xs
xsm
sm
md
lg

‘รามายณะ’ มหากาพย์ ? เรื่องเล่า ? นิยาย ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การแสดงเรื่องรามายณะ
‘ราชาโคปาลาจารี’ ผู้สำเร็จราชการคนแรกของอินเดียได้กล่าวว่า “ท่านอาจจะเดินทางท่องเที่ยวทั่วประเทศอินเดียได้ประสบพบเห็นสิ่งทั้งปวง แต่ท่านไม่สามารถเข้าใจซึ้งถึงวิถีชีวิตของอินเดียได้ หากท่านไม่ได้อ่านมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะ อย่างน้อยก็ในคำแปลที่ดีของวรรณกรรมสองเรื่องนี้ และท่านจะเข้าใจถึงวิถีชีวิตของคนอินเดีย”

‘รามายณะ’ เป็นวรรณคดีของอินเดียที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป แต่ผู้ได้รวบรวมแต่งให้เป็นระเบียบครั้งแรก คือ มหาฤๅษีวาลมีกิ เมื่อกว่า 2,400 ปีมาแล้ว โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ภาษาสันสกฤต เรียกว่า โศลก จำนวน 24,000 โศลกด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 7 ภาค (กาณฑ์ หรือ กัณฑ์) ดังนี้ พาลกาณฑ์ อโยธยากาณฑ์ อรัณยกาณฑ์ กีษกินธกาณฑ์ สุนทรกาณฑ์ ยุทธกาณฑ์ และอุตตรกาณฑ์

‘รามายณะ’ เป็นวรรณคดีที่มีการดัดแปลง เล่าใหม่ และแพร่หลายไปในหลายภูมิภาคของเอเชีย โดยมีเนื้อหาแตกต่างกันไป และอาจเรียกชื่อแตกต่างกันไปด้วย เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระรามกับฝ่ายทศกัณฐ์ (ยักษ์) โดยพระรามจะมาชิงตัว นางสีดา (มเหสีของพระราม) ซึ่งถูกทศกัณฐ์ลักพาตัวมา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อพระลักษมณ์ และ หนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายยักษ์ก็ปราชัย

เมื่อรามายณะแพร่หลายในหมู่ชาวไทย คนไทยได้นำมาแต่งใหม่ก็เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน ส่วนในหมู่ชาวลาวนั้น เรียกว่า พะลักพะลาม (พระลักษมณ์พระราม)

รามายณะในแง่วรรณกรรม
เรื่องรามายณะจากมุมมองของนักวรรณกรรมอย่าง ผศ.ดร.เสาวณิต วิงวอน แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านได้แจกแจงความหมายของชื่อ รามายณะ ที่มาจากคำว่า ราม+อายนะ แปลได้ว่า เรื่องราวของพระราม อันแตกต่างจากความหมายของนาม รามเกียรติ์ ที่แปลว่าเกียรติยศของพระราม

แรกเริ่มเดิมทีก่อนที่รามายณะจะมาเป็นมหากาพย์ ที่คนทั่วโลกรู้จักนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าสำคัญที่คน อินเดียเรียกว่า อิติหาส เป็นเรื่องราวของวีรบุรุษของ ชาวอารยัน เป็นผู้กระทำ ธรรมยุทธ์ คือการรบต่อสู้เพื่อธรรมะ ซึ่งเรื่องรามายณะนี้ยังถูกเล่าแทรกไว้ใน มหาภารตะ มหากาพย์เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของอินเดีย

จากเรื่องเล่าก็มีการนำไปขับร้องประกอบดนตรีที่คนอินเดียเรียกว่า คาถานาราสังสี อาจารย์ได้ตั้งข้อ สังเกตว่าคนอินเดียมิได้เรียกรามายณะว่าเป็นมหากาพย์อย่างที่คนไทยคุ้นเคย แต่ได้จัดให้วรรณกรรมโบราณ นี้เป็น กาวยะ ถือเป็นเรื่องเล่าวีรบุรุษผู้สูงส่งด้วยคุณธรรมและด้วยการทำหน้าที่ตนตามจุดประสงค์ของ ศาสนาฮินดู


“หากถามว่าในประวัติวรรณคดีอินเดียจะเรียกเป็นมหากาพย์หรือมหากาวยะไหม? ซึ่งคนอินเดีย เขาไม่เรียก อินเดียเขาจะมีมหากาวยะอยู่เพียง 6 เล่ม แต่ว่ามหาภารตะก็ดี รามายณะก็ดี อินเดียเรียกเป็น “กาวยะ” โดยทั่วไปเราจะคิดว่า มหาเท่ากับใหญ่กว่า แต่จริงๆ แล้วมันเป็นชนิดของคำประพันธ์ คำว่ามหากาวยะ เขาจะเน้น ชนิดของคำประพันธ์ จะเล่นกับฉันทลักษณ์ ดูความงดงาม

“แต่กาวยะนั้นถ้าเทียบมันจะเป็นเรื่องซึ่ง ตรงกับคำว่า epic แต่คนอินเดียไม่เรียกมหากาพย์ ถ้าไปคุยกับ คนอินเดียก็จะบอกว่ารามายณะมันเป็นกาวยะ เราอาจนึกว่ามันด้อยไปหรือ ไม่ใช่ เป็นเรื่องเล่าวีรบุรุษผู้สูงส่งด้วย คุณธรรม และก็ด้วยการทำตามหน้าที่ของตน ตามจุดประสงค์หรือเป้าหมายของฮินดู ซึ่งมี 4 อย่างด้วยกันมีคือ1) อัฐฐะ คือประพฤติตนเป็นประโยชน์ 2) มีธรรมะ คือการทำตามหน้าที่ของตน 3) มีกามะ คือความพอใจใน เรื่องโภคทรัพย์ และ4) ในที่สุดไปถึงโมกษะ”

ฉะนั้นเรื่องรามายณะจึงมิได้จบแบบแฮปปี้เอนดิ้งตรงที่พระรามรบชนะทศกัณฐ์และได้นางสีดาคืนมา แต่เรื่องยังมีเนื้อหาต่อไปจนจบที่โมกษะ (ความหลุดพ้น) คือพระรามกลับคืนสู่สภาวะ พระวิษณุ ถือเป็นแฮปปี้ เอนดิ้งของอินเดียที่งดงามมาก

เรื่องราวของพระรามนี้เป็นแบบอย่างอันพึงปฏิบัติของคนอินเดีย คือ เมื่อเป็นลูกก็เป็นลูกที่ดี เป็นกษัตริย์ ก็เป็นกษัตริย์ที่ดี เป็นสามีที่ดี กล่าวคือ ทรงทำหน้าที่อย่างครบถ้วน นอกจากนี้รามายณะยังถือเป็นตำนานวีรบุรุษที่ชาวอารยันต่อสู้กับชนเผ่าทราวิทหรือดราวิเดียน ที่มีเค้าเรื่องจริงในทางประวัติศาสตร์ของอินเดีย


“เรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นกาวยะเรื่องแรกของอินเดีย ก่อนมหาภารตะเป็นอธิกาวยะเรื่องแรกก็ได้รับการยกย่องอย่างนี้ ซึ่งมีมหาภารตะเป็นกาวยะเรื่องที่สอง

“ถ้าถามว่านี่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แค่ไหน ก็มีเค้าเงื่อนจริงทางประวัติศาสตร์ ดินแดน ที่อารยันยึดครองก็มีเส้นเขตแดนประมาณนี้ คือตอนเหนือของประเทศ เรามีเส้นตรงนี้เรียกว่าเป็นมัธยประเทศ เป็นที่ครอบครองของชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งตรงนี้ทำผังตามเรื่องรามายณะคือ ดินแดนตอนบนเป็นที่ที่อยู่ของพระราม จะมีอโยธยาอยู่ประมาณนี้ ต่อมาเหมือนอารยันจะแผ่ดินแดนลงมารุกรานชนพื้นเมืองดั้งเดิมโบราณนั้น”

แต่ว่าในทางประวัติศาสตร์นั้นเชื่อว่าพวกอารยันไม่เคยลงมาถึงทางอินเดียใต้ได้จริงๆ ทั้งนี้มีการพบสันดอนใต้น้ำที่เรียกว่า รามเสตุ (สะพานของพระราม) ที่เล่ากันว่านี่คือสะพาน ที่พระรามให้พลลิงสร้างขึ้นเพื่อยกพลไปสู่ลงกาของทศกัณฐ์

จากเรื่องเล่าวีรบุรุษ รามายณะได้รับการพัฒนาให้พระรามกลายเป็นอวตารภาคหนึ่งของพระนารายณ์ได้อย่างกลมกลืน ในอินเดียมีรามายณะมากมายหลายฉบับหลายภาษา แต่ที่แพร่หลายคือ รามายณะฉบับภาษาฮินดี คือ รามจริตมานัส

รามายณะฉบับของวาลมีกินั้นมีเนื้อหาแบ่งเป็น 7 บทหรือ 7 ภาค แต่เชื่อกันว่าบท 1 และ 7 เป็นเรื่องที่แต่งในภายหลังเพราะมีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับบทอื่นๆ 7 บทที่ว่านี้คือ พลกัณฑ์ อโยธยากัณฑ์ อรัญกัณฑ์ ขีดขินกัณฑ์ สุนทรกัณฑ์ ยุทธกัณฑ์ อุดรกัณฑ์


รามายณะสมบัตินานาชาติ
เรื่องราวของพระรามได้รับการเผยแพร่ไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูและวัฒนธรรมอินเดีย เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ไทย เป็นต้น

“ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย ที่พรหมมานัน เกาะชวา มีเรื่องราวเกี่ยวกับรามายณะและมหาภารตะเยอะมาก ที่พรหมมานันทุกวันนี้เขามีการแสดงรามายณะกลางแจ้งกันอยู่ มีเทศกาลช่วงหน้าแล้ง ของที่ระลึก สิ่งที่เป็นการแสดง เช่น วายังกุลิต ตัวใหญ่คือพระราม ตัวเล็กคือสีดา แม้อินโดนีเซียจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่คนอินโดมีรากฐานวัฒนธรรมฮินดู คนทุกวันนี้ก็ยังรู้จักรามะและสีตา ที่นครวัดมีภาพแกะสลักหินเยอะมาก

“ในประเทศไทยเองที่ทับหลังกับหน้าบันที่ปราสาทหินของไทยมีภาพจำหลัก ที่พนมรุ้ง ที่พิมาย ที่น่าแปลกคือเรารู้ได้ว่ามิใช่รามเกียรติ์แต่เป็นรามายณะ เพราะตอนาคบาศเป็นตอนที่นิยมกันมาก มีภาพมนุษย์ 2 คนถูกนาครัด ถ้าเป็นรามเกียรติ์จะเป็นพระลักษมณ์เพียงผู้เดียวที่ถูกนาคบาศ แต่ฉบับอินเดียพระรามต้องศรนาคบาศด้วย

“ที่วัดวิษณุในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นประติมากรรม มีเทวรูปพระวิษณุกับลักษมี ช่องทางซ้าย-ขวาก็แสดงถึงอวตารปางสำคัญ นี่ก็มีปางที่เป็นพระราม แล้วก็มีหนุมานด้วย“ อาจารย์เสาวณิต เล่าให้ฟัง

นอกจากที่ปรากฏในรูปประติมากรรม จิตรกรรม ในปัจจุบันก็มีการจัดการประชุมรามายณะ นานาชาติอยู่เป็นประจำด้วย แม้ในประเทศที่ไม่ได้รับวัฒนธรรมฮินดู เรื่องรามายณะเป็นที่จับใจคนไปทั่วโลก

“มีการประชุมรามายณะนานาชาติอยู่เป็นระยะๆ สิ่งที่เป็นเกียรติภูมิของเราก็คือการประชุมนี้ครั้งแรกจัดขึ้นที่อินเดีย คือยกเครดิตให้ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของรามายณะ ครั้งที่ 2 จัดที่ประเทศไทย เป็นดินแดนของรามายณะที่ค่อนข้างเข้มข้นหน่อย ที่อินเดียเขาจัดที่เมืองอโยธยา ของเราก็จัดที่อยุธยา

“ที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้มีทุกภูมิภาคในโลกนี้ ที่ยุโรปก็พูดเรื่องเดียวกัน คือพูดกันอย่างเข้าใจ มีความรู้สึกว่าเรื่องนี้มิใช่สมบัติของภูมิภาคเอเชีย แต่เป็นของทั้งโลก

“ตราบใดที่ภูเขาและแม่น้ำทั้งหลายยังมีอยู่บนพื้นปฐพี ตราบนั้นเรื่องของพระรามก็ยังคงอยู่ในโลกต่อไป เราจะเห็นว่าทุกวันนี้มีการนำเรื่องรามายณะทำเป็นการ์ตูน เป็นภาพยนตร์ ก็คิดว่าถ้าน้ำยังไม่ท่วมโลก มีแม่น้ำบนโลกนี้ เรื่องของพระรามก็ยังคงเล่าขานกันอยู่”

อาจารย์เสาวณิตปิดท้ายด้วยความเชื่อของชาวอินเดียที่ว่ากันว่า ถ้าท่านได้อ่านหรือฟัง รามายณะถือว่าล้างบาปได้ ตายไปก็บังเกิดในพรหมโลก แม้อ่านเพียงโศลกเดียวผู้ที่ไม่มีบุตร ก็จะได้บุตร อายุยืนเป็นต้น

เปิดโลกทัศน์สถาปัตยกรรม
จากโลกวรรณกรรม ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้พาเรามารู้จักรามายณะในโลกของศิลปะสถาปัตยกรรมและพิธีกรรมของคนอินเดีย จาก ประสบการณ์ที่อาจารย์ได้เคยศึกษาระดับปริญญาเอกที่อินเดียถึง 4 ปี ทำให้ได้มีโอกาสเดินทาง ชมศาสนสถานที่เกี่ยวกับพระรามในชมพูทวีปนี้หลายแห่ง

อาจารย์เชษฐ์เริ่มต้นด้วยการอธิบายเมืองต่างๆในอินเดียที่เชื่อกันว่ามีความสัมพันธ์กับเรื่องรามายณะ เริ่มต้นที่เมืองอโยธยา (อยู่ระหว่างเมืองลัคเนาและโคลักปูร์) ที่นี่เชื่อว่าคือเมืองอโยธยา ของพระราม ต่อมาพระรามได้เดินป่ามาอยู่ที่เมืองนาคปูร์ (Nagpur) ซึ่งพระองค์อยู่ที่นี่ถึง 10 ปี ก่อนจะทำการรบกับทศกัณฐ์ ที่นี่มีเขาลูกหนึ่งชื่อ รามเต็คซึ่งต่อมากลายเป็นเมืองหลวงของ อาณาจักรวะตาตากะ

“ที่เมืองนาคปูร์นี้คนอินเดียนิยมไปสักการะและทำพิธีสารทคือการอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย เขาเชื่อว่าพลังของพระรามอยู่ที่นี่

“ต่อมาก็มีเมืองนาสิก (Nasik) ซึ่งเชื่อว่าพระรามและพระลักษมณ์ตัดจมูกนางสำมนักขาที่นี่ถัดมามีเมืองหนึ่งชื่อเลปักษีหรือเลปักชี เป็นเมืองที่ทศกัณฐ์ขว้างแหวนไปโดนนกชฎายุตกมาตาย ท้ายสุดก็ลงมาที่รามเสตุตรงนี้ ที่เมืองราเมชวลัม (Rameswaram) เพื่อข้ามไปลังกาจะเห็นได้ว่ามี
ตำนานเล่าเรื่องไล่ลงมาจากอินเดียเหนือสู่อินเดียใต้เลย”

จากนั้นอาจารย์เชษฐ์ได้เล่าประสบการณ์ที่พบเห็นประกอบภาพถ่ายที่อาจารย์ได้บันทึกไว้ ทั้งศาสนสถานที่เกี่ยวกับพระรามและพิธีกรรมสำคัญ เช่น แม่น้ำสรายุที่เมืองอโยธยา เชื่อว่าเป็น แม่น้ำที่พระรามข้ามไปอีกฝั่งในตอนที่พระองค์เดินป่า, ภูเขารามเต็คที่เชื่อว่าเป็นที่ตั้งอาศรมของ พระราม ที่นี่มีเทวาลัยทรงศิขร 3 องค์ องค์สูงคือเทวาลัยพระราม รองลงมาคือของพระลักษมณ์และ สีดาตามลำดับ, ภาพเมืองวิชัยนคร หรือเมืองขีดขินของสุครีพ ที่นีมีถ้ำที่เล่าว่าพาลีรบกับทรพี

นอกจากนี้กษัตริย์แห่งวิชัยนครนับถือศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย คือนับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่ ที่เมืองโบราณนี้มีเทวาลัยพระรามที่เรียกว่า เทวาลัยฮะซาดระรามะ (เทวาลัยพระรามพันองค์) มีประติมากรรมเกี่ยวกับรามายณะเต็มไปหมด

“เมืองอโยธยา สภาพปัจจุบันมีแต่เทวลัยรุ่นหลังคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทั้งนั้นเลย เพราะว่าโดนทำลายหลายครั้งจากคนในอีกศาสนาหนึ่ง เคยมีการเผารถไฟทั้งขบวนที่ผู้โดยสารเป็นคนที่จะไปบูชาพระรามมาจากคุชราต คนตายเป็นร้อย ถ้ามีการปลุกประเด็นนี้ขึ้นมาเหมือนเขาพะรวิหารตอนนี้

“ปัจจุบันช่วงท้ายๆ มีการทะเลาะกันถึงขั้นคนฮินดูปีนมัสยิดไปแล้วทุบโดม ตำรวจก็เข้าไปห้ามเกิดการทะเลาะกันวุ่นวาย เพราะตอนนี้มัสยิดนั้นกลายมาเป็นโบราณสถานไปแล้ว ไม่สามารถที่จะรื้อได้แล้ว เพราะฉะนั้นเขาเลยบอกว่าใช้หลักฐานทางโบราณคดีไปจัดการแล้วกัน ลองขุดไปดูกลางมัสยิดว่ามีซากของเทวาลัยพระรามอยู่ไหม? ถ้ามีก็ให้สร้างเทวาลัยคู่กับมัสยิดนั้น ทีนี้ขุดแล้วเจอ เพราะฉะนั้นตอนนี้เขาก็พยายามประนีประนอมด้วยการสร้างเทวาลัยข้างมัสยิด แล้วก็จัดให้ประตูอยู่คนละฝั่งกัน ซึ่งประเด็นนี้เกิดขึ้นเหมือนกันที่เมืองมถุราที่กฤษณะชนัมภูมิ คือที่กำเนิดพระกฤษณะ ก็เป็นมัสยิดและเป็นเทวาลัยอยู่คู่กัน หันหน้าคนละทิศ

“รามายณะยังทำให้เกิดประเพณีต่างๆ ที่สำคัญคือ เทศกาลวิชัยทศมี เป็นเทศกาลฉลองชัย พระรามที่รบชนะทศกัณฐ์ เป็นงานฉลองใหญ่จัดในช่วงประมาณเดือนตุลาคม ฉลองยาวนาน ประมาณ 1 เดือน ในเทศกาลนี้มีการแสดงที่เรียกว่า รามลีลา คือแสดงเรื่องรามายณะ แสดงทุกวัน จนวันสุดท้ายเรื่องจะตรงกับตอนที่พระรามปราบทศกัณฐ์ได้ซึ่งตรงกับวันวิชัยทศมีพอดี

“ถัดจากนั้น 1 เดือนเชื่อว่าเป็นช่วงที่พระรามกลับถึงอโยธยา มีงานเทศกาล ดีปาวรี หรือลอยกระทงอินเดีย ในเทศกาลนี้ชาวเมืองจะจุดตะเกียงหรือประทีปประดับทั้งเมือง ต้อนรับการกลับมาของพระราม มีการให้ขนมและรูปเคารพแก่กัน เป็นต้น

อาจารย์เชษฐ์ยังบอกอีกว่า ในทางศิลปะมีรูปเคารพหรืองานจิตรกรรมมากมายที่เกี่ยวกับพระราม เช่น ประติมากรรม รูปพระภรตมีรองพระบาทของพระรามอยู่บนศีรษะ ปัจจุบันแสดงที่พิพิธภัณฑ์ใน กรุงเดลี, ประติมากรรมรูปพระราม พระลักษมณ์ สีดาในศิลปะแบบอินเดียใต้, ภาพสลักที่เทวาลัยปาปะนาฏ ที่เมืองปาตาดากัล ตามซุ้มมีภาพจากเรื่องรามายณะไล่เรียงไปจากต้นจนจบ, ที่ถ้ำเอโลร่า (Ellora) มีภาพวาดเรื่องมหาภารตะด้านหนึ่งและรามายณะอีกด้านหนึ่ง, ที่เมืองวิชัยนคร มีภาพหนุมาน ที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการนับบูชาหนุมาน เป็นต้น

รามายณะมีแง่มุมทั้งที่แตกต่างและเหมือนกับ ‘รามเกียรติ์’ ในภาคภาษาไทยที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดี ถึงแม้ว่าแก่นเรื่องรามายณะจะเป็นเรื่องรัก โลภ หลง จนสร้างความวิบัติให้ตัวเอง ญาติพี่น้อง พวกพ้องและบ้านเมือง แต่เรื่องราวแบบนี้ยังคงร่วมสมัยอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

********************

เรื่อง - นาตยา บุบผามาศ

 การแสดงรามายณะ


สถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์รามายณะ



รามายณะที่นำมามาแสดงในแบบฉบับการ์ตูน
กำลังโหลดความคิดเห็น