผู้คนต่างเห็นเป็นอัศจรรย์ ครั้นพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบและทอดพระเนตรเห็นดังนั้น ก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย ถึงกับเกิดความเลื่อมใส ก้มลงกราบพระโอรสเพื่อบูชาคุณธรรมทางบุญฤทธิ์ปาฏิหาริย์
ต้นหว้ามีชื่อในภาษาบาลี-สันสกฤตว่า‘ชมฺพุ’ ซึ่งในคัมภีร์วิสุทธิมรรค คัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีป ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของภูเขาสิเนรุ ไว้ว่า

“อนึ่ง ในจักรวาลที่ตั้งอยู่พร้อมมูลอย่างนี้นั้น มีภูเขาสิเนรุอันเป็นภูเขาสูงที่สุด หยั่ง ( ลึก) ลงไปในมหาสมุทร 84,000 โยชน์ สูงขึ้นไป (ในฟ้า ) ก็ประมาณเท่ากันนั้น ภูเขาใหญ่ทั้งหลาย คือภูเขายุคันธร ภูเขาอิสินธร ภูเขากรวีกะ ภูเขาสุทัสสนะ ภูเขาเนมินธระ ภูเขาวินตกะ ภูเขาอัสสกัณณะ อันตระการไปด้วยรัตนะหลากๆ ราวกะภูเขาทิพย์ หยั่ง ( ลึก ) ลงไป ( ในมหาสมุทร ) และสูงขึ้นไป ( ในฟ้า ) โดยประมาณกึ่งหนึ่งแต่ประมาณแห่งภูเขาสิเนรุไปตามลำดับ ภูเขาใหญ่ทั้ง 7 นั้น ( ตั้งอยู่ ) โดยรอบภูเขาสิเนรุเป็นที่อยู่ของ จาตุ มหาราช เป็นที่ที่ เทวดาและยักษ์อาศัยอยู่

ภูเขาหิมวาสูง 500 โยชน์ ยาวและกว้าง 3,000 โยชน์ ( เท่ากัน ) ประดับไปด้วยยอดถึง 84,000 ยอด ต้นชมพู ( หว้า ) ชื่อนคะ วัดรอบลำต้นได้ 15โยชน์ ลำต้นสูง 50 โยชน์ และกิ่ง ( แต่ละกิ่ง)ก็ยาว 50 โยชน์ แผ่ออกไปวัดได้ 100 โยชน์โดยรอบ และสูงขึ้นไปก็เท่ากันนั้น ด้วยอานุภาพของต้นชมพู (นี้) ไรเล่า ทวีปนี้จึงถูกประกาศชื่อว่าชมพูทวีป
ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 19 สุตตันตปิฎกที่ 11 สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โพธิปักขิยวรรคที่ 7 รุกขสูตรที่ 1ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม พระพุทธองค์ได้ทรงสอนเหล่าภิกษุว่า

“ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ในชมพูทวีปชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นหว้าโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน”

และในคราวที่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อกำราบทิฏฐิมานะของชฎิล ที่ชื่ออุรุเวลกัสสปนั้นหนึ่งในปาฏิหาริย์ก็คือวันหนึ่งอุรุเวลกัสสปได้มาทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้ไปฉันภัตตาหารที่โรงบูชาไฟ พระพุทธองค์จึงตรัสว่าจะตามไปทีหลัง อุรุเวลกัสสปจึงได้กลับไปก่อน จากนั้นทรงเก็บผลหว้าจากต้นหว้าประจำชมพูทวีป แล้วเสด็จมาประทับนั่งในโรงบูชาเพลิงก่อนที่อุรุเวลกัสสปจะมาถึง ทำให้อุรุเวลกัสสปรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงมีฤทธิ์อานุภาพมาก

นอกจากนี้ต้นหว้ายังเกี่ยวพันกับเรื่องราวของภิกษุณีเอตทัคคะในทางตรัสรู้ฉับพลัน คือพระภัททากุณฑลเกสา ตามประวัติกล่าวว่า พระมหาสาวิการูปนี้เดิมเป็นธิดาของเศรษฐีในราชคฤห์ และเคยเป็นภรรยาโจรร้าย ซึ่งเป็นนักโทษประหาร ภายหลังโจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาทรัพย์สมบัติ แต่นางใช้ปัญญากำจัดโจรร้ายได้ และได้ไปบวชเป็นปริพาชิกาในสำนักของพวกนิครนถ์(นักบวชนอกศาสนา) นางได้เรียนวิชาโต้วาทีจนสำเร็จ ปริพาชกผู้เป็นอาจารย์จึงมอบกิ่งหว้าให้ และบอกให้นางไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติมยังที่อื่นๆ โดยหากมีใครตอบคำถามของนางได้ ก็ให้นางเป็นศิษย์ของผู้นั้น นางจึงถือกิ่งหว้าเที่ยวท้าผู้มีวาทะ โดยปักกิ่งหญ้าบนกองทราย แล้วประกาศว่า “ถ้าผู้ใดสามารถที่จะโต้วาทะกับเราได้ก็จงเหยียบกิ่งหว้านี้”จึงมีผู้คนเรียกนางว่า“ชัมพุปริพาชิกา” ในที่สุดนางก็ได้พบกับพระสารีบุตร และได้ถามปัญหาแก่กัน จนนางเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ต่อมาได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์จนบรรลุเป็นพระอรหันต์

ในพม่านั้น ต้นหว้าถือเป็นไม้มงคลในเรื่องความสำเร็จและชัยชนะ ด้วยชื่อว่าชมพูทวีป หรือดินแดนแห่งไม้หว้านั้น เป็นแผ่นดินอันเป็นแดนกำเนิดของพระพุทธศาสนาและพระบรมศาสดานั่นเอง
สำหรับในประเทศไทย ต้นหว้าเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลประจำจังหวัดเพชรบุรี

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 92 ก.ค. 51 โดยเรณุกา)





กำลังโหลดความคิดเห็น