xs
xsm
sm
md
lg

การท่องเที่ยวกับ “การทำบุญ-ทำความดี”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

“ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านในครั้งนี้ ที่ขอลี้ข่าวคราวด้านการเมืองไปสู่เรื่องราวที่อ่านแล้วน่าจะสบายใจกว่า ในกรณีของข่าวการท่องเที่ยว และไม่สำคัญเท่ากับการปิดยาว 4 วัน ในช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธ กล่าวคือ วันพรุ่งนี้เป็นวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เราจึงต้องประพฤติปฏิบัติธรรม ทำตัวให้เป็นคนดี รักชาติบ้านเมือง ลดละเว้นอบายมุข ตลอดจนเที่ยวเชิงธรรมะ น่าจะดีที่สุด เพราะรับสารภาพเลยว่า จะต่อว่าต่อขานด่าบรรดานักการเมืองขนาดไหน ก็คงไม่รู้สึกรู้สาอะไร!”

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาได้เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งทุกปี ซึ่งวันพรุ่งนี้ 17 กรกฎาคม เป็น “วันอาสาฬหบูชา” และวันถัดไปเป็น “วันเข้าพรรษา” ชาวไทยพุทธทุกคนจะเริ่มลดละเว้นอบายมุขเป็นเวลา 3 เดือน โดยมากมักจะเลิกดื่มสุรายาเมา หรือบางคนก็ใช้เวลาช่วงเทศกาลเข้าพรรษา “ถือศีลกินเจ” ไปเลย แต่ก็มีบางกลุ่มถึงขนาดนุ่งขาวห่มขาวและปฏิบัติธรรมประกอบไปด้วย ก็ขออนุโมทนาสาธุ!

ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา คือ “อาสาฬหบูชา” ประกอบด้วยคำ 2 คำ คือ “อาสาฬห” (เดือน 8 ทางจันทรคติ) กับ “บูชา” (การบูชา) เมื่อรวมกันจึงแปลว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 หรือเรียกให้เต็มว่า “อาสาฬหบูรณมีบูชา” โดยสรุป วันอาสาฬหบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญ เดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญ เดือน 8 คือ 1. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา 2. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนา 3. เป็นวันที่เกิดอริยสงฆ์ครั้งแรกคือการที่ท่านโกณฑัญญะรู้แจ้งเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จัดเป็นอริยบุคคลท่านแรกในอริยสงฆ์ 4. เป็นวันที่เกิดพระภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา 5. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงได้ปฐมสาวกคือ การที่ท่านโกณฑัญญะนั้น ได้บรรลุธรรม และบวชเป็นพระภิกษุ จึงเป็นสาวกรูปแรกของพระพุทธเจ้า

ขอย้ำอีกครั้งว่า “วันอาสาฬหบูชา” ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น 15 ค่ำ เ ดื อ น 8 เป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีปสมัยโบราณซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย พระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรม นำความร่มเย็นและความสงบสุขมาให้แก่หมู่ประชา ดังนั้น ธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตนสูตร” แปลว่า “พระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรม หรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร กล่าวคือ ดินแดนแห่งธรรม”

ในการแสดงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ “มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง” เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นกลางๆ ถูกต้องและเหมาะสมที่จะให้บรรลุถึงจุดหมายได้ มิใช่การดำเนินชีวิตที่เอียงสุด 2 อย่าง หรืออย่างหนึ่งอย่างใด คือ 1. การหมกหมุ่นในความสุขทางกาย มัวเมาในรูป รส กลิ่น เสียง รวมความเรียกว่า เป็นการหลงเพลิดเพลินหมกหมุ่นในกามสุข หรือ “กามสุขัลลิกานุโยค” 2. การสร้างความลำบากแก่ตนดำเนินชีวิตอย่างเลื่อนลอย เช่น บำเพ็ญตบะการทรมานตน คอยพึ่งอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น การดำเนินชีวิตแบบที่ก่อความทุกข์ให้ตนเหนื่อยแรงกาย แรงสมอง แรงความคิด รวมเรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค”

ดังนั้นเพื่อละเว้นห่างจากการปฏิบัติทางสุดเหล่านี้ ต้องใช้ทางสายกลาง ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา โดยมีหลักปฏิบัติเป็นองค์ประกอบ 8 ประการ เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมัคค์ หรือ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 1. สัมมาทิฐิ เห็นชอบ คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง 2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม 3. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ กล่าวคำสุจริต 4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ คือ ทำการที่สุจริต 5. สัมมาอาชีวะ อาชีพชอบ คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต 6. สัมมาวายามะ พยายามชอบ คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี 7. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด 8. สัมมาสมาธิ ตั้งจิตมั่นชอบ คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน

“อริยสัจ 4” แปลว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ ซึ่งคือ บุคคลที่ห่างไกลจากกิเลส ได้แก่ 1. ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ บุคคลต้องกำหนดรู้ให้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับรู้กล้าสู้หน้าปัญหา กล้าเผชิญความจริง ต้องเข้าใจในสภาวะโลกว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น ไม่ยึดติด 2. สมุทัย ได้แก่ เหตุเกิดแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา ตัวการสำคัญของทุกข์ คือ ตัณหาหรือเส้นเชือกแห่งความอยากซึ่งสัมพันธ์กับปัจจัยอื่น ๆ 3. นิโรธ ได้แก่ ความดับทุกข์ เริ่มด้วยชีวิตที่อิสระ อยู่อย่างรู้เท่าทันโลกและชีวิต ดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา 4. มรรค ได้แก่ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหา อันได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการดังกล่าวข้างต้น

ส่วน “วันเข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาล มีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชนไปในที่ต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่อยู่ประจำ แม้ในฤดูฝน ชาวบ้านจึงตำหนิว่าไปเหยียบข้าวกล้าและพืชอื่นๆ จนเสียหาย พระพุทธเจ้าจึงทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุอยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน

เพราะฉะนั้น ในช่วงเทศกาลหยุดยาว 4 วัน “ไหว้พระ-ทำบุญ” จึงเป็นโอกาสที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การท่องเที่ยวเชิงธรรม” ด้วยการไป “ทำบุญ-ทำกุศล-ทำทาน” และแน่นอน “ไหว้พระ” ตามจังหวัดใกล้เคียงที่ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง ในการเดินทาง หรือไม่ก็ “ไหว้พระ 9 วัด” ตามนโยบายของ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” ที่รณรงค์มาเกือบ 10 กว่าปี กับการท่องเที่ยวภายในกรุงเทพมหานคร และ/หรือจังหวัดใกล้เคียง

ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากการได้บุญแล้ว สำคัญที่สุดคือ “ครอบครัว” ที่ได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ตั้งแต่คุณปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ ลูกหลาน ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้รู้จัก “วัฒนธรรมไทย” ที่ดีงามทางด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยพุทธ ว่าไปแล้วชาวไทยศาสนาอื่น ก็สามารถทำได้ในช่วงเทศกาลหยุดยาวเช่นนี้ กับ “การท่องเที่ยว” และ “ครอบครัวร่วมกัน”

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดโครงการ “หนึ่งคืน หนึ่งราคา” หรือ “1 Night 1 Price” โดยร่วมกับภูมิภาคในภาคกลางหรือจังหวัดใกล้เคียง ได้คัดเลือกที่พัก หรือโรงแรมมากกว่า 158 แห่ง ทั้ง 25 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้มากถึงเกือบ 9,000 ห้องต่อวัน สนนราคาที่ 699-1,299 และ 1,999 บาทต่อวัน เป็นราคาพิเศษ

เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน-30 กันยายน นี้ แต่อาจจะไม่ทันถ้าเริ่มร่วมโครงการวันนี้ เพราะอาจต้องแจ้งทางโรงแรมที่ร่วมโครงการ 7 วันล่วงหน้า หมายความว่า วันหยุดสุดสัปดาห์อื่นๆ ก็ย่อมได้ ส่วน “คู่มือ” สามารถไปรับได้ที่เคาน์เตอร์ ททท. หรือที่ธนาคารกรุงเทพ และ “ดีแทค” หรือโทรฯ ไปที่ศูนย์ 1672 ได้ตลอดทั้งวัน

แต่คงไม่สำคัญเท่ากับว่า “การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม-เชิงอนุรักษ์-เชิงไหว้พระ” เช่นนี้ เราทุกคนสามารถทำได้เลยตั้งแต่วันพรุ่งนี้ “อิ่มใจ-อิ่มบุญ” แล้วยังไม่พอ ยังได้ “อิ่มอบอุ่น” กับสมาชิกในครอบครัวอีกต่างหาก!

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นิตยสาร “Travel+Leisure” ได้ทำการสำรวจออนไลน์ โดยเชื่อหรือไม่ว่า “กรุงเทพมหานคร” ของเราได้รับการโหวตเป็น “เมืองน่าท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง-ดีที่สุด” ของโลก เบียดนครฟลอเรนซ์ของอิตาลีตกขอบไปเลย

เราคนไทยหัวใจพองโต แต่ก็แปลกใจนิดๆ ว่า “กรุงเทพฯ เราเนี่ยนะ!” แต่ต้องบอกว่า กรุงเทพฯ นั้นสินค้าราคาถูก อาหารอร่อย ศิลปวัฒนธรรมสวยงาม ธรรมชาติเยี่ยม บริการสุดยอด แต่อุปนิสัยใจคอคนไทยที่นักท่องเที่ยวติดใจที่สุด

แต่ท้ายสุด ก็ต้องขอชมเชย “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย-ททท.” ที่ขยันขันแข็งอย่างมาก ในการเดินสายพร้อมรณรงค์ด้วยดีมาตลอด โดยเฉพาะท่านผู้ว่าฯ “ปุ๊” พรศิริ มโนหาญ ทำงานไม่มีวันหยุด ชาว ททท. คง “หน้าบาน-ยิ้มไม่หุบ!”

ขอให้คนไทยทุกคนมีความสุข ได้บุญเยอะ อบอุ่นช่วงเทศกาลทางศาสนาหยุดยาว 4 วันเต็มๆ พร้อมสวดมนต์ให้ชาติบ้านเมืองสงบร่มเย็น!
กำลังโหลดความคิดเห็น